เตือน! 4 กลุ่มโรคจาก ‘อากาศหนาว’ พร้อมแนะสังเกตลักษณะอาการ
กระทรวงสาธารณสุขเตือนประชาชนระวัง 4 กลุ่มโรคและภัยสุขภาพจาก ‘อากาศหนาว’ รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตฉับพลัน ยันยังไม่มีพื้นที่ประกาศ ‘ภัยหนาว’
นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ขณะนี้หลายพื้นที่ของประเทศไทยมีอากาศหนาวเย็นลง ทำให้ประชาชนมีความเสี่ยงได้รับ 'ผลกระทบทางสุขภาพจากภัยหนาว' ซึ่งหมายถึง ภัยจากสภาพอากาศที่หนาวจัด อุณหภูมิต่ำกว่า 15 องศาเซลเซียส และลดลงอย่างต่อเนื่องจนประชาชนได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงและกว้างขวาง โดยมีพื้นที่เฝ้าระวังตามข้อมูลของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้แก่ ทุกจังหวัดของภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง รวมถึงปราจีนบุรี และสระแก้ว
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีพื้นที่ใดประกาศเป็นเขตประสบภัยหนาว แต่ได้ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ดังกล่าวเฝ้าระวังติดตามผลกระทบต่อสุขภาพ พร้อมทั้งแจ้งเตือนและสื่อสารถึงประชาชนในการดูแลป้องกันสุขภาพแล้ว โดยเฉพาะโรคและภัยสุขภาพที่เกิดจากภัยหนาว 4 กลุ่ม ดังนี้
1.โรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ โรคไข้หวัดใหญ่ ติดต่อจากการไอจามรดกัน หรือสัมผัสสิ่งของที่มีเชื้อร่วมกัน
ลักษณะอาการ : มีอาการไข้ ไอแห้งๆ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ เยื่อบุโพรงจมูกอักเสบ เจ็บคอ และโรคปอดอักเสบ เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส และเชื้อราบางชนิดที่ถุงลมปอด จากการหายใจหรือสัมผัสละอองฝอยน้ำมูกน้ำลายที่ปนเปื้อนเชื้อ จะมีอาการไข้ ไอ หายใจหอบเหนื่อย ซึ่งมักเป็นเฉียบพลัน
พบได้ทุกกลุ่มอายุ แต่อาการจะรุนแรงในผู้ที่ภูมิคุ้มกันบกพร่องและมีโรคประจำตัว
2.โรคติดต่อทางเดินอาหารและน้ำ ได้แก่ โรคอุจจาระร่วง เกิดจากการรับประทานอาหารหรือน้ำที่มีการปนเปื้อนของเชื้อโรค
ลักษณะอาการ : อาการถ่ายเหลวมากกว่า 3 ครั้งขึ้นไปใน 1 วัน อาจมีไข้หรืออาเจียนร่วมด้วย
3.โรคติดต่อที่สำคัญในช่วงฤดูหนาว ได้แก่ โรคหัด และโรคมือ เท้า ปาก โดยโรคหัดเกิดจากการหายใจเอาละอองอากาศที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสจากการไอ จามของผู้ป่วย หรือพูดคุยกันในระยะใกล้
ลักษณะอาการ : อาการจะคล้ายกับไข้หวัดธรรมดา แต่จะมีไข้สูง ตาแดงและแฉะ มีผื่นนูนแดงขึ้นติดกันเป็นปื้นๆ
ปัจจุบันไม่มียารักษาจำเพาะ แต่มีวัคซีนป้องกันโดยฉีดเข็มแรกที่อายุ 9-12 เดือน และฉีดกระตุ้นอีกครั้งเมื่ออายุ 2 ขวบครึ่ง
4.ภัยสุขภาพหรือการเสียชีวิตที่เกี่ยวเนื่องจากอากาศหนาวโดยไม่ทราบสาเหตุ ส่วนใหญ่เกิดจากภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน เนื่องจากไม่มีเครื่องนุ่งห่มหรือเครื่องห่มกันหนาวที่เพียงพอ และมีประวัติการดื่มสุราเป็นประจำ
"ในช่วงอากาศหนาว ประชาชนสามารถป้องกันตนเองได้ ด้วยการดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ปรุงสุก ดื่มน้ำสะอาด และดูแลอนามัยส่วนบุคคล หมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่หรือแอลกอฮอล์เจล ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น
หากมีอาการไอจาม มีน้ำมูก ควรสวมหน้ากากอนามัยเพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อ และควรสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยเมื่อต้องอยู่ในสถานที่แออัดหรืออากาศถ่ายเทไม่สะดวก ซึ่งจะช่วยป้องกันได้ทั้งโรคติดต่อทางเดินหายใจและโรคโควิด 19
รวมทั้งดูแลความอบอุ่นของร่างกาย เตรียมเครื่องนุ่งห่มกันหนาวให้เพียงพอกับสภาพอากาศ และงดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์" นพ.วีรวุฒิกล่าว