ใช้ 'ระบบจดจำใบหน้า' สแกนต่างด้าวผิดกฎหมาย คุมปัญหาโรคระบาด
สธ.พิจารณาใช้ระบบ Biometric หรือ ระบบจดจำใบหน้า เพื่อยืนยันตัวตนแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายในระบบสาธารณสุข หวังติดตามและควบคุมโรคได้ในยามวิกฤต
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 ครั้งที่ 2/2568
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า การประชุมวันนี้ ได้พิจารณาเรื่องสำคัญคือ นโยบายการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคในกลุ่มคนต่างด้าวประชากรแฝง โดยส่งเสริมการใช้ข้อมูลชีวมิติ (Biometric) เพื่อยืนยันตัวตน โดยระบบพิสูจน์อัตลักษณ์กลุ่มผู้ไม่มีเอกสารประจำตัวเพื่อการสาธารณสุขและช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม เป็นระบบการลงทะเบียนและยืนยันตัวตน โดยใช้เทคโนโลยีชีวมิติ การจดจำใบหน้า และการจำลายม่านตา เพื่อสร้างมาตรฐานการเก็บข้อมูลอัตลักษณ์อย่างแม่นยำ และสนับสนุนระบบบริการสาธารณสุขการเฝ้าระวังและป้องกันควบคุมโรคในบุคคลที่ไม่มีเอกสารประจำตัว ซึ่งสภากาชาดไทย ได้ร่วมกับ กรมควบคุมโรค และ NECTEC ในการพัฒนาระบบขึ้น
“ระบบนี้ จะสามารถเชื่อมโยงข้อมูลกับระบบสาธารณสุขของประเทศ สามารถให้บริการด้านสาธารณสุขได้อย่างถูกต้อง ถูกคน ถูกเวลา และถูกชนิด รวมถึงสามารถติดตามและควบคุมโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะปัญหาที่ผ่านมาประเทศไทยมีแรงงานข้ามชาติที่ยังไม่มีเอกสารระบุตัวตน เมื่อเจ็บป่วย หรือ รับวัคซีนป้องกันโรค จะสร้างปัญหาด้านการควบคุมโรค และในยามเกิดภัยพิบัติ บุคคลกลุ่มนี้ ไม่มีข้อมูลในฐานข้อมูล ก็จะทำให้ไม่ได้รับความช่วยเหลือ
ดังนั้น ที่ประชุมจึงเห็นชอบในหลักการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีชีวมิติ และมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงการต่างประเทศ และกทม. ประสานงานกับสภากาชาดไทย หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันพิจารณาจัดทำระบบและแนวทางปฎิบัติเสนอต่อคณะกรรมการโรคติดต่อ และเสนอแผนปฎิบัติการ ต่อคณะรัฐมนตรี ต่อไป” รมว.สาธารณสุข กล่าว
ปัจจุบันมีต่างด้าวเข้าประเทศ ประมาณ 5.3 ล้านคน แต่ในส่วนที่ไม่มีเอกสารประจำตัว ประมาณ 1.2 ล้านคน ซึ่งเป็นปัญหาที่ไม่สามารถติดตาม และควบคุมได้ ดังนั้น จึงใช้แนวทางของสภากาชาดไทยมาช่วย ในเรื่องของ Biometric Authentication System โดยเป็นระบบที่สอดคล้องกับสภากาชาดไทยจัดทำ
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2566 กรมควบคุมโรค สภากาชาดไทย และ NECTEC ได้ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือฯ โดยมีองค์การอนามัยโลก (ประเทศไทย) เป็นพยาน ดำเนินการใน 5 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ สมุทรสาคร ประจวบคีรีขันธ์ ชลบุรี ตาก และกรุงเทพมหานคร โดยระบบ TRCBAS ของสภากาชาดไทย เป็นระบบการลงทะเบียนและยืนยันตัวตน ใช้เทคโนโลยีชีวมิติ (Biometrics) การจดจำใบหน้า (face recognition) และการจำลายม่านตา (iris recognition) เพื่อสนับสนุนระบบบริการสาธารณสุขการเฝ้าระวังและป้องกันควบคุมโรค ในบุคคลที่ไม่มีเอกสารประจำตัว