'สมศักดิ์' ถกบอร์ดลด 'กินเค็ม' จ่อดันภาษีโซเดียม
'สมศักดิ์' ถกบอร์ดลดเกลือและโซเดียมแก้ปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) หวังดันคนไทยลดกินเค็ม 30% หนุน อสม.มีเครื่องวัดความเค็มทุกจังหวัด และจ่อดันเก็บภาษีโซเดียม!
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการลดบริโภคเกลือและโซเดียมเพื่อลดโรคไม่ติดต่อระดับชาติ ครั้งที่ 1/2568 ว่า รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ซึ่งมีสาเหตุสำคัญมาจากพฤติกรรมการรับประทานที่ไม่เหมาะสม เช่น การบริโภคเกลือและโซเดียมมากเกินไป
จากการสำรวจการบริโภคเกลือแกงในประเทศไทย พ.ศ. 2552 พบว่า คนไทยได้รับโซเดียมจากการรับประทานอาหารมากถึง 4,351.69 มิลลิกรัมต่อคนต่อวัน สูงกว่าเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน ถึง 2 เท่า ขณะที่คนไทยมากกว่า 22 ล้านคน ป่วยด้วยโรคที่สัมพันธ์กับการบริโภคโซเดียม เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคไต โรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง
ทั้งนี้ ตนมีนโยบายที่จะมุ่งลดและป้องกันโรค NCDs อยู่แล้ว จึงได้มอบหมายให้กรมควบคุมโรคตั้งคณะกรรมการฯ ชุดนี้ขึ้น ซึ่งวันนี้เป็นการประชุมครั้งแรก ได้มีการรายงานความก้าวหน้ายุทธศาสตร์ลดการบริโภคเกลือและโซเดียมในประเทศไทย พ.ศ.2559-2568 และผลักดันประเด็นขับเคลื่อนเชิงนโยบายการลดบริโภคเกลือและโซเดียม เพื่อเป้าหมายให้คนไทยมีสุขภาพดี ห่างไกลโรค NCDs
ด้าน นพ.ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรมควบคุมโรคเป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำยุทธศาสตร์ลดการบริโภคเกลือและโซเดียมฯ พ.ศ. 2559-2568 เพื่อสร้างความเข้มแข็งการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการลดการบริโภคเกลือและโซเดียมในประเทศไทยให้บรรลุเป้าหมาย ซึ่งยุทธศาสตร์ลดการบริโภคเกลือและโซเดียมในประเทศไทย (SALTS) ปีงบประมาณ 2560-2567 ประกอบด้วย
- การสร้าง พัฒนา และขยายเครือข่ายความร่วมมือ (S: Stakeholder network) โดยร่วมกับภาคีเครือข่ายขยายพื้นที่มาตรการเฝ้าระวังและลดการบริโภคเกลือและโซเดียมครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศ รวมถึง กทม.
- การเพิ่มความรู้ ความตระหนักและเสริมทักษะประชาชน ชุมชน ผู้ผลิต/ผู้ประกอบการ บุคลากรวิชาชีพที่เกี่ยวข้องและผู้กำหนดนโยบาย (A: Awareness) โดยประชาสัมพันธ์นโยบายสุขภาพ เช่น นโยบายการจัดหาอาหารเพื่อการบริโภคที่ดีต่อสุขภาพ นโยบายภาษีโซเดียม และกำหนดเพดานปริมาณโซเดียม สร้างกระแสสังคมลดการบริโภคเกลือและโซเดียม ผ่านช่องทางต่างๆ ทั้งออนไลน์และออฟไลน์
- การปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดการผลิต ปรับปรุง เปลี่ยนแปลง และเกิดผลิตภัณฑ์ที่มีโซเดียมต่ำ รวมทั้งเพิ่มทางเลือกและช่องว่างทางการเข้าถึงอาหารปริมาณโซเดียมต่ำ (L: Legislation and environmental reform) โดยบังคับใช้ฉลากโภชนาการแบบ GDA กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารที่มีเกลือเป็นส่วนประกอบ การใช้สัญลักษณ์โภชนาการ “ทางเลือกสุขภาพ หรือ “Healthier Logo” และส่งเสริมการปรับสูตรผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นลดโซเดียม (OTOP)
- การพัฒนางานวิจัยและองค์ความรู้และการนำไปสู่การปฏิบัติ (T: Technology and Innovation) โดยวิจัยปรับสูตรอาหาร
- การพัฒนาระบบเฝ้าระวังติดตามและประเมินผล เน้นตลอดกระบวนการผลิตและผลลัพธ์ (S: Surveillance, monitoring and evaluation) โดยพัฒนาแอปพลิเคชัน ThAI Salt Survey และสำรวจปริมาณโซเดียมในอาหารด้วยเครื่องวัดความเค็ม (Salt Meter) ทุกจังหวัด รวมถึง กทม.