posttoday

จบ ป.1 ปั้นยอดขาย 17 ล้านบาท นวัตกรรมแทรกเตอร์ไทย บุกแอฟริกา

03 กรกฎาคม 2567

ใครจะเชื่อว่า คนเรียนหนังสือไม่จบ ป.1 อ่านหนังสือไม่ออก เขียนไม่ได้ สามารถมีนวัตกรรมจดสิทธิบัตร 4 ฉบับ ใช้เวลา 10 ปี ในการพัฒนารถแทรกเตอร์เจาะเกษตรครอบครัว จนกลายเป็นที่สนใจของตลาดแอฟริกา ปั้นยอดขาย 17 ล้านบาท ฝันไกลถึง 230 ล้านบาทในอนาคต

“นายช่างสำเริง” หรือนายฐิตพัฒน์ เจริญจินดาศรี ชายผู้เรียนหนังสือไม่จบชั้นประถมศึกษา 1 ชาวอำเภอละหานทราย จังหวัดบุรีรัมย์ มีความคิดสร้างสรรค์ มุ่งมั่นเพื่อสร้างนวัตกรรมเครื่องจักรกลทางการเกษตร ใช้ประสบการณ์กว่า 50 ปี ในการเป็นช่างเครื่องมือหนักในโรงงานอุตสาหกรรม รถแทรกเตอร์ มาสร้างรถแทรกเตอร์ทางการเกษตร

ลุงสำเริง เล่าว่า จากการสังเกตการทำงานของเกษตรกรที่ใช้รถไถนาเดินตาม ที่แพร่หลายขณะนั้น ซึ่งเป็น เครื่องจักรบังคับคน เกษตรกรเกิดอันตรายจากการเหยียบพื้นดิน เศษไม้ เปลือกหอย หรือบาดเจ็บจากแรงของรถ จนมีชื่อเรียกว่า “รถแม่ม่าย” รถแทรกเตอร์นั่งขับในสมัยนั้นมีราคาสูง และต้องนำเข้าจากต่างประเทศ จึงสร้างส่วนต่อพ่วงหลังพร้อมระบบไฮดรอลิก ต่อกับรถไถนาเดินตามที่ใช้กันแพร่หลายในช่วงนั้น เพื่อแก้ปัญหาการใช้งานรถไถนาเดินตามของเกษตรกร ให้สามารถนั่งขับได้

ผมเขียนหนังสือไม่ได้ แต่มีฝีมือทางการช่าง จึงนำความคิดจากจินตนาการ การสังเกตและประสบการณ์ มาสร้างเป็นชิ้นงานทันที เพื่อนำมาทดสอบใช้โดยไม่ได้เขียนแบบล่วงหน้า ออกเป็นชิ้นงานอย่างรวดเร็ว และเป็นผลิตภัณฑ์ที่วางตลาด ซึ่งตรงกับแนวคิดของ Design Thinking คือ การสร้างผลิตภัณฑ์ตัวอย่างให้รวดเร็วที่สุด

จากการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ตลอดระยะเวลาเกือบ 30 ปี ของนายช่างสำเริง จนกลายเป็น “นิวเทคแทรกเตอร์” รถแทรกเตอร์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลสูบเดียว เลี้ยวกลางตัว ที่มีจุดเด่นในการทำงานในหลากหลายสภาพพื้นที่ ใช้งานเอนกประสงค์ ดูแลบำรุงรักษาง่าย เหมาะกับ เกษตรครอบครัว ที่ต้องการเครื่องมือทุ่นแรง และความพิเศษนี้ได้รับการจดความคุ้มครองทรัพยสินทางปัญญาหลายฉบับเป็นการยืนยันในความคิดของชายไม่รู้หนังสือที่สามารถสร้างผลงาน จากความคิดและความมุ่งมั่นที่จะสร้างนวัตกรรมทางการเกษตรโดยคนไทย

จบ ป.1 ปั้นยอดขาย 17 ล้านบาท นวัตกรรมแทรกเตอร์ไทย บุกแอฟริกา

หนุ่ม วรพล จินดาศรี ลูกชายลุงสำเริง อธิบายเพิ่มเติมในฐานะลูกชายและนั่งตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บริษัท นิวเทคคอบร้าอินโนเวชั่น จำกัด ว่า กลุ่มเป้าหมายของเราคือกลุ่มเกษตรกรแปลงเล็กที่ไม่สามารถเข้าถึงรถแทรกเตอร์ราคาถูกได้ โดยรถของเรามีขนาดเล็ก ราคาเริ่มต้นที่ 295,000 บาท และสามารถต่อพ่วงกับอุปกรณ์ต่างๆเพิ่มเติมเพื่อการใช้งานที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น การขุด เจาะ ตัด สูบ ที่สำคัญสามารถไถนาและกลบฝังได้ในครั้งเดียว โดยไม่ต้องเผานา 

รถของเรามีการจดสิทธิบัตร 4 ฉบับ คือ ระบบขับเคลื่อน รถเจาะดินด้านหน้า การออกแบบทั้งคัน และ ตัวใบหมุน แม้ว่าพ่อจะไม่จบ ป.1 แต่ด้วยประสบการณ์ทำงานเป็นช่างในโรงงานอุตสาหกรรมรถแทรกเตอร์สกว่า 30 ปี ทำให้พ่อสามารถสร้างนวัตกรรมรถแทรกเตอร์ของคนไทยขึ้นมาได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต่างชาติต้องการจากประเทศไทย เพราะเราคือประเทศเกษตรกรรม ย่อมเชี่ยวชาญมากกว่าประเทศอื่นๆ

สำหรับช่องทางจำหน่าย เราไม่มีหน้าร้าน ไม่ผ่านสินเชื่อ เน้นการขายผ่านโซเชียล มีเดีย ปัจจุบันมียอดขายประมาณ 17 ล้านบาท มีลูกค้าทั้งในประเทศ และต่างประเทศ โดยลูกค้าหลักคือประเทศไนจีเรีย และภายในสิ้นเดือน ก.ค.นี้ เราจะเดินทางจับคู่ทางธุรกิจในแอฟริกาเพิ่มเติมกับกระทรวงพาณิชย์ ล่าสุดรายการ ชาร์ค แทง ร่วมลงทุน 30 ล้านบาทถือหุ้น 40% โดยเราตั้งเป้าเฟสแรก ผลิต 300 คัน/ปี ยอดขาย 73 ล้านบาท และตั้งเป้าเฟส 2 ผลิต 1,000 คัน/ปี ยอดขาย 230 ล้านบาท 

จบ ป.1 ปั้นยอดขาย 17 ล้านบาท นวัตกรรมแทรกเตอร์ไทย บุกแอฟริกา