posttoday

แผ่นดินไหวพลิกโฉมการสื่อสาร คนไทยแห่โทรออกพุ่ง 5 เท่านาทีวิกฤต

01 เมษายน 2568

ส่องปรากฏการณ์ดิจิทัลหลังแผ่นดินไหว พฤติกรรมสื่อสารคนไทยเปลี่ยนไปทันที เครือข่ายมือถือปั่นป่วน ยอดโทรพุ่ง ดาต้าเปลี่ยน

 

เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 เวลา 13:25 น. เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่รับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือนในหลายพื้นที่ของกรุงเทพมหานครและจังหวัดใกล้เคียง ได้ก่อให้เกิดปรากฏการณ์ที่ไม่คาดคิดในโลกดิจิทัล

 

เมื่อพฤติกรรมการสื่อสารของผู้ใช้งานเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและรุนแรง ภายในเวลาไม่กี่นาทีหลังการสั่นสะเทือน

 

ปริมาณการโทรออกด้วยเสียง (Voice Call) พุ่งสูงขึ้นเฉลี่ยกว่า 5 เท่า ในขณะที่การใช้งานข้อมูล (Data) ก็แสดงให้เห็นถึงการปรับเปลี่ยนรูปแบบอย่างชัดเจน สะท้อนให้เห็นถึงมุมมองใหม่ของการสื่อสารในยามวิกฤต

 

เหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้ ไม่เพียงแต่สร้างความตื่นตระหนกให้กับประชาชน แต่ยังจุดประกายให้เห็นถึงบทบาทสำคัญของเทคโนโลยีการสื่อสารในภาวะฉุกเฉิน

 

ข้อมูลการใช้งานเครือข่ายที่รวบรวมได้จากทรูและดีแทคในช่วงเวลาดังกล่าว เผยให้เห็นถึงสัญชาตญาณและลำดับความสำคัญของผู้คนเมื่อเผชิญกับภัยพิบัติที่ไม่ทันตั้งตัว

แผ่นดินไหวพลิกโฉมการสื่อสาร คนไทยแห่โทรออกพุ่ง 5 เท่านาทีวิกฤต

การโทรคือช่องทางหลักในยามฉุกเฉิน

 

จากการวิเคราะห์ข้อมูลการใช้งานในช่วงเวลาวิกฤต พบว่า "การโทร" กลายเป็นเครื่องมือสื่อสารอันดับแรกที่ผู้คนเลือกใช้เพื่อติดต่อสอบถามและยืนยันความปลอดภัยระกหว่างบุคคล

 

 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 15 นาทีแรกหลังเกิดเหตุการณ์ (13:30 – 13:45 น.) ที่ปริมาณการโทรบนทั้งสองเครือข่ายพุ่งขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์

 

เครือข่ายทรู: มียอดการโทรออกเพิ่มขึ้นสูงสุดถึง 465% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของวันก่อนหน้า จาก 1.57 ล้านครั้ง เป็น 8.89 ล้านครั้ง

 

โดยจุดที่มีการโทรออกหนาแน่นที่สุดคือเวลา 13:33 น. ซึ่งมีการโทรเพิ่มขึ้นถึง 672% จากค่าเฉลี่ยปกติ

 

เครือข่ายดีแทค: มียอดการโทรออกเพิ่มขึ้นสูงสุดถึง 545% จาก 2.67 ล้านครั้ง เป็น 17.23 ล้านครั้ง

 

จุดที่มีการโทรออกสูงสุดคือเวลา 13:32 น. ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 1,061% จากค่าปกติที่เคยบันทึกไว้

 

ที่น่าสนใจคือ แม้ว่าการโทรภายในเครือข่ายเดียวกันจะเพิ่มขึ้นถึง 65% แต่การโทรข้ามเครือข่ายกลับมีอัตราการเพิ่มที่สูงกว่าถึง 121%

 

สะท้อนให้เห็นว่าผู้คนไม่ได้จำกัดการติดต่ออยู่เพียงแค่คนรู้จักที่ใช้เครือข่ายเดียวกัน แต่ต้องการเข้าถึงทุกคนที่เกี่ยวข้องอย่างรวดเร็วที่สุด

 

เมื่อพิจารณาในระดับภูมิภาค พบว่า กรุงเทพมหานคร เป็นพื้นที่ที่มีการโทรออกเพิ่มขึ้นมากที่สุดอย่างเห็นได้ชัด ทั้งบนเครือข่ายทรู (+1,171%) และดีแทค (+1,983%)

 

ตามมาด้วยภาคตะวันตกและภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อาจได้รับผลกระทบจากแรงสั่นสะเทือนอย่างรู้สึกได้

แผ่นดินไหวพลิกโฉมการสื่อสาร คนไทยแห่โทรออกพุ่ง 5 เท่านาทีวิกฤต

พฤติกรรมการใช้งานเครือข่ายในช่วงฉุกเฉิน

 

ในขณะที่การโทรด้วยเสียงคือช่องทางหลักสำหรับการติดต่อสื่อสารโดยตรง การใช้งานข้อมูล (Data) ก็มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบที่น่าสนใจในช่วงเวลาเดียวกัน 

 

จากข้อมูลพบว่าในช่วงแรกของการเกิดแผ่นดินไหว (13:15 – 13:30 น.) ปริมาณการใช้ดาต้าบนทั้งสองเครือข่ายกลับลดลง ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการหยุดชะงักชั่วขณะจากเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด

 

อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้น (14:00 – 19:00 น.) การใช้งานดาต้าก็กลับมาเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเครือข่ายทรูมีการใช้งานดาต้าเพิ่มขึ้นประมาณ 917 เทราไบต์ (9%) และดีแทคเพิ่มขึ้นประมาณ 653 เทราไบต์ (13%)

 

เมื่อเจาะลึกลงไปในการใช้งานแอปพลิเคชันยอดนิยมในช่วงเวลา 13:15–14:15 น. พบว่า 

 

แอปพลิเคชันประเภทสื่อสารอย่าง X (Twitter), LINE, และ Messenger มีการใช้งานเพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่น

 

ในทางตรงกันข้าม แอปพลิเคชันวิดีโอ เช่น YouTube และ TikTok กลับมีการใช้งานลดลงหรือเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย

 

เครือข่ายทรู: การใช้งานแอป X เพิ่มขึ้นถึง 199%, LINE เพิ่มขึ้น 74%, และ Messenger เพิ่มขึ้น 41%

 

เครือข่ายดีแทค: การใช้งานแอป X เพิ่มขึ้น 162%, LINE เพิ่มขึ้น 90%, และ Messenger เพิ่มขึ้น 77%

 

ปรากฏการณ์นี้ชี้ให้เห็นว่า ในภาวะฉุกเฉิน ผู้คนให้ความสำคัญกับการสื่อสารแบบทันที การตรวจสอบสถานการณ์ และการรับรู้ข่าวสารที่รวดเร็วและแม่นยำ มากกว่าการบริโภคคอนเทนต์เพื่อความบันเทิง