สธ. เตือน! 14 จังหวัด ฝุ่นPM2.5 กระทบสุขภาพ ชี้แนวโน้มเกินมาตรฐานถึง 15 ม.ค.
กระทรวงสาธารณสุข เตือนค่าฝุ่นPM2.5 เกินมาตรฐาน 14 จังหวัด ชี้มลพิษทางอากาศเป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิตมากที่สุดเป็นอันดับ 5 ของโลก พร้อมวาง 4 มาตรการรับมือ คาดแนวโน้มฝุ่นเกินมาตรฐานถึงวันที่ 15 ม.ค.
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2567 - 9 มกราคม 2568 ในภาพรวมพบจังหวัดที่มีค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน 37.5 มคก./ลบ.ม. หรือระดับสีส้ม จำนวน 53 จังหวัด และมีถึง 14 จังหวัด ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยวันนี้ พบเกินมาตรฐานระดับมีผลกระทบต่อสุขภาพหรือสีแดง (75 มคก./ลบ.ม.ขึ้นไป) จำนวน 11 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ เพชรบุรี สมุทรสาคร สระบุรี นครปฐม พิษณุโลก นนทบุรี สมุทรปราการ ระยอง สมุทรสงคราม และราชบุรี ทั้งนี้ ค่าฝุ่นมีแนวโน้มจะเกินมาตรฐานไปจนถึงวันที่ 15 มกราคม 2568 เนื่องจากการระบายอากาศต่ำ ทำให้มีสภาพอากาศปิด รวมทั้งพบจุดความร้อนทั้งในประเทศและต่างประเทศสูงขึ้น ฝุ่นละอองจึงมีแนวโน้มสะสมมากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ กทม. ปริมณฑล ภาคกลาง และภาคเหนือ
นายสมศักดิ์กล่าวต่อว่า มลพิษอากาศเป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิตมากที่สุดเป็นอันดับ 5 ของโลก เป็น 1 ใน 5 ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) และเป็นปัจจัยเสี่ยงก่อโรคมะเร็ง ทั้งยังทำให้อายุขัยเฉลี่ยของคนไทยลดลง 1.78 ปี กระทรวงสาธารณสุขจึงมีการเฝ้าระวังแจ้งเตือนประชาชนเมื่อค่าฝุ่นสูงและเตรียมความพร้อมดูแลสุขภาพ โดยมีประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ได้รับผลกระทบ 38 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้ป่วยโรคหอบหืด ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง และเด็กเล็ก รวม 15 ล้านคน
วาง 4 มาตรการรับมือด้านการแพทย์และการสาธารณสุข
กระทรวงสาธารณสุขยังได้วาง 4 มาตรการการแพทย์และสาธารณสุขตามระดับความรุนแรงของค่าฝุ่น PM 2.5 เฉลี่ยในรอบ 24 ชั่วโมง ได้แก่
-
การสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ โดยติดตามสถานการณ์และประชาสัมพันธ์เชิงรุก เน้นการสื่อสารและแจ้งเตือนผ่านระบบดิจิทัล เช่น Platform หมอพร้อม, SMART อสม. ครอบคลุมทั้งประชาชนในพื้นที่และนักท่องเที่ยว
-
การลดและป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง โดยเฝ้าระวังและติดตามผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนจาก PM 2.5 จัดทำห้องปลอดฝุ่นในสถานบริการและพื้นที่เสี่ยง และสนับสนุน "มุ้งสู้ฝุ่น" รวมถึงพิจารณา Work From Home สำหรับกลุ่มเปราะบางเมื่อค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน
-
การจัดบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข โดยขยายเครือข่ายบริการดูแลสุขภาพให้ครอบคลุม ทั้งคลินิกมลพิษทางอากาศ คลินิกเวชกรรมสิ่งแวดล้อม ให้คำปรึกษาคลินิกมลพิษออนไลน์ จัดระบบนัดหมายคลินิกมลพิษผ่านระบบหมอพร้อม และจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่/ทีมปฏิบัติการดูแลสุขภาพกลุ่มเปราะบาง เช่น ชุมชน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สถานดูแลผู้สูงอายุ โรงเรียนประจำ เป็นต้น
-
เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ หากสถานการณ์รุนแรง ให้เปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินในทุกระดับ และส่งเสริมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ใช้ พ.ร.บ.การสาธารณสุขฯ ในการควบคุมฝุ่นละออง
ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้ใน 56 จังหวัดที่เป็นพื้นที่เสี่ยงมีห้องปลอดฝุ่นแล้ว 4,700 ห้อง แบ่งเป็นสถานบริการของกระทรวงสาธารณสุข 3,009 ห้อง ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก/โรงเรียน 858 ห้อง อาคารสำนักงาน 457 ห้อง และร้านอาหาร ร้านกาแฟ ฯลฯ 376 ห้อง ส่วนมุ้งสู้ฝุ่นที่ช่วยลดปริมาณฝุ่นภายในบ้านมีการกระจายใน 34 จังหวัด รวม 1,338 ชุด โดยจะมีการสนับสนุนหน้ากากอนามัยและมุ้งสู้ฝุ่นที่จุดเสี่ยงและหน่วยบริการสาธารณสุขเพิ่มเติม สำหรับการเฝ้าระวังโรคจากการรับสัมผัสฝุ่น PM 2.5 จะดำเนินการผ่านระบบคลังข้อมูลสุขภาพ Health Data Center (HDC) กระทรวงสาธารณสุข โดยเฝ้าระวังใน 4 กลุ่มโรค ได้แก่ กลุ่มโรคทางเดินหายใจ เช่น โรคหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง, กลุ่มโรคหัวใจหลอดเลือด, กลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ เช่น โรคผื่นผิวหนังอักเสบ โรคผื่นลมพิษ และกลุ่มโรคตาอักเสบ
นอกจากนี้ จะคัดกรองสุขภาพเชิงรุกและรวบรวมข้อมูลผู้รับบริการในร้านขายยาเมื่อค่าฝุ่น PM 2.5 มากกว่า 75 มคก./ลบ.ม. และคัดกรองเชิงรับในหน่วยบริการเมื่อค่าฝุ่นมากกว่า 37.5 มคก./ลบ.ม. ด้วย