‘ข้ออักเสบ’ โรคร้ายที่มักถูกคนมองข้ามในผู้ป่วย ‘เด็ก’

‘ข้ออักเสบ’ โรคร้ายที่มักถูกคนมองข้ามในผู้ป่วย ‘เด็ก’

31 มีนาคม 2568

สัมภาษณ์พิเศษ นพ.วิรัตน์ ภิญโญพรพานิช รพ.เมดพาร์ค ฉายภาพโรค 'ข้ออักเสบ' ภัยเงียบและเรื้อรังที่มักจะถูกมองข้ามในผู้ป่วย 'เด็ก'

KEY

POINTS

  • กลุ่มโรคข้ออักเสบในเด็ก เป็นโรคที่ถูกมองข้าม เพราะอัตราการเกิดของโรคต่ำ แต่เด็กกลับต้องพบกับอาการเจ็บป่วยเรื้อรัง
  • วิธีการ

ผมกลับมาเมืองไทยในปี 2000 ตอนนั้นไม่มีหมอที่ทำเรื่องข้อในเด็กเลย

 

นพ.วิรัตน์ ภิญโญพรพานิช แพทย์เฉพาะทางด้านโรคข้อและรูมาติสซั่ม โรงพยาบาลเมดพาร์ค ฉายภาพให้เห็นความจำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญกับโรคข้อในเด็กมากขึ้น

“เพียงแต่ว่าในช่วงที่อยู่อเมริกา ผมดูเรื่องการผ่าตัดเปลี่ยนข้อในเด็กด้วยที่โรงพยาบาลในรัฐเท็กซัส ระยะหลังแพทย์ที่ทำเรื่องนี้ในไทยมีมากขึ้น แต่ก็ยังอยู่ในโรงพยาบาลคณะแพทย์ ซึ่งในไทยมีไม่เกิน 10 คนที่เชี่ยวชาญเฉพาะทางกับเรื่องนี้”

 

เพราะคนให้ความสนใจน้อย และผู้ป่วยน้อยกว่า ‘โรคข้อในผู้ใหญ่’ โรคข้อในเด็กจึงถูก ‘มองข้าม’ ทั้งจากระบบสาธารณสุข และจากผู้ปกครองที่ไม่มีองค์ความรู้ในเรื่องดังกล่าว

 

“ยาที่ใช้บางตัวค่อนข้างจะแพง และถูกมองข้ามไปเพราะว่าเด็กไม่มีสิทธิในการรักษาที่ครอบคลุม"

 

ประกอบกับเด็กที่ป่วยมักจะไม่บ่น หรือไม่รู้ว่าตนป่วย จึงมีโอกาสที่จะเข้าไม่ถึงการรักษา หรือเข้าถึงแต่ไม่ได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง แม้ว่าผลการตอบสนองต่อการรักษาของเด็กจะดีราว 70-80% ก็ตาม

 

 

‘ข้ออักเสบ’ โรคร้ายที่มักถูกคนมองข้ามในผู้ป่วย ‘เด็ก’

 

กลุ่มโรคข้ออักเสบในเด็ก โรคที่ถูกมองข้าม

คนจำนวนหนึ่งเข้าใจว่า ‘โรคข้อ’ จะเกิดแก่ผู้สูงวัย แต่แท้จริงแล้ว ‘กลุ่มโรคข้ออักเสบ’ สามารถเกิดใน ‘เด็ก’ ด้วย โดยพบว่าผู้ป่วยเด็กที่อายุน้อยที่สุดที่ นพ.วิรัตน์ เคยรักษานั้น อายุราว  1 ขวบครึ่ง

 

จากสถิติในสหรัฐอเมริกา พบเด็กที่ป่วยในกลุ่มโรคนี้ 1:1000 คน สำหรับตัวเลขในประเทศไทยน้อยกว่านั้น แต่ยังไม่พบการเก็บสถิติหรือข้อมูล

“โรงพยาบาลรามาธิบดีเคยเก็บข้อมูลผู้ป่วย พบว่าในช่วง 15 ปี (1997-2012) พบอยู่ราว 168 ราย ที่มีอาการแล้วจึงมาที่โรงพยาบาล”

 

ตัวเลขผู้ป่วยเด็กป่วยที่แท้จริงจึงน่าจะมากกว่านั้น!

 

“สำหรับเมดพาร์ค เราจะพบเด็กในเคสผู้ป่วยใหม่เดือนหนึ่งราว 4-5 ราย ส่วนใหญ่จะเป็นเด็กไทยและมาจากประเทศเพื่อนบ้านซึ่งมาด้วยโรคข้อโดยตรง แต่ส่วนหนึ่งมาจากความผิดปกติทางด้านเลือดที่ส่งมาปรึกษากับเรา”

 

สำหรับสาเหตุการเกิดโรคนั้น ยังไม่สามารถสรุปได้อย่างชัดเจน เพียงแต่มีปัจจัยบางอย่างที่จัดว่าเป็น ‘ความเสี่ยง’ ต่อการเกิดโรค อาทิ

ปัจจัยด้านพันธุกรรม ที่เรียกว่า HLA-B27 ซึ่งมักจะเกิดในเด็กเพศชายมากกว่าเพศหญิงในอัตรา 2:1  แม้ว่าโดยภาพรวมของโรคข้ออักเสบ สัดส่วนของโรคจะเกิดกับเด็กผู้หญิงมากกว่า  ส่วนใหญ่จะทำให้เกิดอาการปวดข้อหรือปวดหลังตั้งแต่เด็ก และอาจนำไปสู่ปัญหาที่รุนแรงขึ้นในอนาคต แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกคนที่มี HLA-B27 จะป่วยเป็นโรคข้ออักเสบ

การติดเชื้อไวรัสไปสู่โรคข้อบางชนิดที่เรียกว่า Henoch-Schönlein Purpura  (HSP) ในกลุ่มที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรม KLA-B27 มักจะมีการติดเชื้อนำมาก่อน โดยเฉพาะการติดเชื้อทางเดินอาหารและทางเดินปัสสาวะ ก็เป็นความเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคได้ ซึ่งมาจากพฤติกรรมการกินอาหารไม่สะอาด หรืออาหารเป็นพิษ

“เด็กอาจเกิดผื่นจ้ำแดงเขียว และจะมาพบแพทย์ด้วยเรื่องนี้ ซึ่งแพทย์ก็จะพบว่ามีปัญหาอื่น ๆ ที่เกี่ยวพันกับโรคข้อ”

 

ถ้าหากว่าผู้ที่มีพันธุกรรม HLA-B27 ร่วมกับการติดเชื้อ ก็ยิ่งจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคข้ออักเสบในเด็กได้อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม นพ.วิรัตน์ กล่าวว่า ส่วนใหญ่ของเด็กที่เป็นกลุ่มโรคข้ออักเสบนั้น ‘หาสาเหตุไม่ได้’

 

‘ข้ออักเสบ’ โรคร้ายที่มักถูกคนมองข้ามในผู้ป่วย ‘เด็ก’

 

เด็กป่วย แต่ ‘เด็กบ่นไม่เป็น’ อีกสาเหตุที่โรคถูกมองข้าม และวิธีการสังเกตที่สำคัญ

เมื่อเป็นโรคที่ไม่สามารถหาสาเหตุได้  การสังเกตของผู้ปกครองจึงเป็นเรื่องสำคัญ

“เด็กไม่บ่นว่าปวด เรื่องเจ็บ เขาไม่รู้จักความเจ็บ เพราะคุ้นชินกับมันมาโดยตลอด เพราะฉะนั้นเวลาที่เด็กมาหาหมอจึงไม่ได้มาด้วยเรื่องปวดข้อ แต่มาเพราะว่าผู้ปกครองพามาเนื่องจากเด็กเดินกะเผลก ซึ่งสตอรี่ส่วนใหญ่จะบอกว่าล้มที่โรงเรียน ซึ่งความเป็นจริงไม่ใช่เลย แต่เด็กเป็นข้ออักเสบต่างหาก”

 

คุณหมอเล่าให้ฟังว่ามีเคสหนึ่งอายุได้เพียง 1 ขวบครึ่งและป่วยเป็นโรคข้ออักเสบ แต่สาเหตุที่มาพบแพทย์คือเด็กไม่ยอมเดิน แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าตนเองเป็นอะไร

 

“อาการของโรคข้ออักเสบ บางทีข้อบวมแดงมันเห็นไม่ชัด จึงต้องอาศัยการฟังและสนใจว่าเด็กเป็นอย่างไร เล่นกีฬาที่โรงเรียนก็อาจจะวิ่งไม่ทันเพื่อน หรือว่ามีกิจกรรมบางอย่างที่เขาทำได้น้อยลงเช่น การนั่งกับพื้น นั่งยอง ๆ ไม่ได้ หรือไม่ยอมขยับขาและเข่า”

ร่วมกับการที่ผู้ปกครองจะต้องสังเกตอาการอื่น ๆ  ได้แก่ มีผื่นจ้ำแดงเขียวบนลำตัว หรือพบม่านตาอักเสบ

 

สำหรับความรุนแรงของโรคนั้นเป็นไปได้ตั้งแต่ การทำลายของข้อจนเสียหาย เกิดความพิการ จนถึงขั้นเสียชีวิต

“ยกตัวอย่างหากเกิดที่ขา ข้างหนึ่งเกิดข้ออักเสบ มันจะทำให้เลือดไปเลี้ยงขาที่ข้างนั้นเยอะ จะทำให้ขายืดตัวไม่เท่ากับอีกข้างหนึ่ง ทำให้มีปัญหาคือขายาวไม่เท่ากัน หรือในกรณีกลุ่มที่มีอาการม่านตาอักเสบ ผลเสียก็คือเรื่องการมองเห็น นอกจากนี้กลุ่มที่เป็นโรคข้อรุนแรง จะพบว่าเด็กเป็นไข้เรื้อรังไม่หาย อาการทรุดลงและมีโอกาสที่จะเสียชีวิตได้”

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มเด็กผู้หญิงที่มีอาการอักเสบของข้อจำนวนมาก และมีผลเลือดที่มีรูมาตอยด์แฟคเตอร์ร่วมด้วย เด็กกลุ่มดังกล่าวมีโอกาสที่โรคจะรุนแรงขึ้นเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ และจะกลายเป็นโรครูมาตอยด์ในผู้ใหญ่ต่อไป

 

‘ข้ออักเสบ’ โรคร้ายที่มักถูกคนมองข้ามในผู้ป่วย ‘เด็ก’

 

วิธีการรักษา ‘คุมโรคให้สงบ’ ทำอย่างไร

นพ.วิรัตน์ ภิญโญพรพานิช กล่าวว่าปัจจุบันไม่มีวิธีการรักษาที่ทำให้โรคนี้หายขาด แต่สามารถทำให้สงบได้เป็นระยะเวลานาน และโอกาสที่จะกำเริบในอนาคตน้อยลง

 

ย้อนกลับไปสัก 30 ปีที่แล้ว การรักษาโรคข้อนั้นโอกาสที่จะทำให้โรคสงบยาก เพราะไม่มียาที่ดี ตามคลินิกและโรงพยาบาลจึงได้เห็นคนพิการเยอะ ในเด็กก็อาจจะคุมโรคได้ในระดับหนึ่งแต่ว่ามันก็ยังทำร้ายเด็กไปเรื่อย ๆ

แต่ปัจจุบันการรักษาดีขึ้นมาก มียาตัวใหม่ ๆ ที่ทำให้โรคสงบลงได้เป็นระยะเวลานาน ควบคู่กับการกายภาพและการดูแลตนเอง เช่น ออกกำลังกาย และระวังการติดเชื้อ”

 

นอกจากนี้ผู้ป่วยที่ป่วย ‘โรคข้อ’ ในเด็ก จะต้องดูแลตนเองต่อเนื่องหลายสิบปี โดยเฉพาะความเสี่ยงต่อการเกิดม่านตาอักเสบ

 

“หมอจะต้องดูแลและสะสมเคสไปเรื่อย ๆ เพราะเป็นโรคที่เรื้อรัง  ผมดูมาเรื่อย ๆ เด็กบางคนอยู่กับผมจนถึงอายุ 20 กว่า เข้ามหาวิทยาลัยต่าง ๆ ก็มี”

 

การคุมโรคให้สงบ เป็นเรื่องสำคัญสำหรับการรักษาโรคข้อในเด็ก เพราะโรคข้อในเด็กสามารถขยายผลไปสู่โรคอื่น ๆ ได้อีกหลายอย่าง ไม่ใช่เพียงภาวะพิการหรือม่านตาอักเสบเท่านั้น แต่ในบางครั้งอาจจะนำไปสู่โรคหัวใจหรือเกี่ยวพันกับเส้นเลือดใหญ่ได้ด้วย

 

“สุดท้ายอยากฝากให้พ่อแม่สังเกตลูกว่าเป็นอย่างไร ความใส่ใจเป็นเรื่องสำคัญ และอยากให้คิดว่าเด็กก็เป็นโรคข้อได้ ไม่ได้เกิดแค่เฉพาะในผู้ใหญ่” นพ.วิรัตน์กล่าวปิดท้าย

 

‘ข้ออักเสบ’ โรคร้ายที่มักถูกคนมองข้ามในผู้ป่วย ‘เด็ก’

Thailand Web Stat