รู้จัก iRAP Robot ทีมหุ่นยนต์กู้ภัย มจพ. เทคโนโลยีไทย ช่วยตึกถล่ม
หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวและตึกสำนักงาน สตง. พังถล่มลงมา ทีมงานหุ่นยนต์ และโดรน ของ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ไปเสริมทัพภารกิจกู้ภัยทันที
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) สถาบันการศึกษาดีกรีแชมป์โลกการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยระดับโลก World RoboCup Rescue 10 สมัย ได้นำทีมหุ่นยนต์กู้ภัย iRAP Robot มจพ. เข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัยฯ กรณีเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว จนอาคารที่ทำการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ ซึ่งอยู่ในระหว่างก่อสร้าง บริเวณ ถ.กำแพงเพชร เขตจตุจักร กทม. พังถล่มลงมา ทำให้มีผู้บาดเจ็บและสูญหายเป็นจำนวนมาก
ทีมหุ่นยนต์กู้ภัย iRAP Robot มจพ. ซึ่งควบคุมโดย รศ.ดร.กิตติชัย ธนทรัพย์สิน คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มจพ. นำหุ่นยนต์ฯ สำรวจภารกิจในพื้นที่อาคารถล่มร่วมกับเจ้าหน้าที่จากภาครัฐและภาคเอกชน สนับสนุนการทำงานของหน่วยกู้ภัย และเพิ่มความปลอดภัยในการเข้าถึงผู้ประสบภัยในสถานการณ์วิกฤติ
สำหรับเครื่องมือที่ iRAP Robot นำมาใช้ในภารกิจนี้ มีอยู่สามประเภทหลักๆ ได้แก่ หุ่นยนต์กู้ภัยสองตัว, หุ่นยนต์ขนาดเล็กที่ iRAP Robot เพิ่งพัฒนาขึ้นใหม่ และโดรนสองลำ
หุ่นยนต์สำรวจขนาดเล็ก มีจุดเด่นที่ความคล่องตัวสูง เหมาะสำหรับการเข้าถึงพื้นที่แคบหรือซอกมุมต่างๆพร้อมติดตั้งเซนเซอร์ สำหรับตรวจวัดระดับออกซิเจน และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญในการประเมินความปลอดภัยของสภาพแวดล้อม ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะเข้าไปปฏิบัติงาน
ขณะที่ หุ่นยนต์สำรวจเพื่อการกู้ภัย จะมีแขนกลสำหรับหยิบจับหรือเคลื่อนย้ายสิ่งของ และมีความสามารถในการเคลื่อนที่ผ่านพื้นที่ต่างระดับ รวมถึงการขึ้นบันไดได้อย่างมีเสถียรภาพ พร้อมทั้งติดตั้งเซนเซอร์วัดอุณหภูมิเพื่อใช้ประเมินสภาวะความร้อนในพื้นที่ปฏิบัติงาน ซึ่งมีความสำคัญต่อการวางแผนและตัดสินใจของเจ้าหน้าที่กู้ภัยที่ร่วมปฏิบัติงาน
หุ่นยนต์สำรวจเพื่อการกู้ภัยและหุ่นยนต์สำรวจขนาดเล็ก ซึ่งถูกออกแบบมาให้สามารถสร้างแผนที่สามมิติของพื้นที่ และเคลื่อนที่ผ่านสภาพแวดล้อมที่ซับซ้อน เช่น อาคารที่ถล่มหรือพื้นที่จำกัดการเข้าถึง
ข้อมูลที่หุ่นยนต์เก็บรวบรวมได้จะช่วยให้หน่วยกู้ภัยสามารถประเมินสถานการณ์ และวางแผนการช่วยเหลือได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทีม iRAP Robot ได้เข้าพื้นที่ทันที โดยเริ่มต้นภารกิจด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลแผนที่สามมิติ โดยข้อมูลดังกล่าวได้มาจากการนำหุ่นยนต์เข้าไปสแกนข้อมูลสภาพแวดล้อมเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจของเจ้าหน้าที่
อาจารย์ ดร.จิรพันธุ์ อินเทียม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ระบุว่ากองซากตึกที่ถล่มลงมา แผนที่สามมิติจะคำนวณปริมาตรได้ว่ากองปูนเท่านี้จะมีปริมาตรเท่าไร และถ้าบวกกับการคำนวณความหนาแน่นของกองปูนดังกล่าวทางทีมกู้ภัยจะประเมินน้ำหนักของกองนั้นได้ และจะใช้ในการประเมินว่าจะรื้อถอนหรือขนย้าย
แม้จะเป็นครั้งแรกของทีมงานที่ได้ออกปฏิบัติการณ์กู้ภัยจริง ซึ่งยังต้องเรียนรู้การปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยกู้ภัย และต้องมีการปรับใช้เครื่องมือให้เหมาะกับพื้นที่และสถานการณ์ แต่ประสบการณ์ที่ได้ ก็จะสามารถต่อยอดในการพัฒนาปรับปรุง เครื่องมือ และเทคนิคการปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นในอนาคต