posttoday

แพทย์แนะ 4 วิธิบริหารต้นคอ งดการสะบัดแรง เสี่ยงถึงชีวิต

08 ธันวาคม 2567

เผยความเสื่อมของหมอนรองกระดูกคอเป็นไปตามวัย เกิดจากการก้มเงย ใช้คอบ่อย เมื่อมีภาวะเสื่อมมีอาการปวดเมื่อย ไม่แนะนำให้นวดหรือบิดคอ พร้อมแนะ 4 วิธีบริหารต้นคอแบบง่ายๆ

จากกรณีที่ ผิง ชญาดา นักร้องสาวค่าย Guitar Record เสียชีวิต เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.2567 โดยมีการโพสต์ระบุถึง อาการก่อนเสียชีวิต ว่า ถูกนำส่งรักษาตัวที่ห้องผู้ป่วยหนัก ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ เนื่องจาก ติดเชื้อในกระแสเลือด แล้วเกิดอาการช็อก ก่อนถูกส่งเข้าห้อง ICU กระทั่งตรวจพบว่าสมองบวม แล้วน้องจากไปอย่างสงบในช่วงเช้าวันนี้ (8 ธ.ค.2567) โดยก่อนหน้านั้นได้มีการโพสต์ขอความว่าเกิดจากการไปร้านนวดหลายครั้ง 

พญ.ศรัญญา ยุทธโกวิท นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ กล่าวว่า  ต้นคอเป็นศูนย์รวมของอวัยวะสำคัญ  มีเส้นเลือดใหญ่เลี้ยงสมอง ต้นคอจึงมีความสำคัญมาก แม้แต่การกายภาพบำบัดที่บริเวณต้นคอต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของแพทย์  ต้องมีการประเมินเป็นระยะ  เพราะหากมีการจับกดหรือใช้แรงมาก การนวดที่บริเวณต้นคอ หากผิดพลาดหรือแรงไป อาจส่งผลให้หลอดเลือดบริเวณต้นคอฉีกขาด กลายเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตได้  ซึ่งการพบในคนที่มีอายุน้อย 20-30 ปี ก็เกิดขึ้นมาแล้ว

กรณี ผิง ชญาดา ที่เสียชีวิตนั้น พญ.ศรัญญา กล่าวว่า จากการดูฟิล์มเอ็กซ์เรย์ของผู้เสียชีวิตที่ปรากฎจากข่าว คาดว่ามีภาวะหมอนรองกระดูกคอเสื่อมอยู่ก่อนแล้ว  เมื่อมีการนวดมาประกอบกันกับภาวะความเสื่อมของหมอนรองกระดูกคอ อาจเป็นกดทับเส้นประสาทที่มีการเชื่อมต่อ ส่งผลไปไขสันหลัง

ทั้งนี้ ความเสื่อมของหมอนรองกระดูกคอเป็นไปตามวัย เกิดจากการก้มเงย ใช้คอบ่อย เมื่อมีภาวะเสื่อมมีอาการปวดเมื่อย ไม่แนะนำให้นวดหรือบิดคอ เพราะโดยปกติคอของคนมีข้อกระดูก 7 ข้อ และมีแค่ข้อที่ 1-2 ที่สามารถหมุนได้ 150 องศา ส่วนข้ออื่นๆได้ 50-60 องศา เท่านั้น จึงไม่ควรบิด หรือ หมุนอย่างเด็ดขาด เสี่ยงได้รับผลกระทบถึงแก่ชีวิตได้

ดังนั้น หากมีอาการปวดเมื่อยคอ หรือปวดร้าวเมื่อยแขนร่วมด้วย ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อตรวจประเมิน โดยจะมีวิธีการรักษาที่ปลอดภัยภายใต้การกำกับดูแลของสถานพยาบาล  ดีกว่าไปนวดเองที่ไม่ได้รับการตรวจประเมิน เพราะบริเวณต้นคอมีหลอดเลือด ไม่ได้มีแค่กล้ามเนื้อและกระดูกเท่านั้น หากฉีกขาดจะเกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

4 ข้อแนะนำเคลื่อนไหวคออย่างไรให้ถูกต้อง

ด้านนพ.ฆนัท ครุธกูล นายกสมาคมผู้ชำนาญการเพื่อกีฬาและสุขภาพ กล่าวว่า แม้การบิดหรือสะบัดคอจะเป็นวิธีที่คนส่วนใหญ่ใช้ เพื่อลดอาการตึงกล้ามเนื้อคอ แต่พฤติกรรมนี้หากทำบ่อยหรือแรงเกินไป อาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพระยะยาว การระวังในการเคลื่อนไหวคอ จึงมีคำแนะนำ คือ

1.หลีกเลี่ยงการสะบัดคอแรงๆ

2.เลือกบริหารกล้ามเนื้อคออย่างปลอดภัย ด้วยการตั้งคอตรง ดันศีรษะต้านกับฝ่ามือในทิศทาง ซ้าย ขวา หน้า หลัง โดยจะทำวันละ 10-15 รอบ ช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อคอโดยไม่เสี่ยง

3.รักษาอาการปวดคอด้วยวิธีการที่เหมาะสม หากมีอาการปวดคอเรื้อรัง ควรปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านกายภาพบำบัดเพื่อตรวจหาสาเหตุและแก้ไขปัญหาที่ต้นตอ

4.หลีกเลี่ยงการนวดแรงบริเวณคอ เช่น การนวดที่ไม่เหมาะสมอาจไปกระทบต่อหลอดเลือดคู่หลังและทำให้การไหลเวียนของเลือดผิดปกติ