กระทรวงอุตฯ ชูโมเดล 2 SME เชียงใหม่ ต่อยอดภูมิปัญญาสร้างรายได้สู่ชุมชน
กระทรวงอุตสาหกรรมเผยความสำเร็จกองทุนเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐเชียงใหม่ ชูความสำเร็จ 2 กิจการลูกค้าสินเชื่อฯ ชาระมิงค์ –สยามศิลาดล ต่อยอดภูมิปัญญาไทยสู่ธุรกิจสร้างรายได้ให้ชุมชน
นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม มีนโยบายในการสนับสนุนและขับเคลื่อนศักยภาพผู้ประกอบการ SME แบบองค์รวม ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนแหล่งเงินทุน การลงทุนในเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน รวมทั้งการวางแผนธุรกิจที่ชัดเจน การวิเคราะห์ตลาดอย่างรอบคอบ การบริหารการเงินอย่างเป็นระบบและการเรียนรู้ที่จะปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยใช้กลไกของกระทรวงอุตสาหกรรม ผ่านการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ SME สู่การเป็น Smart SME และ Global SME รวมถึงการยื่นรับรองมาตรฐาน เช่น ฮาลาล GMP ตลอดจนการยกระดับด้วยเทคโนโลยี และ Ecosystem เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของ SME ที่สำคัญกระทรวงอุตสาหกรรม มีกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ ซึ่งเป็นแหล่งเงินทุนให้ SME เพื่อพัฒนาต่อยอดธุรกิจให้มีความเข้มแข็ง สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลและนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรม "อุตสาหกรรมเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนคู่ชุมชน
สำหรับพื้นที่ จ.เชียงใหม่ มี 2 บริษัทที่เข้าร่วมโครงการสินเชื่อกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ และประสบความสำเร็จ ประกอบด้วย บริษัท ชาระมิงค์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผลิต/จำหน่ายชา-กาแฟสมุนไพรออแกนิค ประเภทเครื่องดื่มชาคุณภาพ และได้รับมาตรฐานสากลแห่งแรกในประเทศไทย โดยการทำเกษตรอุตสาหกรรมที่รักษาสิ่งแวดล้อม รักษาป่าต้นน้ำ ไม่ทำลายป่า ทำลายดิน ซึ่งก่อให้รายได้และสร้างอาชีพ สำคัญยังกระจายรายได้สู่ชุมชนท้องถิ่น และบริษัท สยามศิลาดล พอตเทอรี่ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่าย เครื่องปั้นดินเผา เครื่องไม้แกะสลัก และศิลาดลทุกประเภท ที่ยังคงอัตลักษณ์ท้องถิ่น ในการผลิตแบบหัตถอุตสาหกรรม โดยกระบวนการคิดและผลิตจากการผสมผสานระหว่างทักษะภูมิปัญญา วัฒนธรรมและความเชี่ยวชาญเชิงศิลปหัตถกรรม ความคิดเชิงสร้างสรรค์ทางการออกแบบและกระบวนการวิธีเชิงอุตสาหกรรม ก่อให้เกิดรูปแบบที่มีความทันสมัย
นายจักริน วังวิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชาระมิงค์ จำกัด กล่าวว่า จากประสบการณ์ในการเข้าร่วมโครงการกับกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ ทำให้รู้ว่า SME ที่ต้องการขอสินเชื่อจะต้องวางแผนการเงินอย่างรอบคอบและสร้างความมั่นใจว่าจะสามารถคืนเงินกู้ได้ โดยต้องพิจารณาถึงองค์ประกอบของบริษัท ความครีเอทีฟ และแพคเก็จจิ้ง รวมทั้งสิ่งที่จะตอบสนองตลาดได้ ซึ่งบริษัท ชาระมิงค์ มีลูกค้าที่มีความมั่นใจในตัวเราอยู่แล้ว โดยเฉพาะการทำชาดำสไตล์อังกฤษ ซึ่งได้ส่งออกไปขายยังต่างประเทศหลายประเทศ แต่ประเด็นปัญหาที่เจอ คือ การแพ็กกิ้งแบบเดิมๆ ทำให้ต้นทุนสูง จึงได้เข้าร่วมโครงการฯ เพื่อขอสินเชื่อไปซื้อเครื่องจักร คือ เครื่อง FUSO : TEA BAG MAKING MACHINE เครื่องบรรจุชาซองสามเหลี่ยม เป็นเครื่องบรรจุถุงชาอเนกประสงค์แบบอัตโนมัติชนิดปิดผนึกด้วยความร้อนแบบใหม่ สามารถปรับปรุงรูปลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ได้หลากหลาย ทำให้สามารถบรรจุสินค้าได้หลากหลายมากยิ่งขึ้น และสำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการขอสินเชื่อ ต้องมีแผนธุรกิจที่ชัดเจน พร้อมทั้งวิเคราะห์ตลาดอย่างรอบคอบ และบริหารจัดการการเงินอย่างมีประสิทธิภาพ โดยต้องจัดทำบัญชีและการเงินอย่างถูกต้องและครบถ้วน เพื่อสามารถประเมินความเสี่ยงและตัดสินใจให้สินเชื่อได้
ขณะที่นายอนุสิทธิ มานิตยกูล หนึ่งในผู้สืบทอด บริษัท สยามศิลาดล จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องปั้นดินเผาศิลาดล เล่าถึงปัจจัยหลักที่ทำให้บริษัทประสบความสำเร็จว่า เกิดจากการรักษาอัตลักษณ์และสืบสานมรดกล้านนาของการผลิตเครื่องปั้นดินเผาศิลาดลแบบดั้งเดิม โดยการใช้น้ำเคลือบธรรมชาติและดินจากเชียงใหม่มาอย่างต่อเนื่องกว่า 40 ปี โดยเน้นการรักษา สืบสาน ต่อยอดบริษัท สยามศิลาดล ได้รับ GI ของจังหวัดเชียงใหม่ และนอกจากการรักษาอัตลักษณ์แล้วก็ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาธุรกิจอย่างต่อเนื่อง เริ่มจากงานหัตถกรรมเล็ก ๆ ค่อย ๆ พัฒนาจนกลายเป็นหัตถอุตสาหกรรม มีการควบคุมต้นทุนในการผลิต การตรวจสอบคุณภาพอยู่เสมอ และปรับตัวให้เข้ากับปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งจากสถานการณ์โควิด ค่าแรงที่เพิ่มขึ้น ซึ่งการเข้าร่วมโครงการสินเชื่อจากกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ ได้รับการสนับสนุนเงินทุนเพื่อพัฒนาธุรกิจ ทั้งการจัดหา ปรับปรุงสิ่งปลูกสร้างและเครื่องจักร
ปัจจุบันบริษัทฯ มีแผนที่จะลงทุนในการไปปรับปรุงเรื่องการทำแขนกล เพื่อมาทำการพ่นตัวน้ำเคลือบที่ในอดีตใช้เครื่องที่ใช้แรงงานคน ซึ่งตอนนี้บริษัทฯ ได้นำเรื่องของแขนกลเข้ามาช่วยทำให้การบริหารจัดการสามารถประหยัดต้นทุนและทำให้การผลิตเป็นไปอย่างรวดเร็วขึ้น ทั้งนี้ ขอฝากถึงผู้ประกอบการท่านอื่นๆ ที่ต้องการประสบความสำเร็จ แบบสยามศิลาดลว่า ไม่มีอะไรที่ตายตัว เรียนรู้จากการทำงานในอดีต รู้จักการปรับตัว เรียนรู้และดูแนวโน้มของตลาด รักษามาตรฐานสินค้า และฐานลูกค้าเอาไว้ “เรียนรู้ ปรับตัว ดูตลาด เท่านี้ก็ทำให้อยู่รอดแล้ว”
กระทรวงฯ ยังคงเดินหน้าส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการ SME อย่างต่อเนื่อง มีการถอดบทเรียน พัฒนาถ่ายทอดองค์ความรู้ในด้านต่าง ๆ ตลอดจนการให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึก โดยเจ้าหน้าที่และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน รวมถึงการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อให้ผู้ประกอบการ SME สามารถเติบโต เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน
สำหรับกลุ่มจังหวัดภาคเหนือ 9 จังหวัด มีผู้ขอรับสินเชื่อจากโครงการฯ จำนวน 2,138 ราย วงเงินรวมที่ขอ 2,833ล้านบาท โดยจังหวัดเชียงใหม่ เป็นจังหวัดที่มีผู้ขอรับสินเชื่อจากโครงการฯ มากที่สุด จำนวน 545 ราย คิดเป็น 25% รวมเป็นจำนวนเงิน 587.17 ล้านบาท