posttoday

กาง 'ระบบบำนาญหลังเกษียณเนเธอร์แลนด์' ดีที่สุดในโลกเป็นอย่างไร

27 ตุลาคม 2567

สำรวจนโยบาย 'ระบบบำนาญหลังเกษียณ' ของเนเธอร์แลนด์ หลังได้รับการจัดอันดับให้ดีที่สุดในโลก จากการจัดอันดับในปี 2024

รายงานจัดอันดับระบบบำนาญหลังเกษียณที่ดีที่สุดในโลก ประจำปีครั้งที่ 16  ซึ่งพิจารณาจากค่าดัชนีเงินบํานาญทั่วโลกของ Mercer CFA Institute Global Pension Index 2024 ได้จัดให้  “เนเธอร์แลนด์” ขึ้นแท่นอันดับ 1 เป็นประเทศที่ระบบเกษียณดีที่สุดในโลก  โดยคำนวณดัชนีชี้วัดระบบบำนาญจาก 3 ข้อหลัก ได้แก่

  • ความเพียงพอของบำนาญ
  • ความยั่งยืนของระบบบำนาญ
  • ความครบถ้วนของระบบบำนาญ

จากรายงานของสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ พบว่า เนเธอร์แลนด์ประเทศที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นประเทศที่มีระบบบำนาญที่ดีอันดับต้นๆ ของโลกอยู่บ่อยครั้ง ด้วยความหลากหลายของแหล่งเงินทุนหมุนเวียนและด้วยการระดมทุนบำนาญที่แตกต่างผนวกกับการคำนวณที่แม่นยำและเป็นธรรม ทำให้เนเธอร์แลนด์เป็นประเทศที่มีความพร้อมในการจัดการกับปัญหาของจำนวนประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มสูงขึ้นได้เป็นอย่างดี

 

 

โดยระบบบำนาญหลังเกษียณของ 'เนเธอร์แลนด์' มีรายละเอียดสำคัญ 3 ระบบ ได้แก่

 

บำนาญแห่งชาติ หรือ Algemene Ouderdomswet (AOW) จ่าย ให้ประชาชนอายุ 66 ปีขึ้นไป สูงถึงร้อยละ 70 ของค่าจ้างสุทธิ ซึ่งทุกคนที่อาศัยหรือทำงานในเนเธอร์แลนด์ อายุ 15-65 ปี มีสิทธิได้รับเงินบำนาญจากรัฐ โดยจะได้รับเงินบำนาญเริ่มต้นอยู่ที่ 25,000 บาทต่อเดือน แม้ไม่ใช่พลเมืองเนเธอร์แลนด์  

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีสิทธิ์รับ AOW จะต้องอาศัยอยู่ในเนเธอร์แลนด์อย่างน้อย 50 ปี ตั้งแต่อายุ 15-65 ปี โดยจำนวนเงินบำนาญจะขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่อยู่อาศัยในประเทศ

นอกจากนี้ จำนวนเงิน AOW ที่ได้รับขึ้นอยู่กับ สถานะครอบครัวของผู้รับ เช่น ผู้ที่อยู่อาศัยคนเดียวจะได้รับเงินบำนาญมากกว่าผู้ที่มีคู่สมรสหรืออยู่ร่วมกับผู้อื่น  และจำนวนเงินบำนาญจะมีการปรับทุกปีเพื่อให้สอดคล้องกับค่าครองชีพของเนเธอร์แลนด์ อีกทั้งรัฐยังมีการให้สวัสดิการเสริมให้กับผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน

โดยที่มาของเงินบำนาญของรัฐนั้น มาจากการที่ประชาชนทุกคนในเนเธอร์แลนด์ที่มีรายได้จะต้องจ่ายภาษีสมทบเข้า AOW โดยหักจากรายได้ ซึ่งครอบคลุมไปถึงทั้งพนักงานประจำ ฟรีแลนซ์ และเจ้าของธุรกิจ  สำหรับเงินสมทบที่จ่ายจะไม่เก็บแยกเป็นรายบุคคล แต่จะใช้เป็นระบบการจ่ายหมุนเวียน (Pay-As-You-Go) โดยเงินที่เก็บได้จากผู้ทำงานปัจจุบันจะนำไปใช้จ่ายเป็นบำนาญให้กับผู้สูงอายุในขณะนั้น

ข้อดีของระบบบำนาญในเนเธอร์แลนด์รูปแบบนี้ที่สำคัญคือ มีความยืดหยุ่โดยผู้รับสามารถเลือกเลื่อนเวลารับบำนาญหลังจากอายุ 66 ปีเพื่อเพิ่มจำนวนเงินบำนาญที่ได้รับในแต่ละเดือน หรือสามารถรับบำนาญก่อนกำหนดได้ แต่จะได้รับเงินน้อยลง และหากต้องการย้ายไปอาศัยในต่างประเทศ พวกเขายังสามารถรับบำนาญได้ แต่อาจมีผลกระทบต่อภาษีและสวัสดิการบางส่วน ขึ้นอยู่กับข้อตกลงระหว่างประเทศนั้น ๆ กับเนเธอร์แลนด์

 

กองทุนบำนาญสะสม เป็นโครงการเงินบำนาญแบบรวมที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมหรือบริษัทรูปแบบคล้ายระบบประกันสังคม โดยเป็นระบบที่พนักงานและนายจ้างจ่ายเงินสมทบเข้าร่วมกัน โดยปกติจะดำเนินการผ่านกองทุนบำนาญของบริษัท ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญของรายได้ในวัยเกษียณ ซึ่งนายจ้างในเนเธอร์แลนด์มีการบังคับให้จัดตั้งกองทุนบำนาญสำหรับพนักงานในหลายสาขาอาชีพ ทำให้พนักงานที่ทำงานในบริษัทส่วนใหญ่มีสิทธิ์ได้รับบำนาญในอนาคต

เงินบำนาญส่วนบุคคล ส่วนใหญ่จัดทำโดยผู้ประกอบอาชีพอิสระและพนักงานที่ไม่มีกองทุนบำนาญรวม บุคคลทั่วไปสามารถซื้อและจัดการเงินบำนาญหรือการลงทุนได้อย่างอิสระ เช่น ประกันชีวิต หุ้น อสังหาริมทรัพย์ และใช้ประโยชน์จากการลดหย่อนภาษีที่เกี่ยวข้อง

 

ทั้งนี้  ประเทศที่ได้ลำดับรองลงมา คือ “ไอซ์แลนด์” ประเมินผลได้เกรด A มีค่าดัชนี 83.4 คะแนน และ “เดนมาร์ก” ประเมินผลได้เกรด A มีค่าดัชนี 81.6 คะแนน เป็นอันดับสองและสามตามลำดับ 

สำหรับประเทศไทยถูกจัดอันดับให้เป็นประเทศที่ระบบบำนาญหลังเกษียณไม่ดี ประเมินผลได้เกรด C มีค่าดัชนีรวม 50.0 คะแนน ได้อันดับ 43 ของโลกรั้งท้ายตาราง  ผู้สูงอายุต้องเป็นผู้แบกรับภาระการเกษียณอายุเอง และส่งผลต่อคุณภาพชีวิตในบั้นปลายของผู้เกษียณอายุ