PUBAT ดันหนังสือไทยเป็นซอฟท์พาวเวอร์ สู่ฮับโลกใน 10 ปี
PUBAT เร่งขับเคลื่อนหนังสือไทยด้วย 4 ยุทธศาสตร์หลัก จัดกิจกรรมเด่นในงานสัปดาห์หนังสือ หวังพาไทยขึ้นแท่นศูนย์กลางอุตสาหกรรมหนังสือของโลก
สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) เดินหน้า 4 ยุทธศาสตร์ ผลักดัน “หนังสือไทย” เป็น “ซอฟท์พาวเวอร์” ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ ชูความหลากหลายกิจกรรมไฮไลท์ภายในงานสัปดาห์หนังสือ 2568 มั่นใจภายใน 2 ปี พาหนังสือไทยขึ้นแท่น “ศูนย์กลางอาเซียน” 5 ปี สู่ “ศูนย์กลางเอเชีย” ส่วนเป้าหมายสูงสุด นั่งแท่น “ศูนย์กลางของโลก” ภายใน 10 ปี
นายธีรภัทร เจริญสุข ประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านหนังสือ และกรรมการสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) กล่าวว่า แนวทางการผลักดันอุตสาหกรรมหนังสือไทยให้เป็นหนึ่งในซอฟท์พาวเวอร์ที่สำคัญของประเทศไทยนับจากนี้ ทางสมาคมฯ ยังคงเดินหน้าตาม 4 ยุทธศาสตร์ที่ได้เคยประกาศไว้ คือ
1. ดันหนังสือไทยสู่เวทีโลก ด้วยพลังซอฟท์พาวเวอร์
2. สร้างเครือข่าย & ขยายตลาดสู่ระดับโลก
3. สร้างระบบนิเวศใหม่ ดึงคนไทยกลับมาอ่านหนังสือ
4. ยกระดับงานสัปดาห์หนังสือให้เป็นเวทีระดับโลก
ขณะเดียวกัน ก็จะเดินหน้าจัดกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างแรงกระเพื่อมซอฟท์พาวเวอร์ให้กับหนังสือไทย โดยเฉพาะการจัดกิจกรรมภายในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 53
และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 23 ซึ่งจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม - 8 เมษายน 2568 ภายในงานได้มีการจัดกิจกรรมต่างๆ มากมาย เช่น การจัดนิทรรศการเยี่ยมยักษ์ ด้วยการจำลองโต๊ะทำงานของยักษ์พิเภก พร้อมข้าวของเครื่องใช้ขนาด Oversized ที่เปิดให้นักอ่านเข้าไปเยี่ยมชม ขณะที่พี่ยักษ์กำลังนอนหลับ และมีการจัดนิทรรศการแนะนำหนังสือในหัวข้อ "หนังสือธรรมดา ๆ เล่มนั้น ที่เธอก็น่าจะลองอ่านนะ" ให้ผู้อ่านได้เยี่ยมชม
นอกจากนี้ ยังมีนิทรรศการ Book Power การแสดงหนังสือที่ถูกแนะนำจากคนสำคัญของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ซอฟท์พาวเวอร์ กิจกรรมเขียนหนังสือให้ยักษ์อ่าน ด้วยการให้ผู้ร่วมงานช่วยกันแต่งเติมเรื่องราวให้สอดคล้องกับคนที่เขียนประโยคก่อนหน้า
พร้อมกันนี้ ยังมีกิจกรรม Author’s Salon ที่ได้จัดร่วมกับกรมส่งเสริมวัฒนธรรม คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านหนังสือ คณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติและสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ เพื่อเปิดพื้นที่ให้นักเขียนอิสระและนักเขียนทุกประเภท รวมถึงผู้เชี่ยวชาญในหลากหลายสาขา ได้มาพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและแบ่งปันประสบการณ์ให้กับนักอ่านได้รับฟังภายใต้บรรยากาศที่เป็นกันเอง โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ
"นิทรรศการแปลหนังสือไทย ถือเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่น่าสนใจ ซึ่งในปีนี้มีการนำหนังสือไทยไปแปลเป็นภาษาอังกฤษจำนวน 15 เล่ม เพื่อเผยแพร่ไปยังต่างประเทศ นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรม Bangkok Rights Fair 2025 เพื่อจับคู่ธุรกิจ ซึ่งปีนี้ได้ผลตอบรับเป็นอย่างดีมีสำนักพิมพ์ ตัวแทนลิขสิทธิ์ นักเขียนอิสระ เข้าร่วมเจรจาซื้อขายจับคู่ธุรกิจมากถึง 135 บริษัท จาก 14 ประเทศทั่วโลก" ธีรภัทรกล่าว
จากแนวทางการขับเคลื่อนดังกล่าว คาดว่าภายใน 2 ปี จะสามารถผลักดันให้อุตสาหกรรมหนังสือของไทยเป็นศูนย์กลางของอาเซียน ภายใน 5 ปีเป็นหนึ่งในศูนย์กลางของเอเชีย และภายใน 10 ปีเป็นปลายทางสำคัญหนึ่งของโลกได้อย่างแน่นอน
สำหรับงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 53 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 23 เปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม - 8 เมษายน 2568 เวลา 10.00 น. – 21.00 น. ณ ฮอลล์ 5-8 ชั้น LG ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์