posttoday

‘ณัฐพงษ์ สุปริยศิลป์’ เผย กนง.ลดดอกเบี้ย หนุน SME เข้าถึงแหล่งทุน

20 ตุลาคม 2567

‘ณัฐพงษ์ สุปริยศิลป์’ สส.น่าน ชี้ กนง.ลดดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ว่าพี่น้องประชาชนได้รับประโยชน์มหาศาล กลุ่ม SME เข้าถึงแหล่งเงินทุน, ผู้ประกอบการได้ขยายธุรกิจ, ลูกค้า NPL ได้ปรับโครงสร้างหนี้, ผู้ส่งออกมีรายได้เพิ่ม เกิดเงินหมุนเวียนยกระดับเศรษฐกิจไทยโตทั้งระบบ

          นายณัฐพงษ์ สุปริยศิลป์ สส.น่าน พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง สถาบันการเงินและตลาดการเงิน สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงผลดีจากการที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ให้มีผลทันที ว่า จะส่งผลดีให้พี่น้องประชาชนที่มีภาระหนี้สินที่กำลังจะเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL)  ให้มีโอกาสปรับโครงสร้างหนี้ในอัตราดอกเบี้ยที่ถูกลง หลุดพ้นจากการเป็นหนี้ NPL  

          อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ SME ขนาดเล็กเข้าถึงแหล่งเงินทุน ผู้ประกอบการรายใหญ่มีโอกาสขยายการลงทุนเพิ่ม ส่งผลให้เศรษฐกิจประเทศเติบโตทั้งระบบด้วย

          ทั้งนี้ จากที่เคยได้หารือกับผู้ว่าฯ และคณะผู้บริหารธนาคารแห่งประเทศไทย ( ธปท.)  ว่า อยากให้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งการที่ กนง. มีมติลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ต่อปีนั้นถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี และเป็นไปตามความคาดหวังของทุกภาคส่วน โดยที่ดูจากที่ใกล้ตัวที่สุด ก็คือพี่น้องประชาชนที่มีภาระหนี้เงินกู้ ไม่ว่าจะกู้บ้าน กู้รถยนต์ ตรงนี้ชัดมาก เพราะว่าภาระดอกเบี้ยเงินกู้ของเขาลดลงทันทีไม่มากก็น้อย นั้นหมายถึงรายจ่ายของเขาก็จะลดลง เขาสามารถนำเงินนั้นไปใช้จ่ายในด้านอื่นที่จำเป็นได้มากขึ้น 

          นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า เมื่อดอกเบี้ยลด ภาระต่างๆ ที่เป็นต้นทุนของ SME ก็จะลดลงและมีโอกาสขอสินเชื่อเพิ่มขึ้น ส่วนผู้ประกอบการรายใหญ่ ตรงนี้จะเห็นผลชัดเจนกว่ารายย่อย กล่าวคือเป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้มากขึ้นเพื่อขยายการลงทุนธุรกิจ เพราะเมื่อดอกเบี้ยลด เขาก็นำส่วนต่างที่ลดไปเสริมสภาพคล่องให้ธุรกิจ และเพิ่มความสามารถด้านการแข่งขันได้มากขึ้น   

          ส่วนธุรกิจในภาคอสังหาริมทรัพย์ ผู้ประกอบการฯ ก็สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพิ่มมากขึ้น ลูกค้าที่กังวลว่าดอกเบี้ยแพงไม่กล้ากู้แต่เมื่อดอกเบี้ยลดก็จะจูงใจให้คนกลับมาซื้อบ้านหรือที่ดินเพื่ออยู่อาศัย ขณะเดียวกันคนที่เป็นลูกหนี้เงินกู้อสังหาริมทรัพย์ที่กำลังจะจ่ายเงินงวดไม่ไหวหรือกำลังจะกลายเป็นลูกหนี้ NPL ก็เป็นโอกาสที่จะปรับโครงสร้างหนี้ ในอัตราดอกเบี้ยที่ลดลง

          จุดนี้ต้องบอกว่า ขอให้ธปท.และธนาคารพาณิชย์ช่วยดูแลใส่ใจลูกหนี้กลุ่มนี้ ให้โอกาสลูกหนี้ที่กำลังจะเป็น NPL ได้มีโอกาสปรับโครงสร้างหนี้เพื่อลดไม่ให้เกิดเป็นหนี้เสีย 

          ต้องย้ำว่า ธปท. มีนโยบาย ‘คลินิกแก้หนี้’ ขอให้ลูกหนี้ทุกคนที่กำลังจะเป็นหนี้ NPL หรือที่เป็นหนี้ NPL ไปแล้ว โปรดรีบติดต่อธนาคารเพื่อขอปรับโครงสร้างหนี้ และใช้โอกาสที่ดอกเบี้ยกำลังลดได้เข้ามาปรับโครงสร้างหนี้ให้ได้อย่างน้อยก็ 1 ครั้ง เพื่อลดภาระไม่ให้เป็นหนี้เสีย

แต่เท่าที่ทราบมาธนาคารบางแห่งก็ทำบางแห่งก็ไม่ทำ จึงอยากขอให้ ธปท. กำชับและขอให้ธนาคารพาณิชย์ได้ใส่ใจ

          การที่ กนง.ลดอัตราดอกเบี้ย ก็ยังจะส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่า ส่งผลดีกับผู้ส่งออกสินค้าเพราะเมื่อขายของไป ก็จะมีรายได้กลับเป็นเงินบาทที่เพิ่มมากขึ้น เงินรายได้ที่กลับมาก็จะช่วยให้ธุรกิจได้หมุนเวียนมากขึ้น ลูกจ้างก็จะมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ซัพพลายเออร์ผู้ประกอบการก็จะได้มีเงินทุนไปหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ แต่ก็จะมีผลต่อผู้นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศก็จะมีราคาที่สูงขึ้นด้วยเช่นกัน

          นอกจากนี้ นายณัฐพงษ์ ยังกล่าวต่อว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ลดลงในครั้งนี้อาจจะส่งผลแต่ยังไม่จูงใจเพียงพอ ในความเห็นส่วนตัวแล้วควรจะปรับลงอีก 0.25% เป็น 0.50% เพื่อให้กระตุ้นเศรษฐกิจให้ชัดเจน 

วันนี้ ผู้ประกอบการสภาอุตสาหกรรมหรือสภาหอการค้าที่เรียกร้องให้ลดดอกเบี้ยนโยบาย ก็ได้รับประโยชน์ชัดเจนจากภาระหนี้ที่ลดลง เมื่อภาระหนี้ลด ต้นทุนก็ลดลงและนำส่วนต่างนี้ไปต่อยอดหรือนำไปลงทุนเพิ่มเติม  เมื่อขยายลงทุนเพิ่ม เศรษฐกิจโตเพิ่ม ก็จะสามารถผลิตสินค้านำออกมาขาย เกิดการจ้างงานจ้างรายได้มากขึ้น ก็จะยกเศรษฐกิจขึ้นทั้งระบบ