‘บัตรทอง’ จ่อให้ ‘ยาฮอร์โมน’ สำหรับกลุ่มคนข้ามเพศ
‘สมศักดิ์’ เผยสปสช.จัดสรรงบบัตรทอง 145.63 ล้านบาทในปี 2568 รองรับ ‘บริการด้านสุขภาพสำหรับกลุ่มคนข้ามเพศ’ ครอบคลุมสิทธิประโยชน์ใหม่ ‘ยาฮอร์โมน’
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เปิดเผยว่า ในวันนี้ 23 มกราคม 2568 กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย มีความพร้อมในการอำนวยความสะดวกจดทะเบียนสมรสเท่าเทียมพร้อมกันทั่วประเทศ ตามประกาศพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2567 หรือ กฎหมายสมรสเท่าเทียม เพื่อรับรองสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศ ที่เป็นการคุ้มครองสิทธิและการยอมรับทางสังคม
ทั้งนี้ ภายใต้ “กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” หรือ บัตรทอง 30 บาท ได้ให้ความสำคัญนอกจากการดูแลสุขภาพทางกายแล้ว ยังให้ความคุ้มครองสิทธิการดูแลสุขภาพทางใจให้กับประชาชนผู้มีสิทธิบัตรทองฯ ด้วย รวมถึงประชากรในกลุ่มบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศนี้ โดยปัจจุบันด้วยความเข้าใจและเปิดกว้างของสังคม อันส่งผลให้สภาวะเพศในวันนี้ ไม่ได้ถูกจำกัดแค่เพียงเพศชายหรือเพศหญิงเท่านั้น แต่ผู้คนต่างให้การยอมรับเพศที่แตกต่างมากขึ้น
สิทธิประโยชน์ 'ฮอร์โมน' ในบัตรทอง
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ในกลุ่มบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ มีจำนวนหนึ่งที่เป็น “กลุ่มคนข้ามเพศ” และมีความจำเป็นต้องได้รับยาฮอร์โมน เพื่อทำให้ร่างกายมีความสอดคล้องกับสภาพจิตใจที่เป็นอยู่ ที่ถือเป็นการบำบัดหรือรักษา
ดังนั้นในการพิจารณางบประมาณหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประจำปี 2568 คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เมื่อเดือนกรกฎาคม 2567 จึงได้เห็นชอบให้ สปสช. ดำเนินการจัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนบริการสิทธิประโยชน์ใหม่ คือ “บริการด้านสุขภาพสำหรับกลุ่มคนข้ามเพศ” จำนวน 145.63 ล้านบาท เพื่อดูแลกลุ่มเป้าหมายจำนวน 200,000 ราย โดยรวมถึงบริการยาฮอร์โมนบำบัดนี้ด้วย
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า สิทธิประโยชน์นี้จะเป็นการช่วยลดความเหลื่อมล้ำสุขภาพ ซึ่งเดิมทีคนที่จะรับยาฮอร์โมนนี้ จะต้องจ่ายเงินเองเท่านั้น ทำให้มีส่วนหนึ่งไม่สามารถเข้าถึงการรักษา และมีความเสี่ยงต่อสุขภาพ เพราะมีจำนวนหนึ่งที่ไปหาซื้อยาฮอร์โมนมากินเองที่อาจเป็นอันตรายได้ นอกจากนี้ยังเป็นการดูและทางด้านจิตใจ ทำให้ให้ร่างกายอยู่ในสภาวะเดียวกับจิตที่เป็นอยู่
“ขณะนี้ได้มอบ สปสช. เร่งดำเนินการสิทธิประโยชน์ยาฮอร์โมนสำหรับกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศโดยเร็วที่สุด ซึ่งในเร็วๆ นี้ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ราชวิทยาลัยแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง ภาคประชาสังคม และ สปสช. จะมีประชุมร่วมกันเพื่อวางแนวทางให้บริการอย่างครบวงจร” รมว.สาธารณสุข กล่าว
เตรียมพิจารณาสิทธิประโยชน์อื่นเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ
นายสมศักดิ์ กล่าวต่อด้วยว่า นอกจากบริการยาฮอร์โมนแล้ว ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติยังมีสิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลและบริการสาธารณสุขที่ครอบคลุมดูแลกลุ่มบุคคคลที่มีความหลากหลายทางเพศที่ไม่ต่างจากประชากรทั่วไป ซึ่งครอบคลุมทั้งบริการรักษาพยาบาล บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค และบริการฟื้นฟูสมรรถภาพ เพื่อให้เกิดการเข้าถึงบริการอย่างเท่าเทียม ซึ่งสามารถรับบริการนี้ได้
“กฎหมายสมรสเท่าเทียมวันนี้ได้มีผลบังคับใช้แล้ว นับเป็นอีกก้าวหนึ่งของสังคมไทย ที่มีความหลากหลาย ภายใต้การดูแลและให้บริการต่างๆ ของภาครัฐที่ไม่แตกต่าง ซึ่งรวมถึงหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินี้ด้วย” รมว.สาธารณสุข กล่าว