posttoday

องค์กรตปท. ชี้ 'ไทย' ล้มเหลวสิทธิมนุษยชน จี้สอบสวนกรณีอดีต สส.กัมพูชาถูกยิง

09 มกราคม 2568

องค์กรสิทธิมนุษยชน 'แอมเนสตี้' ชี้กรณีสังหารอดีต สส.กัมพูชา ในไทยเป็นการละเมิด 'สิทธิมนุษยชน' อย่างรุนแรง จี้รัฐบาลไทยเร่งสอบสวนเหตุการณ์อย่างโปร่งใส เผยนักเคลื่อนไหวกัมพูชาร้องเรียนว่าถูกปราบปรามอย่างรุนแรงในไทย จนถึงการบังคับส่งตัวกลับ

เว็บไซต์ของ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยแพร่ข่าวประเด็นการสังหารอดีต สส.กัมพูชา ที่เป็นฝ่ายค้านของรัฐบาลกัมพูชาปัจจุบัน โดยระบุว่า เคต ชูตส์ ( Kate Schuetze ) รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยชั่วคราวของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลในภูมิภาค กล่าวถึง กรณีการยิงอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายค้านชาวกัมพูชา นายลิม กิมยา ที่กรุงเทพฯ ว่า เป็นสิ่งที่น่าตกใจ  แม้ว่าสถานการณ์จะยังไม่มีอะไรชัดเจน แต่การเสียชีวิตของเขาเกิดขึ้นในขณะที่ทางการกัมพูชาต้องการปิดปากฝ่ายค้านทั้งในกัมพูชาและนอกประเทศรวมถึงในประเทศไทย  นอกจากนี้ ยังระบุให้รัฐบาลไทยเร่งดำเนินการสอบสวนเหตุการณ์การสังหารนายลิม กิมยาอย่างเป็นธรรม ไม่ลำเอียง ครอบคลุม และโปร่งใส และนำตัวผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมที่เป็นธรรม โดยไม่มีการลงโทษประหารชีวิต

“ทางการไทยควรปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ เพื่อรับรองความปลอดภัยของทุกคน รวมถึงผู้ที่ออกมาวิจารณ์รัฐบาลกัมพูชาที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทย”  ตัวแทนจากแอมเนสตี้ระบุ

 

ข้อมูลเบื้องหลังเหตุการณ์

ทางแอมเนสตี้ระบุว่า ตามรายงานของสื่อ มีมือปืนยิงนายลิม กิมยา อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายค้านชาวกัมพูชา-ฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2568 ขณะที่เขาเดินทางมาถึงกรุงเทพฯ โดยรถบัสจากเมืองเสียมราฐ ประเทศกัมพูชา พร้อมภรรยาและลุงของเขา ทางการไทยได้ออกหมายจับอดีตทหารเรือของไทยในข้อหาที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมนี้

นายลิม กิมยา ได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายค้านของพรรค Cambodia National Rescue Party (CNRP) ในปี 2556 และยังคงอยู่ในกัมพูชาหลังจากที่พรรคของเขาถูกสั่งห้ามในปี 2560  ทั้งนี้ สมาชิกของฝ่ายค้านในกัมพูชา รวมถึงผู้สนับสนุนและสมาชิกของพรรค CNRP และพรรคการเมืองฝ่ายค้านอื่นๆ  ได้เผชิญกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างรุนแรง หลายคนถึงขั้นถูกจำคุก

ทั้งนี้ ก่อนการเลือกตั้งกัมพูชาปี 2566 ผู้ต่อต้านรัฐบาลถูกคุกคาม ข่มขู่ โจมตี และถูกจำคุกในคดีความจำนวนมาก นักเคลื่อนไหวถูกโจมตีตามท้องถนนด้วยกระบองโลหะหลายครั้ง โดยมีนักเคลื่อนไหวทางการเมืองรายหนึ่งถูกแทงเสียชีวิตในปี 2564 ซึ่งหลายคนเชื่อว่าเป็นการโจมตีที่มีเป้าหมายชัดเจน

 

พบรายงานถูกปราบปรามด้วยความรุนแรงในไทยเช่นกัน

ในเว็บไซต์ของแอมเนสตี้ ยังระบุอีกว่า นักเคลื่อนไหวชาวกัมพูชาที่อยู่นอกประเทศ ได้รายงานว่าพวกเขาถูกปราบปรามอย่างรุนแรงในไทย  ถูกข่มขู่ คุกคาม เฝ้าระวัง และถูกบังคับส่งตัวกลับกัมพูชาโดยรัฐบาลไทย ล่าสุดผู้ลี้ภัย 6 คนและเด็ก 1 คนซึ่งมีอายุเพียง  5 ปี ถูกบังคับส่งกลับจากไทยไปยังกัมพูชาเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2567

ทั้งนี้ ผู้นำฝ่ายค้าน นักเคลื่อนไหว และนักสิทธิมนุษยชน ในประเทศไทย เวียดนาม กัมพูชา และลาว ซึ่งขอลี้ภัยไปยังประเทศต่างๆ ถูกลักพาตัว บังคับสูญหาย ถูกฆ่า และถูกบังคับส่งกลับไปยังประเทศที่พวกเขาเผชิญกับการประหารและการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรงอื่นๆ  แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลและองค์กรภาคประชาสังคมอื่น ๆ จึงได้เรียกร้องให้รัฐบาลในภูมิภาคและสมาชิกคนอื่นๆ ของประชาคมระหว่างประเทศยับยั้งกระแสการปราบปรามข้ามพรมแดนที่เพิ่มขึ้น  โดยแอมเนสตี้ยังระบุอีกว่า ทางการไทยและกัมพูชา ล้มเหลวต่อการปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศหลายครั้ง ที่จะดำเนินการสอบสวนให้รวดเร็ว ครอบคลุม เป็นธรรม  เป็นอิสระ และจับบุคคลที่ต้องรับผิดชอบต่ออาชญากรรมและการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรงมาลงโทษ.