posttoday

“ประเสริฐ” เผยจับมือ “Google” ป้องกันหลอกติดตั้งมัลแวร์-แอปอันตรายได้ผล

04 ธันวาคม 2567

“ประเสริฐ” เผยความสำเร็จโครงการ “ดีอี” จับมือ “Google” ปกป้องคนไทย ฟีเจอร์ Google Play Protect ป้องกันการหลอกติดตั้งมัลแวร์ บล็อกความพยายามติดตั้งแอปฯ อันตรายไปแล้ว 4.8 ล้านครั้ง บนอุปกรณ์กว่า 1 ล้านเครื่อง

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยผลลัพธ์โครงการความร่วมมือกับ Google ในการปกป้องคนไทยจากกลโกงออนไลน์ที่หลอกให้ติดตั้งมัลแวร์ด้วยฟีเจอร์ป้องกันกลโกงใหม่ใน Google Play Protect ที่ได้นำร่องการใช้งานในประเทศไทยในช่วงเดือนเมษายนปี 2567 ที่ผ่านมาว่า ฟีเจอร์ดังกล่าวได้ช่วยบล็อกความพยายามในการติดตั้งแอปที่มีความเสี่ยงไปแล้วกว่า 4.8 ล้านครั้งบนอุปกรณ์ Android กว่า 1 ล้านเครื่อง บล็อกแอปไปกว่า 41,000 รายการ ซึ่งรวมถึงแอปปลอมที่แอบอ้างเป็นแอปรับส่งข้อความ แอปเกม และแอปอีคอมเมิร์ซยอดนิยม

 

ฟีเจอร์ความปลอดภัยใหม่ใน Google Play Protect ถูกออกแบบมาเพื่อช่วยปกป้องผู้ใช้อุปกรณ์ Android จากกลลวงต่าง ๆ ได้ดียิ่งขึ้น ด้วยการบล็อกการติดตั้งแอปที่อาจมีความเสี่ยงซึ่งโหลดมาจากแหล่งที่มาที่ไม่รู้จักบนอินเทอร์เน็ต (เช่น เว็บเบราว์เซอร์ แอปรับส่งข้อความ หรือโปรแกรมจัดการไฟล์) ที่อาจใช้สิทธิ์เข้าถึงข้อมูลละเอียดอ่อน ซึ่งมักจะถูกนำไปใช้ในกลโกงทางการเงิน

 

ขณะที่ Eugene Liderman, Director of Android Security Strategy, Google กล่าวว่า “แม้ว่าฟีเจอร์ป้องกันกลโกงใหม่ใน Google Play Protect จะให้ผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจ แต่เราก็ยังไม่สามารถนิ่งนอนใจได้ เนื่องจากมิจฉาชีพมีการพัฒนารูปแบบการหลอกลวงใหม่ๆ อยู่เสมอ ทำให้จำเป็นต้องมีการคุ้มครองผู้บริโภคในเชิงรุก ซึ่ง Google ก็มุ่งมั่นพัฒนาโซลูชันใหม่ๆ เพื่อช่วยให้ผู้ใช้ Android ทุกคนได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีและปลอดภัย นอกจากนี้ การร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ที่สำคัญ เช่น รัฐบาลไทยและนักพัฒนาแอป ยังมีส่วนสำคัญในการสร้างระบบนิเวศของโทรศัพท์มือถือที่ปลอดภัยและทำให้ผู้ใช้ตัดสินใจได้อย่างสมเหตุสมผล ซึ่งจะช่วยเสริมความปลอดภัยบนโลกออนไลน์ให้กับทุกคน”

“ประเสริฐ” เผยจับมือ “Google” ป้องกันหลอกติดตั้งมัลแวร์-แอปอันตรายได้ผล

 

ด้าน แจ็คกี้ หวาง Country Director, Google ประเทศไทย ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมืออย่างต่อเนื่องระหว่าง Google กับรัฐบาลไทยในการปกป้องคนไทยจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ โดยกล่าวว่า “ดิฉันดีใจที่ได้เห็นความคืบหน้าของความร่วมมือระหว่าง Google และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในการต่อสู้กับกลลวงบนโลกออนไลน์ ท่ามกลางการระบาดของภัยการหลอกหลวงทางโทรศัพท์ในประเทศไทย เรามุ่งมั่นที่จะพัฒนาแพลตฟอร์มให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น เพื่อช่วยให้คนไทยพร้อมรับมือกับกลโกงรูปแบบต่าง ๆ ซึ่ง Google มีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เพื่อรับมือกับภัยไซเบอร์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อคนไทยทั่วประเทศ”

 

สำหรับกลไกการทำงานของฟีเจอร์ความปลอดภัยใหม่ใน Google Play Protect นั้น หากผู้ใช้พยายามติดตั้งแอปที่อาจมีความเสี่ยงจากแหล่งที่มาที่ไม่รู้จักบนอินเทอร์เน็ต (เช่น เว็บเบราว์เซอร์ แอปรับส่งข้อความ หรือโปรแกรมจัดการไฟล์) ที่อาจใช้สิทธิ์เข้าถึงข้อมูลละเอียดอ่อน ซึ่งมักจะถูกนำไปใช้ในกลโกงทางการเงิน Google Play Protect จะบล็อกการติดตั้งโดยอัตโนมัติ โดยจะตรวจสอบสิทธิ์ของแอปแบบเรียลไทม์ โดยเฉพาะสิทธิ์ 4 รายการนี้ ซึ่งได้แก่ การรับ SMS (RECEIVE_SMS) การอ่าน SMS (READ_SMS) การฟังการแจ้งเตือน (BIND_Notifications) และการช่วยเหลือพิเศษ (Accessibility) มิจฉาชีพมักจะใช้สิทธิ์เหล่านี้เพื่อดักจับรหัสผ่านแบบใช้ครั้งเดียว (One-time Password หรือ OTP) ที่ส่งมาทาง SMS หรือการแจ้งเตือน รวมทั้งแอบส่องเนื้อหาบนหน้าจอของผู้ใช้ เมื่อผู้ใช้พยายามติดตั้งแอปที่อาจมีความเสี่ยงจากแหล่งที่มาที่ไม่รู้จักบนอินเทอร์เน็ต และมีการขอใช้สิทธิ์เหล่านี้ Google Play Protect จะบล็อกการติดตั้งโดยอัตโนมัติ พร้อมแสดงคำอธิบายให้ผู้ใช้ทราบ สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีที่ Google รักษาความปลอดภัยให้กับผู้คนในทุกวันได้ที่ https://safety.google