posttoday

คลัง พบผู้ประกอบการSMEs จ.เพชรบุรี รับฟังความคิดเห็นเข้าถึงแหล่งเงินทุน

14 พฤษภาคม 2567

เผ่าภูมิ รมช.กระทรวงการคลัง ลงพื้นที่พบผู้ประกอบการ SMEs จังหวัดเพชรบุรี ติดตามการดำเนินกิจการลูกค้าที่ได้รับสินเชื่อจาก SME D Bank และการค้ำประกันสินเชื่อจาก บสย. พร้อมรับฟังความคิดเห็น และมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ ทั้ง ด้านเงินทุน และการค้ำประกันสินเชื่อ

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และคณะ ลงพื้นที่ตรวจราชการ ในโอกาสการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 3/2567 ในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 2 ระหว่างวันที่ 13-14 พฤษภาคม 2567 ณ จังหวัดเพชรบุรี โดยมีนายสุพัฒน์ เมธีวรพจน์ ประธานกรรมการ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บสย. นางดุสิดา ทัพวงษ์ รองผู้จัดการทั่วไปอาวุโส บสย. นายพิชิต มิทราวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank

 

นายศิริชัย ลอยประเสริฐ ผู้ช่วยผู้จัดการ ธพว. และคณะผู้บริหารระดับสูง 2 หน่วยงาน ให้การต้อนรับ พร้อมนำชมการดำเนินกิจการลูกค้าที่ได้รับสินเชื่อจากธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank และการค้ำประกันสินเชื่อจากบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) จำนวน 2 ราย คือ     

 

1. บริษัท สุคันธา ไทยสแน็ค จำกัด  ต. บ้านหม้อ อ.เมือง จังหวัดเพชรบุรี ผลิตและจำหน่ายขนมแปรรูปจากข้าว ที่ใช้นวัตกรรมการอบแทนการทอดด้วยน้ำมัน สร้างมูลค่าเพิ่มข้าวไทยสืบสานภูมิปัญญาขนมไทย  

 

2. บริษัท เพชรบุรี ไทยดีเสิร์ท จำกัด (โรงงานลุงอเนกขนมหวานเมืองเพ็ชร์) ต.สำมะโรง อ.เมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี ผลิตและจำหน่าย ขนมหวานพื้นเมืองจังหวัดเพชรบุรี ได้มาตรฐาน GHP/HACCP จากสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ ฮาลาล จากกระทรวงสาธารณสุข ผลิตเพื่อการค้าส่งเป็นหลัก โดยมีการจัดตั้งกลุ่มผู้ผลิตเพื่อสร้างความเข้มแข็งในชุมชน และกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาขอสินเชื่อเพิ่มเติมกับ ธพว. โดยมี บสย. ค้ำประกันสินเชื่อ 

 

ทั้งนี้ รมช.คลัง ได้รับทราบแนวทางการดำเนินงานของผู้ประกอบการทั้ง 2 ราย อาทิ แนวทางการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน และรับทราบความต้องการของผู้ประกอบการ SMEs รวมถึงสิ่งที่ต้องการให้รัฐบาลสนับสนุนผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก ทั้งด้านเงินทุน และการค้ำประกันสินเชื่อ และมาตรการต่าง ๆ ของรัฐบาล 

 

สำหรับจังหวัดเพชรบุรีได้รับการขนานนามให้เป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหารของ UNESCO (Phetchaburi city of Gastronomy) โดยพื้นที่ “กลุ่มป่าแก่งกระจาน” ยังได้รับการยกย่องและขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ เมื่อปี พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา