posttoday

เด็กไทยอ้วนร้อยละ 30! เร่งวางมาตรการก่อนเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDS)

11 มกราคม 2568

กรมอนามัยชี้เด็กไทยอยู่ในเกณฑ์สูงเป็นอันดับ 3 ของประเทศในอาเซียน คาดอาจถึงร้อยละ 30 ในปี 2573 เร่งวางมาตรการลดอ้วนก่อนเด็กจะกลายเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) และกระทบกับคุณภาพชีวิต

KEY

POINTS

  • กรมอนามัยชี้เด็กไทยอยู่ในเกณฑ์สูงเป็นอันดับ 3 ของประเทศในอาเซียน คาดอาจถึงร้อยละ 30 ในปี 2573
  • เร่งวางมาตรการลดอ้วนก่อนเด็กจะกลายเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ก่อนเด็กอ้วนกลายเป็นผู้ใหญ่อ้วน
  • โรคอ้วนทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนถึงแก่ชีวิต

แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่าโรค NCD ถือเป็นภัยคุกคามสุขภาพประชาชนไทย ในเด็กจะเริ่มที่โรคอ้วนและนำไปสู่โรค NCDs  โดยปัจจุบัน พบว่า ประเทศไทยมีเด็กที่เป็นโรคอ้วนสูงเป็นอันดับ 3 ของประเทศในกลุ่มอาเซียน รองจากประเทศมาเลเซีย และบรูไน

จากการคาดการณ์ของสหพันธ์โรคอ้วนโลก (World Obesity Federation) ในปี 2573 จะมีเด็กอ้วนทั่วโลกมากถึง 1 ใน 3 โดยเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี จะมีภาวะน้ำหนักเกินและอ้วนสูงถึง ร้อยละ 30 ซึ่งจากรายงานการเฝ้าระวังโรคอ้วนในเด็กของประเทศไทย พบแนวโน้มเด็กเป็นโรคอ้วนเพิ่มมากขึ้นทุกปี โดยพบว่า

  • เด็กอายุ 0 - 5 ปี อ้วนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 3.6 เป็นร้อยละ 8.84
  • เด็กวัยเรียนอายุ 6-14 ปี อ้วนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 8.9 เป็นร้อยละ 13.21
  • วัยรุ่นอายุ 15-18 ปี มีเริ่มอ้วนและอ้วนลดลงเล็กน้อยจากร้อยละ 13.84 เป็นร้อยละ 13.46 แต่ยังคงเกินเป้าหมายระดับชาติที่กำหนดไว้ คือ ไม่เกินร้อยละ 11.5

ทั้งนี้ ในปี 2567 เด็กวัยเรียนในช่วงอายุ 6-14 ปี มีภาวะเริ่มอ้วนและอ้วน 546,434 คน เด็กวัยรุ่นในช่วงอายุ 15-18 ปี มีภาวะเริ่มอ้วนและอ้วน 230,027 คน และจากการคาดการณ์เด็กที่เป็นโรคอ้วนจำนวน 1 ใน 3 

กรมอนามัยจึงเร่งวางมาตรการในการขับเคลื่อนการจัดการปัญหาโรคอ้วนในเด็กวัยเรียนและวัยรุ่น เพื่อให้เด็กไทยมีร่างกายจิตใจที่แข็งแรง เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่สุขภาพดี เพราะหากไม่เร่งดำเนินการแก้ไข จะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนไทยในอนาคต

 

เด็กไทยอ้วนร้อยละ 30! เร่งวางมาตรการก่อนเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDS)

 

โรค NCDs คืออะไร 

จากข้อมูลที่โพสต์ทูเดย์รวบรวมมาระบุว่า โรค NCDs หรือ non-communicable diseases เป็นกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง คือ ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรคและไม่สามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนได้ แต่เป็นโรคที่เกิดจากนิสัยหรือพฤติกรรมการดำเนินชีวิต ซึ่งจะมีการดำเนินโรคอย่างช้าๆ ค่อยๆ สะสมอาการอย่างต่อเนื่อง และเมื่อมีอาการของโรคแล้วมักจะเกิดการเรื้อรังของโรคด้วย จึงอาจจัดว่าโรค NCDs เป็นกลุ่มโรคเรื้อรังได้  โรค NCDs อาทิเช่น 

โรคทางระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น โรคความดันโลหิตสูง,  โรคหลอดเลือดหัวใจ, โรคหลอดเลือดสมอง ,โรคเบาหวาน , โรคมะเร็งต่างๆ , โรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ถุงลมโป่งพอง , โรคไตเรื้อรัง ,โรคอ้วนลงพุง, โรคตับแข็ง ,โรคสมองเสื่อม เป็นต้น

สาเหตุหลักสำคัญของกลุ่มโรค NCDs คือพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ ในการดำเนินชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานอาหารรสจัด เช่น หวานจัด เค็มจัด อาหารที่มีไขมันสูง อาหารปิ้งย่าง การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ การไม่ออกกำลังกาย การนอนดึก การมีความเครียดสูง การรับประทานยาโดยไม่ปรึกษาแพทย์ ทำให้คนที่มีพฤติกรรมการดำเนินชีวิตเช่นนี้ มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรค NCDs ได้มากกว่าคนอื่นๆ

 

โรคอ้วน (Obesity) เป็นหนึ่งในโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-Communicable Diseases, NCDs) คือ ภาวะที่ร่างกายมีสัดส่วนของไขมันมากเกินกว่าปกติ ทำให้ร่างกายเกิดการสะสมพลังงานที่เหลือเอาไว้ในรูปของไขมันตามอวัยวะต่างๆ ซึ่งส่งผลให้เกิดโรคเรื้อรังต่างๆ ตามมา หากเกิดการสะสมของไขมันและปล่อยทิ้งไว้เป็นระยะเวลานาน จนเกิดเป็นโรคอ้วน อาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้หลายอย่าง ซึ่งบางภาวะแทรกซ้อนอาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้  

ยกตัวอย่างเช่น โรคอ้วนมักทำให้เกิดภาวะเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดโดยตรง เนื่องจากระดับของไขมันคอเลสเตอรอลและไขมันสะสมในร่างกายสูงกว่าปกติ ส่งผลให้หลอดเลือดหนาขึ้น หลอดเลือดแดงจึงตีบแคบ ทำให้เลือดไหลเวียนได้น้อย จนเกิดหลอดเลือดอุดตันในที่สุดและอาจพัฒนากลายเป็นภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายได้

วารสาร Frontiers in Nutrition ในปี พ.ศ. 2566 คาดว่า เด็กและวัยรุ่นที่มีภาวะอ้วนมีแนวโน้มที่จะเป็นผู้ใหญ่ที่อ้วนถึง 5 เท่า เมื่อเทียบกันกับเด็กที่ไม่อ้วน โดยเด็กที่มีภาวะอ้วนตั้งแต่ในวัยเรียนนั้น 55% จะพัฒนาไปเป็นวัยรุ่นที่อ้วน และวัยรุ่นที่อ้วนมีโอกาสที่จะพัฒนาไปเป็นผู้ใหญ่ที่อ้วนถึง 80% และมีโอกาสถึง 70 % ที่จะเป็นโรคอ้วน ตั้งแต่อายุ 30 ปี เลยทีเดียว โดยจำนวนเด็กที่มีภาวะน้ำหนักเกินและอ้วนเพิ่มขึ้นอย่างมาก องค์การอนามัยโลก แสดงตัวเลขความชุกในเด็กที่มีภาวะน้ำหนักเกินและอ้วน อายุระหว่าง 5-19 ปี จากเดิมที่มีเพียง 4% ในปี พ.ศ. 2518 เป็น 18% หรือกว่า 340 ล้านคน ในปี พ.ศ. 2559