'ฮังการี' ผ่านร่างกฎหมายห้าม 'เดินขบวน Pride' ของ LGBTQ+
เจาะที่มา 'ฮังการี' ผ่านร่างกฎหมายแบน 'การเดินขบวน Pride' ของ LGBTQ+ และการริดรอนสิทธิภายใต้การนำของรัฐมนตรีวิคเตอร์ ออร์บาน
สมาชิกสภานิติบัญญัติของฮังการี ผ่านร่างกฎหมาย 'ห้ามจัดขบวนพาเหรด Budapest Pride ประจำปี' เมื่อวานนี้ (18 มีนาคม 2568) นับเป็นมาตรการล่าสุดภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี วิคเตอร์ ออร์บาน ที่ใช้ต่อต้านและจำกัดสิทธิของชุมชน LGBTQ+ โดยก่อนหน้านี้ออร์บาน ได้ออกมากล่าวสุนทรพจน์ประจำปีในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และได้พูดถึงประเด็นดังกล่าวไว้ว่า 'ไม่ควรเตรียมตัวสำหรับงานในปีนี้ เพราะมันจะเป็นการเสียเงินและเวลา'
ร่างกฎหมายดังกล่าวถูกยื่นผ่านกระบวนการเร่งรัดพิเศษ ซึ่งพบว่าถูกยื่นเมื่อเช้าวันจันทร์ก่อนได้รับการอนุมัติในวันอังคาร จากสภาผู้แทนราษฎร 199 ที่นั่ง ด้วยคะแนน 136 เสียงเห็นชอบ 27 เสียงคัดค้านและ 36 คนที่งดออกเสียง
สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวนอกจากจะห้ามจัดขบวนพาเหรดแล้ว ยังเปิดช่องให้มีการสั่งปรับผู้เข้าร่วมพาเหรดอีกด้วย โดยผู้จัดหรือผู้เข้าร่วมกิจกรรมอาจจะได้รับโทษปรับ สูงสุด 500 ยูโร (ประมาณ 18,000 บาท) และ ตำรวจสามารถใช้เครื่องมือจดจำใบหน้าเพื่อตรวจจับผู้กระทำผิดมาลงโทษได้
ทั้งนี้ ภายหลังการผ่านร่างดังกล่าว ส่งผลให้ผู้ประท้วงจำนวนกว่าหลายพันคนมารวมตัวกันและปิดสะพานแห่งหนึ่งใจกลางกรุงบูดาเปสต์ พร้อมตะโกนว่า 'พวกเราไม่กลัว' เพื่อประท้วงและต่อต้านมติที่ผ่านมา ในขณะที่ฝั่งรัฐบาลอ้างว่าการจัดขบวนพาเหรดอาจเป็นอันตรายต่อเด็ก โดยเป็นเหตุผลเดียวกับที่รัฐบาลของออร์บานใช้วิพากษ์วิจารณ์ชุมชน LGBTQ+ ตลอดการดำรงตำแหน่งของเขา
นายกรัฐมนตรีวิคเตอร์ ออร์บาน
เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ คณะกรรมาธิการเพื่อความเท่าเทียมของสหภาพยุโรป ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ โดยยืนยันถึง 'สิทธิพื้นฐาน' ในการชุมนุมโดยสงบในกลุ่มประเทศสมาชิก 27 ประเทศของสหภาพยุโรป ขณะที่นักวิจารณ์กลุ่มหนึ่งมองว่าออร์บาน กำลังพยายามดึงคะแนนเสียงจากกลุ่มขวาจัดโดยใช้มาตรการนี้ เนื่องจากจะมีการเลือกตั้งครั้งใหม่ในปีหน้า
ทางด้านผู้จัดงานขบวนพาเหรด Pride มาที เฮเกดุส แสดงความท้าทายต่อรัฐบาลโดยบอกว่าจะเดินหน้าจัดงาน 30th Budapest Pride ในวันที่ 28 มิถุนายนนี้ต่อไปแม้จะต้องจ่ายค่าปรับก็ตาม
ออร์บาน กับสัมพันธ์ใกล้ชิด ทรัมป์ และมาตรการหลังการดำรงตำแหน่ง
นายกรัฐมนตรีวิคเตอร์ ออร์บาน ของฮังการี มีแนวคิดทางการเมืองที่คล้ายคลึงกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในหลายเรื่อง เช่น นโยบายคัดค้านเสรีนิยม สนับสนุนแนวคิดอนุรักษ์นิยม การควบคุมการเข้าเมือง รวมไปถึงวิจารณ์สถาบันและองค์กรระหว่างประเทศ อีกทั้งยังเห็นเป็นไปในทิศทางเดียวกันว่าไม่พอใจ การแทรกแซงของสหภาพยุโรป (EU) ที่เข้ามายุ่งกับประเทศของเขาในเรื่องการบริหารจัดการภายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการย้ายถิ่นฐานและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิพลเมือง
อีกทั้ง นายกรัฐมนตรีออร์บาน ยังแสดงความสนับสนุนทรัมป์ในหลายๆ โอกาส ทั้งในช่วงการเลือกตั้งของทรัมป์และหลังจากที่ทรัมป์ได้รับชัยชนะในปี 2016 เช่นเดียวกับที่ทรัมป์เองก็เคยแสดงการสนับสนุนออร์บานในฐานะผู้นำที่เข้มแข็ง และมีความสามารถในการปกป้องประเทศจากสิ่งที่มองว่าเป็นภัยคุกคามจากภายนอก
ทั้งนี้ ตลอดการดำรงตำแหน่งของวิคเตอร์ ออร์บาน ซึ่งกินระยะเวลายาวนานจนทำให้เขาเป็นนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดในยุโรป คือ ตั้งแต่ปี 1998 ถึง 2002 และกลับมาดำรงตำแหน่งอีกครั้งตั้งแต่ปี 2010 จนถึงปัจจุบัน เขาได้ออกกฎหมายจำกัดและริดรอนสิทธิของ LGBTQ+ เรื่อยมา อาทิ
- กฎหมายห้ามการรับรู้เพศทางกฎหมาย ในปี 2020 ห้ามไม่ให้บุคคลข้ามเพศเปลี่ยนเพศตามกฎหมาย
- กฎหมายต่อต้านการโฆษณาชวนเชื่อเกี่ยวกับ LGBTQ+ ในปี 2021 โดยห้ามเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับ LGBTQ+ ในสื่อที่เข้าถึงเด็ก รวมถึงในโรงเรียนและโทรทัศน์
- การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในปี 2020 โดยระบุว่าการแต่งงานเป็น “การรวมกันระหว่างชายและหญิง” เท่านั้นและจำกัดสิทธิการรับบุตรบุญธรรมสำหรับคู่รักเพศเดียวกัน
แม้ว่าฮังการี จะถูกคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ฟ้องร้องในปี 2022 ฐานละเมิดสิทธิของชาว LGBTQ+ รวมไปถึงศาลยุติธรรมยุโรป (ECJ) ได้พิจารณาว่าฮังการีละเมิดกฎหมายของสหภาพยุโรปเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน แต่จนแล้วจนรอดวานนี้ 'ฮังการี' ก็ยังผ่านร่างกฎหมายระงับการทำกิจกรรมสำคัญของ LGBTQ+.
ที่มา
สำนักข่าวรอยเตอร์