posttoday

สปสช. รับลูกเดินหน้าให้ 'สิทธิบัตรทอง' แก่กลุ่มชาติพันธุ์ 4.8 แสนราย

10 มกราคม 2568

สปสช. รับลูกเตรียมให้ 'สิทธิบัตรทอง' แก่กลุ่มชาติพันธุ์ 19 กลุ่มที่ได้รับการพิจารณาได้สัญชาติตามมติครม.วันที่ 29 ต.ค. 67 จำนวน 4.8 แสนราย ย้ำไม่ใช่กลุ่มแรงงานข้ามชาติ แต่เป็นกลุ่มอพยพที่อยู่ในราชอาณาจักรไทยมานานก่อนปี 2542 จนกลมกลืนกับคนไทย

รศ.ภญ.ดร.ยุพดี ศิริสินสุข รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า บทบาทสำคัญของ สปสช. นอกจากบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) แล้ว ยังมีหน้าที่ในการคุ้มครองคนไทยทุกคนให้เข้าถึงสิทธิบัตรทอง ไม่เพียงแต่ประชาชนที่มีบัตรประชาชนเท่านั้น แต่รวมถึงคุ้มครองคนไทยที่รอการพิสูจน์สถานะให้เข้าถึงสิทธิบัตรทอง โดยการร่วมขับเคลื่อนร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ได้การรับรองสัญชาติไทย

ทั้งนี้ เมื่อช่วงเดือนที่ผ่านมา(ธ.ค. 67) สปสช. ได้จัดประชุมเรื่องเกณฑ์การพิจารณาได้สัญชาติไทยตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 29 ต.ค.2567 เพื่อสร้างความเข้าใจในหลักเกณฑ์เร่งรัดการแก้ไขปัญหาสัญชาติและสถานะบุคคลให้แก่บุคคลที่อพยพเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นเวลานาน และกลุ่มบุตรที่เกิดในราชอาณาจักร โดยย้ำว่าเป็นการให้สิทธิเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ 19 กลุ่มที่อพยพมาอยู่ในไทยเป็นเวลานานจนกลมกลืนและลูกหลานของคนกลุ่มนี้เท่านั้น มีจำนวน 4.8 แสนราย ไม่ครอบคลุมผู้ที่เป็นแรงงานข้ามชาติ อย่างไรก็ดีด้วยขั้นตอนการพิสูจน์สถานะที่เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงานจนทำให้เกิดความล่าช้า ซึ่งแต่ละปีสามารถพิสูจน์สิทธิการเป็นสัญชาติไทยได้เพียงปีละ 10,000 คนเท่านั้น

ดังนั้น จึงมีแนวทางปรับกระบวนการที่ให้ผู้ยื่นคำร้องสามารถรับรองตนเองว่าเข้าเงื่อนไขตามที่กำหนดได้ โดยนายทะเบียนจะเป็นผู้พิจารณาให้ใบสำคัญยืนยันถิ่นที่อยู่หรือสัญชาติไทย นอกจากลดเวลาสามารถดำเนินการได้ภายใน 5 วันแล้ว ยังมีความสะดวกเพราะทุกขั้นตอนทำได้ ณ ที่ว่าการอำเภอ อย่างไรก็ดีหลังจากออกใบรับรองสัญชาติไทยแล้ว นายทะเบียนจะทำการตรวจสอบประวัติย้อนหลัง หากพบว่ามีการรับรองตัวเองเป็นเท็จก็จะถูกเพิกถอนสัญชาติไทย กลับไปเป็นบุคคลไร้สถานะเหมือนเดิม นอกจากนี้ในพื้นที่มีผู้รอพิสูจน์สถานะจำนวนมาก ยังมีแนวทางการจัด Mobile Unit เข้าไปดำเนินการโดยอาศัยอำนาจของอธิบดีกรมการปกครอง

ในส่วนของ สปสช. จากที่ได้ร่วมขับเคลื่อน ในกรณีผู้ที่ได้รับสัญชาติไทยเรียบร้อยแล้วก็จะได้รับสิทธิต่างๆ ความเป็นคนไทย รวมถึงสิทธิบัตรทองด้วยที่เป็นของคนไทยทุกคน โดยทาง สปสช. จะทำการขึ้นทะเบียนสิทธิที่หน่วยบริการ ทำให้บุคคลดังกล่าวสามารถเข้ารับบริการโดยใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติตามสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่มีในระบบ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งที่ผ่านมามีกลุ่มคนไทยที่รอพิสูจน์สถานะที่มีภาวะเจ็บป่วยไม่สามารถใช้สิทธิรับบริการได้ ทำให้เข้าไปถึงการรักษาพยาบาลและบริการสาธารณสุขที่จำเป็น ซึ่งความร่วมมือจากทุกหน่วยงานในครั้งนี้ จะทำให้เกิดความเท่าเทียมในสิทธิสุขภาพเหมือนกับประชาชนไทยด้วยกัน    

ทั้งนี้ กลุ่มเป้าหมาย 4.8 แสนคน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ 

  1. บุคคลที่อพยพเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นเวลานาน (ก่อน พ.ศ. 2542) ได้รับการสำรวจจัดทำทะเบียนประวัติไว้แล้วในอดีตถึง พ.ศ. 2542 และสำรวจเพิ่มเติม พ.ศ. 2548 - 2554 รวมทั้งกลุ่มตกสำรวจเมื่อ พ.ศ. 2554 มีเลขประจำตัว 13 หลัก ไม่ได้เกิดในไทย แต่อพยพมาอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลานาน ปัจจุบันมีจำนวน 340,101 แสนราย การดำเนินการคือได้รับสถานะคนต่างด้าวเข้าเมือง โดยชอบด้วยกฎหมาย (มีถิ่นที่อยู่ถาวร) จะมีการออกใบสำคัญถิ่นที่อยู่ถาวรและเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านให้แก่คนกลุ่มนี้ แต่จะยังไม่ได้รับสัญชาติไทย อย่างไรก็ดีหลังจากผ่านไป 5 ปีแล้ว คนกลุ่มนี้จะมีสิทธิในการขอแปลงสัญชาติเป็นสัญชาติไทยได้ต่อไป  
  2. บุตรของบุคคลที่อพยพเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นเวลานานที่เกิดในราชอาณาจักร ลูกหลานของคนกลุ่มแรกและเกิดในไทย  เช่น บุตรของชนกลุ่มน้อย/กลุ่มชาติพันธุ์ 19 กลุ่ม (ไม่รวมชาวต่างด้าวอื่นๆ) ปัจจุบันมีจำนวน 143,525 แสนราย โดยสามารถยื่นขอสัญชาติไทยและขอทำบัตรประชาชนได้ทันที