'เด็กเกิดต่ำ' ตอกฝาโลงธุรกิจโรงเรียนไทย ทำไมต้องพึ่ง 'ทุนจีน'?

'เด็กเกิดต่ำ' ตอกฝาโลงธุรกิจโรงเรียนไทย ทำไมต้องพึ่ง 'ทุนจีน'?

03 มีนาคม 2568

วิกฤตประชากรตอกฝาโลงธุรกิจโรงเรียนไทย! หาคำตอบไปกับโพสต์ทูเดย์ เพราะอะไร? ไทยต้องเปิดรับ 'ทุนจีน-นักเรียนจีน' และประเทศไทยต้องกีดกัน 'จีน' หรือไม่?

KEY

POINTS

  • จีนมีนโยบาย 'Modern China' ส่งเสริมให้คนจีน

ประโยคสรุปจบรายงานพิเศษที่จะได้อ่านต่อไปนี้ คือ

‘ธุรกิจผลิตแรงงานไทยจำเป็นต้องเปิดรับทุนจีน-นักศึกษา-แรงงานจีน’

.

ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น!

.

 

01

‘ทุนจีน’ ทางรอด ธุรกิจการศึกษาไทย

 

ปี 2566 สำนักข่าวต่างพากันรายงานการเข้าซื้อมหาวิทยาลัยเอกชนไทยของกลุ่ม ‘ทุนจีน’ ขนาดใหญ่ เป็นเวลาเดียวกับที่ ‘ทุนจีน’ ถูกจับ-เปิดโปง และโดนแฉถึงพฤติกรรมที่ทำผิดกฎหมายของ ‘จีนเทา’ จนทำให้หลายฝ่ายต่างตั้งคำถามว่า การเข้ามาของทุนจีนในระบบการศึกษาไทยนั้นควรปล่อยไปหรือไม่?

 

‘ทุนจีน’ จึงเปรียบเสมือนยาขมของคนไทยในยุคสมัยนี้ แม้ว่าไทย-จีนกำลังฉลองความสัมพันธ์ยาวนานกว่า 50 ปีร่วมกัน

 

ต่อมาเมื่อเดือนมกราคม 2568 กระทรวงอว. ได้ออกมาให้ข้อมูลยืนยันกับสำนักข่าวจากเครือเนชั่น กรุ๊ป ท่ามกลางคำถามมากมายว่า จากการตรวจสอบการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยเอกชนที่มีทุนจีนเป็นผู้ถือหุ้นนั้น ยังไม่พบการกระทำผิดกฎหมายแต่อย่างใด  ซ้ำมองว่าเป็นโอกาสและความท้าทายของมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่จะพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทยให้ไปได้ถึงการเป็น ‘Education Hub’ ในอนาคต

 

สอดคล้องกับแนวคิดของผศ.ดร.ต่อยศ ปาลเดชพงศ์ กรรมการบริหารกลุ่มโรงเรียนเด่นหล้า ที่เริ่มบทสนทนากับโพสต์ทูเดย์ว่า

 

‘หากจะเข้าใจเรื่องทุนจีนกับการศึกษาให้ดี ต้องขอเล่าย้อนไปไกลถึงปี 2013 มีเวลาฟังหรือไม่?’

 

ย้อนไปในปี 2013 ทางรัฐบาลจีนมีคอนเซปต์ทางสายใหม่ยุคปัจจุบัน ที่พยายามเชื่อมโยงเส้นทางการค้าจากเมืองจีนไปยังประเทศต่างๆ เมื่อรัฐบาลจีนส่งนักลงทุนเดินทางไปยังประเทศเหล่านั้น มีความเชื่อหนึ่งว่าเมื่อคนจีนหนึ่งคนไปด้วย ครอบครัวก็ต้องไปด้วย เนื่องจากระยะเวลาที่ต้องไปก่อสร้างสาธารณูปโภค หรือโครงสร้างขนาดใหญ่ใช้เวลานาน

จีนจึงออกยุทธศาสตร์ที่เรียกว่า ‘Modern China’  มีความหมายว่าหากคนจีนออกไปอยู่ในประเทศต่างๆ ก็ย่อมต้องคงวัฒนธรรมจีน จนกลายเป็นโจทย์สำคัญที่ทำให้คนจีนมองว่าการลงทุนในโรงเรียนของประเทศปลายทางเหล่านั้น จะสามารถดูแลเรื่องค่านิยมและวัฒนธรรมจีนนี้ไว้ได้ ทำให้ในปี 2013 เป็นต้นมา การเข้ามาซื้อกิจการโรงเรียนในไทยจาก ‘ทุนจีน’ เกิดขึ้นจำนวนมาก

 

\'เด็กเกิดต่ำ\' ตอกฝาโลงธุรกิจโรงเรียนไทย ทำไมต้องพึ่ง \'ทุนจีน\'?

 

‘ แต่ก่อนคนจีนโพ้นทะเลจะย้ายมาอยู่แบบถาวร แต่คนจีนรุ่นใหม่ที่ส่งลูกหลานมาเรียนโรงเรียนนานาชาติเพียงแค่มาทำธุรกิจและมีแผนจะกลับประเทศ มาเพื่อติดต่อและต้องการช่องทางธุรกิจ เขาก็คิดว่าทำไมต้องส่งลูกไปเรียนไกลถึงอังกฤษหรืออเมริกา เรียนไทยสะดวกกว่าและบางคนก็ให้ความสนใจกับวัฒนธรรมไทย’ ผศ.ดร.ต่อยศให้ข้อมูล

 

เมื่อหันกลับมามองสถานการณ์ธุรกิจโรงเรียนในไทย ช่วงโควิดอัตราการเกิดของเด็กไทยลดลงจนถึงตอนนี้ต่ำกว่า 5 แสนคนจากปัญหาวิกฤตประชากร สิ่งที่เกิดขึ้นคือจำนวนโรงเรียนในประเทศไทยเกินความต้องการ เพราะประเทศไทยมีโรงเรียนรัฐบาล 90% แต่มีเอกชนแค่ 10%

 

‘ในส่วนโรงเรียนของรัฐบาลเขาอยู่ได้ เพราะมีงบประมาณของรัฐเข้าไปช่วยลดภาระ ในขณะที่โรงเรียนเอกชนต้องหารายได้เองในขณะที่จำนวนเด็กก็ลดลง’

 

ผศ.ดร.ต่อยศ ในฐานะผู้ที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการโรงเรียนนานาชาติมานาน  แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมว่า ช่วงระยะเวลาดังกล่าวทำให้โรงเรียนเอกชนที่มีเจ้าของเป็นคนไทยปิดตัวไปหลายแห่ง โดยในปี 2567  ภาพรวมจำนวนโรงเรียนในประเทศไทยลดลง 0.5% จากปีก่อนหน้า โดยอยู่ที่ 33,098 แห่ง เมื่อเทียบกับในปี 2555 ที่มีจำนวนโรงเรียนรวม 35,453 แห่ง ลดลง 2,355 แห่งหรือหดตัว 6.6%

 

ในช่วงนี้เองที่มีการทาบทามโดยนักลงทุนจีนจำนวนมากเข้ามา 

 

‘เวลานักลงทุนจีนลงทุนธุรกิจการศึกษาเขามองระดับโลก มาแต่ละครั้งจะพูดเลยว่าตั้งใจมาซื้อโรงเรียนในสิงโปร์ 3 แห่ง ในไทย 2 แห่ง จะมีโควต้าอยู่’

 

การเข้ามาของทุนจีนและนักเรียนจีนจึงเป็นเรื่องที่ทำให้ธุรกิจยังคงดำเนินต่อไปได้

 

สอดคล้องกับสถิติจาก ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานว่า ปี 2568 ภาพรวมจำนวนนักเรียนในไทยลดลง 1.1% แต่นักเรียนนานาชาติกลับเพิ่ม 8.3% มีผลจากการเพิ่มขึ้นของนักเรียนต่างชาติเป็นปัจจัยสำคัญ โดยเฉพาะนักเรียนจีนที่คาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เนื่องจากมีชาวจีนในตำแหน่งสูงเข้ามาทำงานในไทยเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 20.8% ต่อปีตั้งแต่ปี 2564-2567 ซึ่งนักเรียนชาวจีนที่ติดตามผู้ปกครองมาอยู่ในไทยก็มักจะเข้าเรียนในโรงเรียนนานาชาติ

ทั้งนี้ จำนวนโรงเรียนนานาชาติในภูมิภาคนอกกรุงเทพฯ มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ 9.1% ในขณะที่กรุงเทพฯ มีอัตราเฉลี่ยหดตัว 1.7 % ต่อปี และอัตราการเติบโตของนักเรียนนานาชาติในภูมิภาคอื่น ยังสูงกว่ากรุงเทพฯ ราว 3.7% ซึ่งตลาดใหม่ๆ ได้แก่หัวเมืองหลักเช่น เชียงใหม่, ระยอง, และภูเก็ต

 

นอกจากในมุมธุรกิจที่ไปต่อได้แล้ว ในมุมผู้ปกครองและนักเรียน ผศ.ดร.ต่อยศมองว่า เมื่อโรงเรียนเกิดการแข่งขันกันด้วยทุนที่มาเพิ่ม ก็จะทำให้ระบบการเรียนพัฒนาขึ้นด้วย

 

‘ถ้าเกิดเรามองให้เป็นประโยชน์ จีนเป็นตลาดใหญ่ที่มีประชากรราว 1.4 พันล้านคน ถ้าเราทำให้คนไทยสามารถฝึกภาษาจีน และใช้ได้คล่องแคล่วก็จะเป็นการเปิดโอกาสให้นักลงทุนหรือคนไทยในอนาคตเข้าถึงตลาดใหญ่นี้ได้มากขึ้น .. ผมคิดว่าเราไม่ควรกีดกันแต่มองให้เป็นโอกาสที่จะพัฒนาน่าจะดีกว่า ถ้าหากรัฐบาลมีกฎที่ชัดเจนและควบคุมมาตรฐานคุณภาพการศึกษาได้

ผมว่าเมืองไทยมีกฎค่อนข้างเยอะแต่ว่าบังคับใช้ไม่ครบ  ประเด็นทุนจีนที่เข้ามาแล้วสร้างความเสียหายเป็นเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย เช่น เรื่องการใช้วีซ่าผิดประเภท เป็นวีซ่านักเรียนแต่มาขายของ เป็นต้น เพราะตามกฎหมายการศึกษาแล้วค่อนข้างครอบคลุมเช่นผู้รับใบอนุญาตจะต้องเป็นใคร ผู้ถือหุ้นต้องเป็นใคร ครูใหญ่ต้องเป็นใครจบอะไรมา มันมีครอบคลุมหมด รวมไปถึงมาตรฐานคุณภาพการศึกษาก็เช่นกัน’

 

ทั้งนี้ ยกตัวอย่างพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554  มาตรา 21 ระบุว่าผู้ขอรับใบอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนในระบบที่เป็นบุคคลธรรมดาจะต้องมีสัญชาติไทยเป็นหนึ่งในคุณสมบัติดังกล่าว และมาตรา 22ผู้ขอรับใบอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนในระบบที่เป็นนิติบุคคลต้องมีกรรมการสัญชาติไทยไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง

 

\'เด็กเกิดต่ำ\' ตอกฝาโลงธุรกิจโรงเรียนไทย ทำไมต้องพึ่ง \'ทุนจีน\'?

 

หากจะมีสิ่งไหนเพิ่มเติม ผศ.ดร.ต่อยศมองว่า สิ่งหนึ่งที่ต้องคำนึงถึงเมื่องรับนักเรียนคือ แต่ละโรงเรียนอาจจะต้องมีสมดุลในการรับนักเรียนต่างชาติ ไม่หนักไปทางชาติไหนมากเกินไปในกรณีของโรงเรียนนานาชาติ เพื่อให้เด็กสามารถเข้าถึงวัฒนธรรมที่หลากหลาย

 

ผมคิดว่าเรามีทางเลือกไม่มาก และไม่ใช่เป็นแค่ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในเมืองไทย' ผศ.ดร.ต่อยศ บอกกับโพสต์ทูเดย์

 

' ที่อื่นก็เป็น สิงคโปร์ เวียดนาม อังกฤษหรืออเมริกา เมื่อปีที่แล้วมีข่าวทำนองว่าจะมีการเทคโอเวอร์โรงเรียนสาขาที่อเมริกา 500 โรงเรียนเช่นกัน ประเด็นคือปรากฎการณ์เกิดขึ้นแล้ว เราจะทำยังไงให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศไทยมากกว่า .. มาปรับปรุงโรงเรียน ทำให้การศึกษาไทยพัฒนาต่อยอดและแข่งขันได้น่าจะเป็นตัวเลือกทางธุรกิจที่ดีกว่า’

.

.

วิกฤตประชากรที่ทำให้อัตราการเกิดของเด็กไทยต่ำที่สุดในรอบ 75 ปี ไม่เพียงแต่กระทบกับระบบการศึกษา จนทำให้ธุรกิจบางเจ้าต้องหันไปพึ่งพาทุนจีนและนักเรียนจีนเท่านั้น .. แต่ปรากฎการณ์ที่สืบเนื่องกันที่ โพสต์ทูเดย์ ตามต่อก็คือ ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับภาคแรงงาน ซึ่งก็มองว่า 'คนจีน' ที่เรียนจบในไทย เป็นแรงงานทักษะที่ประเทศไทยอยากได้เช่นเดียวกัน และประเทศไทยอยู่ในจุดที่ควรจะต้องรับมาเป็นประชากรของประเทศอย่างถาวร! 

 

เป็นไปได้หรือไม่?  ติดตามต่อใน : เป็นไปได้? ไทยต้องการ 'แรงงานจีน' เป็นประชากรของประเทศอย่างถาวร!

Thailand Web Stat