posttoday

เปิดโลกวัสดุใหม่ ต่อยอดของท้องถิ่น สู่แบรนด์ Luxury

21 มิถุนายน 2567

ดีพร้อม ยกระดับศักยภาพวัสดุท้องถิ่นด้วยนวัตกรรมและแนวความคิดการออกแบบสร้างสรรค์ผสานกับความรู้และเทคโนโลยีด้านวัสดุศาสตร์ จนเกิดวัสดุและผลิตภัณฑ์ที่มีความโดดเด่นเฉพาะตัว คาดช่วยดันเศรษฐกิจโต 100 ล้านบาท

นางดวงดาว ขาวเจริญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม กระทรวงอุตสาหกรรมเปิดเผยว่า ตามนโยบายรัฐบาลที่ให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ หรือ Soft power ซึ่งเป็นหนึ่งในสาขาอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศบนพื้นฐานของการใช้องค์ความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ และการใช้ทรัพย์สินทางปัญญาเชื่อมโยงกับทุนทางวัฒนธรรมและเทคโนโลยี นวัตกรรมสมัยใหม่ เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมภายใต้การนำของ นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของนโยบายดังกล่าว 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมอุตสาหกรรมและวิสาหกิจไทยในการทำงานเชิงพัฒนาสร้างสรรค์ในด้านวัสดุ และกระบวนการผลิต จากท้องถิ่นสู่การพัฒนาให้เป็นวัสดุใหม่ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมในการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่สวยงาม มีคุณภาพและได้มาตรฐานระดับสากลในที่สุด จึงได้มอบหมายให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) เดินหน้าสร้างแรงบันดาลใจให้บุคลากรนักออกแบบหน้าใหม่และผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ให้สามารถออกแบบ พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ด้วยการใช้นวัตกรรมหรือวัสดุที่แปลกใหม่ในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ พร้อมทั้งต่อยอดแนวคิดให้เกิดมูลค่าเพิ่มในผลิตภัณฑ์ ควบคู่การเชื่อมโยงเอกลักษณ์และทุนทางวัฒนธรรมในเชิงพื้นที่

นอกจากนี้ ตามที่ นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้กำหนดนโยบาย RESHAPE THE FUTURE : โลกเปลี่ยน อุตสาหกรรมปรับ พร้อมรับอนาคต ผ่านกลยุทธ์การปรับตัวให้ก้าวทันเศรษฐกิจยุคใหม่ (RESHAPE THE INDUSTRY) เน้นการส่งเสริมและพัฒนาวิสาหกิจในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยเฉพาะในด้านการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ การสร้างแบรนด์ และการสร้างเครือข่ายผ่านกิจกรรม “เปิดโลกวัสดุใหม่ด้วยนวัตกรรมและการออกแบบเชิงสร้างสรรค์” (The Unlock Materials Design 2024) ประจำปี 2567 เพื่อเปิดโลกทัศน์ ปรับกระบวนการความคิด สร้างแรงบันดาลใจ และจุดประกายแนวความคิดในการคัดเลือกวัสดุจากท้องถิ่น (Local Materials) ภายในประเทศไทยมาประยุกต์ใช้ในงานออกแบบโดยอาศัยนวัตกรรมและการออกแบบเชิงสร้างสรรค์อย่างเหมาะสม ต่อยอดให้เกิดการสร้างสรรค์ผลงานในบริบทใหม่ หรือ From Local to Luxury ซึ่งเป็นการยกระดับศักยภาพของวัสดุท้องถิ่นด้วยนวัตกรรมและแนวความคิดการออกแบบสร้างสรรค์ผสานกับความรู้และเทคโนโลยีด้านวัสดุศาสตร์ จนทำให้ได้วัสดุและผลิตภัณฑ์ที่มีความโดดเด่นเฉพาะตัว 

เปิดโลกวัสดุใหม่ ต่อยอดของท้องถิ่น สู่แบรนด์ Luxury

ทั้งนี้มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมจำนวนทั้งสิ้น 28 กิจการที่ได้รับการฝึกอบรมในหลักสูตร “การปลดล็อกความคิดใหม่ผสานทุนวัฒนธรรมเชิงสร้างสรรค์” พร้อมศึกษาดูงานธุรกิจสร้างสรรค์ที่มีเอกลักษณ์ทางธุรกิจชัดเจน รวมถึงได้เข้าร่วมกิจกรรมค่ายบ่มเพาะไอเดียสร้างสรรค์ในพื้นที่ 5 ภูมิภาค ตลอดจนยังได้รับการให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึกในการจัดทำต้นแบบผลิตภัณฑ์ โดยแต่ละกิจการมีผลงานที่โดดเด่นแตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นการประยุกต์วัสดุท้องถิ่นเข้ากับลายผ้าทอเพื่อให้เกิดลวดลาย และเทคนิคใหม่ ๆ การทำเครื่องประดับด้วยวัสดุท้องถิ่นให้ดูทันสมัย หรือการนำเสนอการใช้งานวัสดุใหม่อย่างเส้นลวดทองเหลืองชุบที่เป็นวัสดุเชื่อมในการทำเครื่องประดับเดิมมาเป็นวัสดุหลักผ่านการออกแบบสร้างสรรค์ 

เปิดโลกวัสดุใหม่ ต่อยอดของท้องถิ่น สู่แบรนด์ Luxury

การค้นหาของเสียจากกระบวนการผลิตในท้องถิ่นมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ อาทิ บีนแบคไม้หุ้มด้วยนวัตกรรมการเคลือบผิวผักตบชวาสาน แผ่นวัสดุตกแต่งผนังด้วยนวัตกรรมสร้างสมดุลธรรมชาติร่วมกับเส้นใยเห็ด และแผ่นจากวัสดุ cement เสริมแร่ธาตุสำหรับปลูกพืชแบบไร้ดิน ซึ่งล้วนเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีการพัฒนาสูตรร่วมกับผู้เชี่ยวชาญในแต่ละพื้นที่  

ดีพร้อม ได้นำผลงานจากผู้ประกอบการที่เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวข้างต้นมาจัดแสดงนิทรรศการ “เปิดโลกวัสดุใหม่ เปลี่ยนรูปวัสดุเดิม (Form Local to Luxury)” พร้อมเปิดพื้นที่ทดสอบตลาดไอเดียสร้างสรรค์ของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกว่า 30 บูธ ในช่วงระหว่างวันที่ 17 – 19 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา ณ ลานโปรโมชั่น ชั้น G ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ เพื่อแสดงผลงานและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ได้รับพัฒนาต่อยอดแนวความคิดสร้างสรรค์วัสดุท้องถิ่น และเห็นถึงผลสำเร็จจากการบูรณาการร่วมกันระหว่างภาครัฐ และเอกชน อาทิ นักออกแบบ ผู้ประกอบการ ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญและวิสาหกิจชุมชนในท้องถิ่นที่ได้ร่วมกันผลักดันและขยายผลของทุนทางวัฒนธรรมเพื่อสร้างห่วงโซ่การผลิตผลิตภัณฑ์และบริการสร้างสรรค์ที่เชื่อมโยงภาคท้องถิ่นและภาคอุตสาหกรรมเข้าด้วยกัน

การจัดงานดังกล่าวได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นอย่างมากมีผู้เข้าร่วมงานดังกล่าวไม่น้อยกว่า 5 หมื่นราย และคาดว่าจะเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 100 ล้านบาท