ใครจะวิน? อุตสาหกรรม ‘ยาลดความอ้วน’ ชิงส่วนแบ่งระดับ ‘ล้านล้าน’

ใครจะวิน? อุตสาหกรรม ‘ยาลดความอ้วน’ ชิงส่วนแบ่งระดับ ‘ล้านล้าน’

26 มีนาคม 2568

ใครจะวิน? อุตสาหกรรม ‘ยาลดความอ้วน’ ชิงส่วนแบ่งเค้กโลกระดับ ‘ล้านล้าน’ เมื่อผู้ป่วยโรคอ้วนเพิ่มขึ้น การแข่งขันทั้งด้านนวัตกรรมยาลดความอ้วนจึงมากขึ้นตาม

KEY

POINTS

  • ประชากร 1 ใน 8 ป่วยโรคอ้วน ส่งผลให้มูลค่าเศรษฐกิจ 'ยาลดความอ้วน' สูงกว่า 1.8 ล้านล้าน

โรคอ้วน เป็นหนึ่งในวิกฤตด้านสุขภาพระดับโลกที่มีอัตราการเกิดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี และเป็นหนึ่งในโรค NCDs ที่สำคัญ ที่ส่งผลก่อให้เกิดโรคอื่นๆ ที่ร้ายแรงและเรื้อรังตามมา ไม่ว่าจะเป็น เบาหวาน โรคหัวใจ โรคระบบทางเดินหายใจ หรือแม้กระทั่งมะเร็งบางชนิด

องค์การอนามัยโลก (WHO)  เปิดเผยสถิติผู้ป่วยโรคอ้วนในปี 2565 พบว่าประชากร 1 ใน 8 ป่วยโรคอ้วน เมื่อเจาะไปที่ประชากรที่เป็นผู้ใหญ่พบว่า ผู้ใหญ่ราว 2.5 พันล้านคนมีน้ำหนักเกิน และ 890 ล้านคนเป็นโรคอ้วน

 

อย่างไรก็ตาม เทรนด์ของโรคอ้วนในอนาคต

อาจสะท้อนได้ผ่านตัวเลขของโรคอ้วนในเด็ก ที่เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก

 

เมื่อเทียบกับ 30 ปีก่อนคือปี พ.ศ.2533 ผู้ใหญ่มีโรคอ้วนมากขึ้น 2 เท่า แต่วัยรุ่นกลับมีตัวเลขมากกว่าเป็น 3 เท่า และถ้าหากเจาะจงไปที่เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี จะพบเด็กที่มีน้ำหนักเกินราว 37 ล้านคน ในขณะที่เด็กวัยรุ่นอายุ 5-19 ปี มีน้ำหนักเกิน 390 ล้านคน และ 160 ล้านคนที่เป็นโรคอ้วน

 

ประวัติศาสตร์ อุตสาหกรรม ‘ยาลดโรคอ้วน’

 

การลดน้ำหนัก เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นตั้งแต่ในอดีต มนุษย์พยายามที่จะหาวิธีในการใช้กลไกต่างๆ เพื่อที่จะลดความอ้วนมาโดยตลอดย้อนไปได้ไกลกว่าพันปี

 

  • ยุคแรกเริ่ม ( ก่อนศตวรรษที่ 20 )

การลดน้ำหนักมักจะใช้วิธีการธรรมชาติ เช่น การควบคุมอาหาร การออกกำลังการและการใช้สมุนไพร นอกจากนี้ แพทย์ชาวกรีกโบราณอย่าง โซรานุสแห่งเอเฟซัส ได้บันทึกวิธีการลดน้ำหนักโดยใช้ยาระบาย ยาถ่าย การนวด และการออกกำลังกาย ในยุคนี้ยังไม่มีการพัฒนายาลดความอ้วนที่มีสารเคมีสังเคราะห์ แต่มีการใช้สารพิษบางชนิด เพื่อกระตุ้นการเผาผลาญ เช่น ไทรอยด์ฮอร์โมน ซึ่งมีผลข้างเคียงที่อันตราย

 

  • ยุคของสารกระตุ้น (กลางศตวรรษที่ 20 )

มีการคนค้นพบว่าแอมเฟตามีน ซึ่งได้รับการอนุมัติในช่วงปี 1930  มีฤทธิ์ลดความอยากอาหาร จึงมีคนนำมาใช้ในการลดน้ำหนักและได้รับความนิยมอย่างมากจนกระทั่งถูกควบคุมเนื่องจากปัญหาการเสพติดและผลข้างเคียง

ต่อมาได้มีการพัฒนายาในกลุ่มเดียวกัน เช่น เฟนเทอร์มีน และไดเอทิลโพรพิออน ซึ่งได้รับความนิยมในปี 1990 แต่ผลข้างเคียงกลับสูง เช่น ทำให้หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง จึงถูกเพิกถอนในปี 1997

 

  • ยุคของยาที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท ( ปลายศตวรรษที่ 20)

มีการพัฒนายาลดความอ้วนที่มีผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง แต่มีผลข้างเคียงน้อยกว่าแอมเฟตามีน เช่น ซิบูทรามีน ถูกนำมาใช้ในปี 1997 ออกฤทธิ์ลดความอยากอาหารและเพิ่มการเผาผลาญพลังงาน ต่อมาพบว่าซิบูทรามีนเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด จึงถูกเพิกถอนจากตลาดในปี 2010

นอกจากนี้ยังมียาในกลุ่มออร์ลิสแทต เป็นยาลดน้ำหนักที่ได้รับการรับรองในปี 1999 โดยออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ไลเปสในทางเดินอาหาร

 

  • ยุคของยาสมัยใหม่ (ศตวรรษที่ 21- ปัจจุบัน)

มีการพัฒนายาลดความอ้วนที่มีกลไกการออกฤทธิ์ที่หลากหลายมากขึ้น เช่น ยาที่ออกฤทธิ์ต่อฮอร์โมนในระบบทางเดินอาหาร (GLP-1 receptoragonists) เช่น ลิรากลูไทด์ (Liraglutide) และเซมากลูไทด์ (Semaglutide) ซึ่งช่วยลดความอยากอาหาร ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และชะลอการเคลื่อนที่ของอาหารในกระเพาะอาหาร ให้ทำงานช้าลง จึงทำให้อิ่มนานขึ้นและลดปริมาณอาหารที่กิน ซึ่งยากลุ่มดังกล่าวกำลังได้รับความนิยม

ผลวิจัยล่าสุดชี้ว่า ยาที่ออกฤทธิ์ต่อ GLP-1 อย่าง Triple-G และ Retatrutide อาจเป็นนวัตกรรมใหม่ในการลดน้ำหนัก แต่ยังอยู่ในช่วงของการพัฒนา และเป็นนวัตกรรมด้านยาที่น่าจับตามองเป็นอย่างมาก!

 

 

ใครจะวิน? อุตสาหกรรม ‘ยาลดความอ้วน’ ชิงส่วนแบ่งเค้กโลกระดับ ‘ล้านล้าน’

 

นักวิเคราะห์จาก Morgan Stanley คาดว่า ความสำคัญของยาลดความอ้วน จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และทำให้เป็น 1 ใน 12 อันดับของวิทยาการการรักษาในทศวรรษนี้

 

โดยคาดการณ์มูลค่าทางการตลาดเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จาก 2.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 8 หมื่นล้านบาท ในปี 2022 เป็น 1.8 ล้านล้านบาท ในปี 2030 หรือเติบโตกว่า 22 เท่าเลยทีเดียว!

 

ด้วยมูลค่าการตลาดที่เติบโตอย่างมหาศาล บริษัทยาชั้นนำรายใหญ่ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น Pfiizer, Norvo nordisk, Amgen และ Eli Lily จึงกระโดดเข้ามาในตลาดนี้  ประกอบกับเมื่อย้อนไปดูวิวัฒนาการของยาลดน้ำหนักจะพบว่ายังมีช่องว่างทางนวัตกรรมที่สามารถพัฒนามากขึ้นไปอีก

 

ล่าสุด น่าจับตามองกับการผลิตยาที่มีเรียกว่า ‘Triple G’ 

ซึ่งจะเป็นตัวแปรสำคัญของการชิงส่วนแบ่งเค้กก้อนโตนี้

 

Triple G  เป็นยาที่ใช้กลไกการทำงานโดยการกำหนดเป้าหมายที่ GLP-1 และฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับความอ้วนอีกตัวหนึ่งคือ GIP และ Glucagon 

  • GLP-1 เป็น ฮอร์โมนตามธรรมชาติ ในร่างกายที่ผลิตขึ้นในลำไส้เล็กหลังจากรับประทานอาหาร มีบทบาทสำคัญในการ ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ลดความอยากอาหาร และทำให้รู้สึกอิ่ม
  • GIP เป็น ฮอร์โมนที่ผลิตจากลำไส้เล็ก มีบทบาทสำคัญในการควบคุม ระดับน้ำตาลในเลือดและการเผาผลาญไขมัน โดยทำงานร่วมกับ GLP-1 เพื่อช่วยให้ร่างกายตอบสนองต่ออินซูลินได้ดีขึ้น
  • Glucagon ช่วยเพิ่มการเผาผลาญไขมันและให้พลังงานแก่ร่างกาย

 

ส่วนประสิทธิภาพของยาในประเภทนี้คาดว่าจะช่วยลดน้ำหนักได้สูงถึง 24.2% ซึ่งไม่เคยมีผลทดลองของยาลดความอ้วนชนิดอื่นเทียบเท่ามาก่อน

 

ปัจจุบันมี 2 บริษัทยักษ์ใหญ่ที่กำลังพัฒนายา Triple-G ดังกล่าวและคาดว่าจะเกิดการแข่งขันสูงในอุตสาหกรรมยา 

Eli Lilly  คือบริษัทแรก ราวปี 2023 ได้ออกมารายงานความคืบหน้าของการทดลองยาดังกล่าว โดยพบว่าอยู่ในช่วงดำเนินการทดลองระยะที่ 3  สำหรับผลการทดลองระยะที่ 2 พบว่าช่วยลดน้ำหนักได้สูง และลดได้มากกว่ายากลุ่มเดิมกว่า 24.2%  สำหรับตอนนี้กำลังศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องการประเมินความปลอดภัย และประสิทธิภาพในการจัดการน้ำหนักในระยะยาว รวมถึงการรักษาโรคหยุดหายใจขณะหลับและโรคข้อเข่าเสื่อม

อีกบริษัทที่กระโจนเข้ามาล่าสุดคือ Novo Nordisk ที่ได้ซื้อสิทธิในการพัฒนายาจาก United Laboratories International ในจีนด้วยมูลค่าสูงถึง 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งทำให้ได้สิทธิในการพัฒนา ผลิต และจำหน่ายยา  ปัจจุบันอยู่ระหว่างการทดลองในมนุษย์และยังไม่มีข้อมูลการทดลองออกมา อย่างไรก็ตาม ความคืบหน้าดังกล่าวทำให้ Novo Nordisk กลายเป็นคู่แข่งสำคัญกับ Eli Lilly ในการผลิตยาลดความอ้วนชนิดนี้ และเพิ่มดีกรีการแข่งขันในตลาดยาลดความอ้วนอีกด้วย

.

.

หลายฝ่ายต่างจับตามองความสำเร็จของการทดลองและวิจัยยาดังกล่าว จากรายงานของ 'โกลด์แมน แซคส์'  บริษัทการเงินระดับโลกได้เปิดเผยว่า กลุ่มยาลดน้ำหนัก GLP-1 แค่กลุ่มเดียวสามารถเพิ่มระดับ GDP ของสหรัฐได้ถึง 1.3% ต่อปีเลยทีเดียว!

Thailand Web Stat