posttoday

"เฮียพัฒน์ ล้งทุเรียน" เริ่มจากสวน สู่เป้าส่งออกทั่วโลก

13 กรกฎาคม 2567

รู้จัก "เฮียพัฒน์" ลูกชาวสวนใจสู้ สู่ "เจ้าของล้งทุเรียน" ผู้ส่งออกทุเรียนรายใหญ่เมืองจันทบุรีและชุมพร คัดของดีการันตีคุณภาพเจาะตลาดจีนสำเร็จ เดินหน้าขยายตลาดพร้อมทานส่งออกดูไบ-อเมริกา-เกาหลีใต้ ปักธงตลาดทั่วโลกต้องได้"ชิม-ช้อป ทุเรียนไทย"

    วันนี้ไม่มีใครไม่รู้จัก "เฮียพัฒน์" หรือ "ประพัฒน์ สราญธรรม" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทย ซิง ฟา จำกัด หรือที่ทุกคนรู้จักคือ "เจ้าของล้งทุเรียน" ผู้ส่งออกทุเรียนรายใหญ่ของจังหวัดจันทบุรีและชุมพร ผู้ที่สร้างปรากฎการณ์ในวันเปิดร้าน "ล้งทุเรียนเมืองทอง" แจกทุเรียนจำนวน 10 ตันให้ประชาชนได้ทานฟรี พร้อมกับตั้งปณิธานแจกฟรีทุกสิ้นปีเพื่อส่งมอบทุเรียนที่เราคัดคุณภาพมาอย่างดีส่งต่อให้พี่น้องชาวไทยได้รับประทาน

     "การเปิดร้านที่เมืองทองธานี ถือเป็นอีกหนึ่งโอกาสที่สำคัญ ที่เราจะช่วยให้ผู้บริโภคคนไทยสามารถเข้าถึงทุเรียนคุณภาพระดับส่งออก เพราะโจทย์ของผมคืออยากให้คนไทยได้ทานทุเรียนดีๆที่เป็นเกรดเดียวกับการส่งออก ที่นี่เรามีขายแบบทั้งลูก และแพคพร้อมทาน นอกจากเรามีราคาแห่งผลไม้ นั่นก็คือ "ทุเรียน" ในการจำหน่ายแล้ว เรายังมี "มังคุด" ถือเป็นราชินีแห่งผลไม้ด้วยเช่นกัน"

     "เฮียพัฒน์" เล่าว่า ทำไมถึงตั้งชื่อบริษัท "ไทย ซิง ฟา" ซึ่งคำว่า "ไทย" บ่งบอกว่าเราคือคนไทย ส่วนคำว่า "ซิง" หมายถึง ความโชคดี มีลาภมีชัย และคำว่า "ฟา" หมายถึง ความสำเร็จ พอนำมารวมกันจึงหมายถึง "บริษัทคนไทยที่มีความโชคดีและประสบความสำเร็จ"

     และด้วยความที่ "เฮียพัฒน์" เป็นลูกชาวสวนทุเรียนในจังหวัดจันทบุรีคลุกคลีอยู่กับทุเรียนจนเชี่ยวชาญเรื่องคุณภาพ รสชาดที่พิสูจน์ด้วยตนเองแล้วว่า "ทุเรียนไทย" ดีที่สุดจริงๆ จึงอยากเห็นคนไทยเข้าถึงทุเรียนคุณภาพดี ในราคาที่แตะต้องได้ เหมือนซื้อจากสวนโดยตรง "ใครที่ชื่นชอบทุเรียนต้องภูมิใจทุกเรื่องที่เป็นทุเรียนไทยและช่วยกันสนับสนุนชาวสวนไทย"

\"เฮียพัฒน์ ล้งทุเรียน\" เริ่มจากสวน สู่เป้าส่งออกทั่วโลก

     จากจุดเริ่มต้น "สวนทุเรียนของครอบครัว" บนพื้นที่หลายสิบไร่ "เฮียพัฒน์" ขยายใหญ่จนมีพื้นที่ในจังหวัด จันทบุรี ที่มีกว่า 300 ไร่ พร้อมกับซื้อที่ดินและสวนทุเรียนในจังหวัดชุมพรเพิ่มอีกกว่า 500 ไร่ เพื่อก่อสร้างโรงงาน , คลังสินค้า และห้องเย็นบนพื้นที่ 8 ไร่

     ทั้งนี้เพื่อรองรับการส่งออกทุเรียนราว 10 ตู้คอนเทนเนอร์ต่อวันไปประเทศจีน , ดูไบ พร้อมขยายตลาดซูเปอร์มาร์เก็ตในประเทศสหรัฐอเมริกา และ เกาหลีต่อไป โดยใช้เงินลงทุนราว 800 - 1,000 ล้านบาทต่อเดือน สร้างรายได้มากกว่า 20-30 ล้านบาทต่อเดือน หรือมากกว่า 300 ล้านบาทต่อปี

\"เฮียพัฒน์ ล้งทุเรียน\" เริ่มจากสวน สู่เป้าส่งออกทั่วโลก

     " ด้วยความที่เป็นคนที่ไม่หยุดเรียนรู้พร้อมคว้าทุกโอกาสที่จะเปิดการมองเห็น "ทุเรียนไทย" ไปสู่สายตาต่างประเทศ จึงพัฒนาจาก "พ่อค้ารายเล็ก" สู่ "นักธุรกิจส่งออกทุเรียนรายใหญ่" นี่ไม่ใช่แค่โชคช่วยแต่คือการใฝ่รู้ เสาะแสวงหา ความมุ่งมั่นตั้งใจในการไขว่คว้าโอกาสที่เข้ามา นั่นคือก้าวเล็กๆในโลกที่เปิดกว้างสำหรับพ่อค้าคนนี้ "

\"เฮียพัฒน์ ล้งทุเรียน\" เริ่มจากสวน สู่เป้าส่งออกทั่วโลก

     แต่...กว่าจะมีวันนี้ ไม่ง่าย!!!

     เราเจอปัญหาและอุปสรรคมาเยอะมาก แต่ไม่เคยท้อ เกิดปัญหาอะไรเราก็รีบแก้ไปทีละเรื่อง อย่างปัญหาที่เจอส่วนใหญ่ คือ "การขนส่ง" โดยเฉพาะในช่วงที่ผลผลิตออกมาจำนวนมาก ตู้คอนเทนเนอร์ที่มีกลับไม่พอ ระบบขนส่งโลจิสติกส์ขาดแคลน กลับมาไม่ทัน เช่น วันนี้ขนส่งจากล้งไปประเทศจีนใช้เวลาเดินทางไปและกลับราว 10 วัน ซึ่งทุกวันนี้ประเทศไทย มีทุเรียนส่งออกราว 600 ตู้จึงกลับมาไม่ทัน เราจึงต้องชะลอคำสั่งซื้อ ทั้งๆที่มีออเดอร์เข้ามาจำนวนมากแต่ส่งของออกไปไม่ได้ก็ถือว่าเสียโอกาส

     แม้ทุกวันนี้เราจะมีช่องทางขนส่งใหม่ๆเข้ามาเพิ่ม นั่นก็คือ "ทางรถไฟ และ เครื่องบิน" แต่ด้วยค่าใช้จ่ายทางเครื่องบินค่อนข้างสูงทำให้ต้นทุนเพิ่ม แต่เราก็ทำเต็มที่เพื่อให้ลูกค้าในต่างประเทศได้ทานทุเรียนไทย

\"เฮียพัฒน์ ล้งทุเรียน\" เริ่มจากสวน สู่เป้าส่งออกทั่วโลก

     ส่วนเรื่อง "คุณภาพ" สวนของเราจะคุมกันตั้งแต่เรื่อง คุณภาพดินและ น้ำ ฯลฯ ดูแลอย่างดีเพื่อให้ได้ทุเรียนเกรดส่งออก ขณะที่การรับซื้อหน้าสวน เราคัดเฉพาะทุเรียนที่ดีเท่านั้น ซึ่งชาวสวนที่ค้าขายกับเราต้องจริงใจ และทราบดีว่าคุณภาพที่เราต้องการคืออะไร ถ้าอยากค้าขายกับเราต้องบริหารจัดการเรื่องคุณภาพให้ตรงตามมาตรฐานของเราให้ได้ถึงจะอยู่ด้วยกันได้ยาวนาน

\"เฮียพัฒน์ ล้งทุเรียน\" เริ่มจากสวน สู่เป้าส่งออกทั่วโลก

     "ขอย้ำอีกครั้งว่า ไม่ว่าจะทำธุรกิจอะไร คุณต้องมีความจริงใจ สินค้าที่ขายต้องดี ต้องมีคุณภาพ ถ้าเราเลือกแต่สิ่งที่ดี ส่งมอบแต่สิ่งที่ดี เชื่อว่าทุกคนจะเห็นความจริงใจนั้นและจะได้รับการตอบรับที่ดี วันนี้ความมุ่งมั่นของเราคือคนไทยต้องได้ทานทุเรียนที่ดี และต่างชาติต้องได้รู้ว่าทุเรียนไทยดีแค่ไหน เราจึงตั้งเป้าหมายที่จะส่งออกทุเรียนไปทั่วโลกให้ได้ ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหนต้องได้ทานทุเรียนไทย นี่คือเป้าหมายของผม"