posttoday

เทคโนโลยีการแพทย์ขั้นสูง 'สำหรับเด็กแรกเกิด' ในประเทศไทยถึงไหนแล้ว?

11 มกราคม 2568

วันเด็กแห่งชาติ 2568 นี้ ทางรมว.สมศักดิ์กล่าวว่าได้มอบของขวัญให้ด้วยการนำเทคโนโลยีขั้นสูงเข้ามาดูแลรักษาผู้ป่วยเด็ก หนึ่งในนั้นคือเทคโนโลยีขั้นสูงสำหรับเด็กแรกเกิด โพสต์ทูเดย์จะพาส่องเทคโนโลยีเหล่านี้ในประเทศไทย ภายใต้สถิติทารกแรกเกิดที่เสียชีวิตเพิ่มขึ้น!

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.กระทรวงสาธารณสุขได้กล่าวเนื่องในโอกาสวันเด็กแห่งชาติ 2568 วันนี้ ที่สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินีว่า

' กระทรวงสาธารณสุข ยังขอส่งมอบของขวัญวันเด็ก ด้วยการนำเทคโนโลยีขั้นสูง เข้ามาดูแลรักษาผู้ป่วยเด็ก ที่เป็นโรคยุ่งยากซับซ้อน เช่น ศูนย์โรคหัวใจในเด็ก ดูแลผู้ป่วยลิ้นหัวใจรั่ว และเส้นเลือดหัวใจสลับขั้วแต่กำเนิด ศูนย์ศัลยกรรมผ่าตัดผ่านกล้อง ซึ่งสามารถผ่าตัดผ่านกล้องช่องอกในทารกแรกเกิด เป็นที่เดียวในประเทศ '

สำหรับสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี สังกัดกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เป็นสถาบันแรกนอกมหาวิทยาลัยแพทยศาตร์ที่ได้จัดให้มีการฝึกอบรมวิชาโรคเด็กขึ้น และได้พัฒนากลายเป็นสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติ ที่สามารถรับผู้ป่วยในปีละ 15,000 ราย ผู้ป่วยนอกปีละ 350,000 ราย งานผ่าตัด 5,000 ราย โดยให้บริการส่งเสริมสุขภาพการเจริญเติบโตและพัฒนาการ การป้องกันโรคและให้การรักษาโรคโดยแพทย์เฉพาะทางโรคเด็กทุกสาขาและเป็นสถานที่ให้การรักษาในระดับตติยภูมิที่ส่งต่อมาจากทั่วประเทศ 

 

ภายในสถาบันฯ มี 'ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์เฉพาะทางด้านศัลยกรรมทารกแรกเกิด' เป็นศูนย์กลางระดับตติยภูมิในการดูแลผู้ป่วยศัลยกรรมทารกแรกเกิดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย  ซึ่งทำให้ได้เห็นว่าประเทศไทยนั้นมีการให้บริการครอบคลุมทุกสาขาของศัลยกรรมในเด็ก อันได้แก่ ศัลยกรรมทั่วไป ศัลยกรรมทรวงอกและหลอดเลือด ศัลยกรรมประสาท ศัลยกรรมตกแต่ง และศัลยกรรมทางเดินปัสสาวะ โดยเฉลี่ยรักษาผ่าตัดทารกแรกเกิด 400-500 คนต่อปี 

ภายในศูนย์ฯ มีการใช้เทคโนโลยีการแพทย์สมัยใหม่มาช่วยในการดูแลผู้ป่วยวิกฤต (Intensive care) รวมทั้งการผ่าตัดแบบส่องกล้อง (Minimal invasive surgery)  ที่ช่วยแผลผ่าตัดมีขนาดเล็กลง ลดอาการเจ็บแผล และใช้ระยะเวลาในการพักฟื้นน้อยกว่าการผ่าตัดแบบเปิดแผล ซึ่งส่งผลให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้เร็วขึ้น  เครื่องเอกซเรย์ฟลูโอโรสโคปเคลื่อนที่แบบซีอาร์มชุดรับภาพชนิดแฟลตพาแนล ชุดกล้องส่องตรวจระบบทางเดินอาหารทางเดินน้ำดีและตับอ่อนด้วยคลื่นความถี่สูง พร้อมชุดควบคุมสัญญาณภาพ เครื่องตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงชนิดสองมิติ และเครื่องช่วยหายใจชนิดควบคุมด้วยปริมาตรและความดันสำหรับเด็กแรกเกิดจนถึงผู้ใหญ่ เครื่องช่วยหายใจชนิดความถี่สูง (High frequency oscillatory ventilation),  Nitric oxide inhalation เป็นต้น

 

ผลงานระดับประเทศ อาทิ

  1. พัฒนานวัตกรรม แท่งขยายรูทวารหนัก ในกลุ่มโรคความผิดปกติทางทวารหนัก
  2. มีรูปแบบการให้บริการต้นแบบ กลุ่มโรค Gastroschisis ตั้งแต่ Referral system ระยะก่อน Refer จนถึงการเตรียมรับผู้ป่วยใหม่ การดูแลระยะก่อนผ่าตัด ระยะผ่าตัด ระยะหลังผ่าตัด ระยะก่อนจำหน่ายโดยการเตรียมความพร้อมก่อนจำหน่าย และการติดตามเยี่ยมหลังจำหน่าย เพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี
  3. หุ่นจำลองการสวนล้างทวารเทียม 
  4. อนุสิทธิบัตร เข็มผ่าตัดส่องกล้อง โรคไส้เลื่อน และถุงอัณฑะในเด็ก

 

ทั้งนี้ การรักษาทารกแรกเกิดในภาวะวิกฤตในประเทศไทยมีความก้าวหน้าอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยมีการพัฒนาเทคโนโลยีและบริการทางการแพทย์เพื่อเพิ่มโอกาสรอดชีวิตและลดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น  ซึ่งนอกจากสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติแล้ว โรงพยาบาลอื่นๆ ก็มีการนำบริการมาใช้ อาทิ

1. เครื่องช่วยหายใจสำหรับทารกแรกเกิด (Neonatal Ventilator)

  • เครื่องช่วยหายใจที่ออกแบบมาเฉพาะสำหรับทารกแรกเกิด โดยเฉพาะทารกที่มีปัญหาการหายใจ เช่น ภาวะปอดไม่สมบูรณ์ (RDS) หรือ ภาวะหยุดหายใจ (Apnea)
  • มีการนำเทคโนโลยี High-Frequency Oscillatory Ventilation (HFOV) ซึ่งช่วยลดความเสียหายต่อปอดมาใช้ในโรงพยาบาลใหญ่หลายแห่ง

2. เครื่องรักษาด้วยความเย็น (Therapeutic Hypothermia)

  • ใช้สำหรับทารกแรกเกิดที่มีภาวะขาดออกซิเจน (Hypoxic-Ischemic Encephalopathy - HIE) ระหว่างคลอด โดยการลดอุณหภูมิร่างกายช่วยลดการทำลายเซลล์สมอง

3. การดูแลในหอผู้ป่วยวิกฤตทารกแรกเกิด (NICU)

  • โรงพยาบาลใหญ่ในประเทศไทยมี NICU ที่ทันสมัย พร้อมเทคโนโลยีครบครัน เช่น เครื่องติดตามสัญญาณชีพอัตโนมัติ (Vital Sign Monitor) ตู้อบควบคุมอุณหภูมิ (Incubator) ที่สามารถควบคุมความชื้นและอุณหภูมิให้เหมาะสมสำหรับทารกน้ำหนักตัวน้อย

4. เครื่องฟอกเลือด (Extracorporeal Membrane Oxygenation - ECMO)

  • ใช้สำหรับทารกที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวหรือระบบไหลเวียนโลหิตทำงานผิดปกติ
  • แม้ว่าจะยังไม่แพร่หลายมากนักในประเทศไทย แต่โรงพยาบาลขนาดใหญ่บางแห่งเริ่มนำมาใช้ในกรณีที่จำเป็น

 

ทารกภาวะวิกฤตหรือความผิดปกติของทารกที่ต้องได้รับการดูแลรักษา 

ทารกภาวะวิกฤตหรือความผิดปกติที่ต้องได้รับการดูแล อาทิ

  1. ทารกคลอดก่อนกำหนด อายุครรภ์น้อยกว่า 37 สัปดาห์ (หรือหลังอายุครรภ์ 42 สัปดาห์)
  2. ทารกน้ำหนักตัวน้อยกว่า 2,500 กรัม หรือมากกว่า 4,000 กรัม
  3. ทารกมีน้ำหนักผิดปกติเมื่อเทียบกับอายุครรภ์
  4. ทารกแฝด
  5. ทารกตรวจพบความผิดปกติ เช่น ขาดออกซิเจน
  6. ทารกมีท่าผิดปกติในครรภ์ เช่น ท่าก้น ท่าขวาง
  7. ทารกเกิดความผิดปกติระหว่างคลอด
  8. ทารกพิการแต่กำเนิด และทารกพิการแต่กำเนิดที่มีปัญหาซับซ้อน

ทั้งนี้ อัตราการตายของทารกแรกเกิดภายใน 28 วัน (Neonatal Mortality Rate: NMR) จากข้อมูลของกรมการแพทย์ พบว่าอัตราการตายของทารกแรกเกิดภายใน 28 วันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก 4.4 ต่อการเกิดมีชีพ 1,000 คนในปีงบประมาณ 2560 เป็น 5.0 ในปีงบประมาณ 2565