อ.มหิดลแนะ ผู้ที่อยู่บริเวณ 'ตึกถล่ม' ควรเช็คสุขภาพเพราะฝุ่น
อาจารย์คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล แนะ 'ตึกสตง.ถล่ม' เกิดฝุ่นจำนวนมาก ผู้ที่ทำงานและเกี่ยวข้องในบริเวณดังกล่าว ควรตรวจสุขภาพโดยเฉพาะปอด
ผู้ช่วยอาจารย์อนพัช มีมั่งคั่ง และ อาจารย์ดร.แทนไท ประเสริฐกุล พูดคุยถึงประเด็นผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมกับแผ่นดินไหว ใน EnviTalks: แผ่นดินไหวภัยใกล้ตัว – เข้าใจและรับมือให้ทัน โดยกล่าวในประเด็นการรับมือแผ่นดินไหวของกทม.โดยสรุปว่า
กรุงเทพฯไม่ได้ปลอดความเสี่ยงจากเรื่องแผ่นดินไหว จากเหตุการณ์นี้ทำให้อาคารหลายหลังได้ตรวจสอบแผ่นดินไหวมากขึ้น ต้องบอกว่าแผ่นดินไหวสามารถเกิดขึ้นอีกได้ และเกิดขึ้นอีกแน่ แต่จะเว้นไปนานเพียงใดแค่นั้น เพราะรอยเลื่อนสกายไม่หยุดเคลื่อนแค่นี้ และกทม.ยังได้รับผลกระทบจากรอยเลื่อนอื่นเช่นภาคเหนือและภาคตะวันตก ซึ่งสามารถส่งผลกระทบถึงอาคาร หรือก่อให้เกิดรอยร้าวในกรุงเทพฯได้เช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ อาจารย์ทั้งสองท่านได้ให้ความเห็นที่น่าสนใจในประเด็นผลกระทบทางตรงและทางอ้อมจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวว่า ไม่ได้มีผลกระทบโดยตรง แต่ว่าเกิดผลทางอ้อม ซึ่งเกิดจากการสั่นไหวของแผ่นดินไหว ที่เห็นได้ชัดคือ 'มลพิษทางอากาศ' ที่เกิดจากการพังถล่มของอาคารในจตุจักร ผมคิดว่าควรติดตามตรวจสุขภาพ คนที่คิดว่าปลอดภัยและวิ่งหนี ควรตรวจด้วย เพราะสูดเข้าไปมากน้อยไม่แน่ใจ และเป็นฝุ่นขนาดเล็กที่มองไม่เห็น ควรเช็คก่อนเพื่อความสบายใจ ซึ่งเหตุการณ์นี้ปัญหาคือ ฝุ่นเป็นหลัก
ทั้งนี้ โพสต์ทูเดย์ ค้นข้อมูลเพิ่มเติม พบว่าการรับฝุ่น PM2.5 ในปริมาณมากเฉียบพลัน (Acute PM2.5 Exposure) อาจส่งผลกระทบต่อร่างกายในระดับต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของฝุ่น ระยะเวลาที่สัมผัส และสภาพร่างกายของแต่ละบุคคล
อาการที่อาจเกิดขึ้นจากการรับฝุ่น PM2.5 จำนวนมากในระยะสั้น
ระบบทางเดินหายใจ
- ไอ จาม มีเสมหะ
- ระคายเคืองจมูก คัดจมูก หายใจลำบาก
- เจ็บคอ หรือแสบคอ
- หอบหืดกำเริบ (ในผู้ที่มีโรคหอบหืด)
- แน่นหน้าอก
ระบบหัวใจและหลอดเลือด
- หัวใจเต้นผิดปกติ
- หัวใจเต้นเร็วขึ้น
- ความดันโลหิตสูงขึ้นชั่วคราว
ผลกระทบต่อดวงตาและผิวหนัง
- ตาแดง คันตา น้ำตาไหล
- ผิวหนังแห้ง คัน หรือเกิดผื่น
ผลกระทบต่อระบบประสาทและการรับรู้
- ปวดศีรษะและเวียนศีรษะ เนื่องจากการลดลงของออกซิเจนและการอักเสบทั่วร่างกาย
- อ่อนเพลียและมีปัญหาในการจดจ่อ การสัมผัสระยะสั้นอาจส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานของสมอง
สำหรับผู้ที่เสี่ยงได้รับผลกระทบรุนแรง หรือกลุ่มเปราะบาง ได้แก่
- ผู้ป่วยโรคปอดเรื้อรัง (เช่น โรคถุงลมโป่งพอง, โรคหอบหืด)
- ผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด
- เด็ก ผู้สูงอายุ และสตรีมีครรภ์
- ผู้ที่ทำงานกลางแจ้งหรือออกกำลังกายหนักในช่วงที่มีฝุ่นสูง
โรงพยาบาลสมิติเวช ให้ข้อมูลไว้ว่า สำหรับอาการแพ้ฝุ่นที่ควรพบแพทย์ทันที มีดังนี้
- แสบตา ระคายเคืองตาอย่างมาก
- มีน้ำมูกเกิน 1 สัปดาห์
- ไอ หรือ จามเรื้อรังมานานกว่า 2 สัปดาห์
- หายใจไม่สะดวก ติดขัด