NIA เร่งแก้ พ.ร.ก.จัดตั้งสำนักงานฯ หนุนลงทุนสตาร์ทอัพ ผ่าน PE Trust
NIA เดินเกมปั้นยูนิคอร์นไทย 2 ตัวภายใน 3 ปี คาดแก้ พ.ร.ก.การจัดตั้งสำนักงานฯเสร็จ ภายใน 3 เดือน เดินหน้าร่วมลงทุน PE Trust หนุนเงินทุนสตาร์ทอัพ สร้างแต้มต่อบุกต่างประเทศ ส่วนความคืบหน้าพ.ร.บ.สตาร์ทอัพ คาดเสร็จ ส.ค.68
นางสาวกริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า ขณะนี้ NIA อยู่ระหว่างการแก้ พ.ร.ก.การจัดตั้งสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) มาตรา 8 (6) การเข้าร่วมทุนกับนิติบุคคลอื่น ซึ่งปัจจุบัน NIA ไม่สามารถให้เงิน หรือ เข้าไปถือหุ้นในบริษัทนิติบุคคลอื่นได้ โดยจะแก้ไขให้สามารถทำได้ เพื่อให้ NIA สามารถสนับสนุนเงินทุนหรือเข้าไปถือหุ้นกับบริษัทสตาร์ทอัพได้ คาดว่าภายใน 3 เดือน จะสามารถแก้ไขแล้วเสร็จ
สำหรับรูปแบบการลงทุนที่มองไว้ และมีความเป็นไปได้ว่าจะทำคือการลงทุนในลักษณะการนำทรัสต์มาใช้ในการจัดตั้งกิจการเงินร่วมลงทุน Private Equity Trust หรือ PE Trust ซึ่งการลงทุนดังกล่าวเป็นช่องทางการระดมทุนสำหรับธุรกิจเกิดใหม่ ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก ธุรกิจที่ต้องอาศัยนวัตกรรมทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้มีโอกาสได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุนจากผู้ลงทุนที่สนใจ โดยข้อดีของการจัดตั้งเป็นทรัสต์ คือสามารถคืนเงินลงทุนให้แก่ผู้ลงทุนได้คล่องตัวกว่าการจัดตั้งในรูปแบบบริษัท เนื่องจากมีโครงสร้างภาษีไม่ซ้ำซ้อน เมื่อทรัสต์รับเงินได้มาจะไม่ต้องเสียภาษี แต่จะส่งผ่านเงินได้ดังกล่าวให้แก่ผู้ถือหน่วยทรัสต์ซึ่งจะเสียภาษีต่อไป รูปแบบนี้จะทำให้ NIA ลงเงินบางส่วนและต้องได้เงินคืน ไม่ขาดทุนแน่นอน ด้วยการทำงานของมืออาชีพ
NIA ต้องการผลักดันให้เกิดสตาร์ทอัพที่จดทะเบียนในประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากกฎหมาย และเงินทุนไม่เอื้อต่อสตาร์ทอัพไทย ทำให้สตาร์ทอัพไทยไม่เติบโตเท่ากับสตาร์ทอัพต่างชาติ ดังนั้นในระหว่างที่รอ พ.ร.บ.ส่งเสริมสตาร์ทอัพแห่งชาติ ที่คาดว่าจะประกาศใช้ภายในเดือน ส.ค.ปี 68 NIA จึงต้องเร่งแก้ พ.ร.ก.การจัดตั้งสำนักงานฯก่อน โดย NIA มีเป้าหมายผลักดันให้ประเทศไทยมียูนิคอร์นอย่างน้อย 2 ตัว ภายใน 3 ปี
นางสาวกริชผกา กล่าวว่า วันนี้ตนได้ดำรงตำแหน่งมาครบ 1 ปี แล้ว เหลืออีก 3 ปี จนกว่าจะหมดวาระ ก้าวต่อไปภายใต้บทบาท “ผู้กำหนดทิศทางนวัตกรรม (Focal Conductor)”นั้น NIA จะขยายผลจากแนวคิด Groom - Grant - Growth โดยเพิ่ม Global เพื่อมุ่งต่อยอดการส่งเสริมผู้ประกอบการนวัตกรรมให้สามารถเติบโตได้อย่างก้าวกระโดดทั้งในประเทศและต่างประเทศ นอกจากการเร่งผลักดัน พ.ร.บ. สตาร์ทอัพ ฯ แล้ว ยังได้จัดทำโปรแกรมเร่งการเติบโตของสตาร์ทอัพในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น การแพทย์ และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โปรแกรมส่งเสริมการขยายธุรกิจสู่ตลาดต่างประเทศ รวมถึงการสร้างเครือข่ายนวัตกรรมประเทศไทยให้เข้มแข็งและพร้อมร่วมขับเคลื่อนนวัตกรรมไปกับ NIA โดยตั้งเป้าหมายในการผลักดันประเทศไทยสู่การเป็นชาตินวัตกรรมที่ได้รับการยอมรับในเวทีโลก
โดยยกระดับผู้ประกอบการนวัตกรรมไทยสู่ตลาดสากล ภายใต้แนวคิด ‘Local to Global’ โดยมี 3 เป้าหมายหลัก ได้แก่
1. การสร้างความเข้มแข็งระบบนวัตกรรมระดับภูมิภาค โดยส่งเสริมการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานนวัตกรรมทั้งด้านองค์ความรู้ทางด้านธุรกิจ เทคโนโลยี ทรัพย์สินทางปัญญา โรงงานต้นแบบ การเงิน การลงทุน และการตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ ผ่านความร่วมมือกับอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคและมหาวิทยาลัยต่าง ๆ การสร้างย่านนวัตกกรรม และเมืองนวัตกรรม
2. การพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศไทย ด้วยการสนับสนุนด้านทรัพยากรและการเชื่อมโยงกับตลาด โดยมุ่งเน้นส่งเสริมอุตสาหกรรมที่มีความโดดเด่นและมีศักยภาพในการเติบโต ได้แก่ กลุ่มเกษตร อาหาร และสมุนไพร กลุ่มสุขภาพและการแพทย์ กลุ่มพลังงาน สิ่งแวดล้อม ยานยนต์ไฟฟ้า กลุ่มการท่องเที่ยว และกลุ่มซอร์ฟพาวเวอร์ ตลอดจนพัฒนากำลังคนเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรม ได้แก่ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และ เซมิคอนดักเตอร์
3. การส่งเสริมผู้ประกอบการนวัตกรรมไทยสู่ตลาดสากล สร้างโอกาสการขยายธุรกิจ และโอกาสการระดมทุน เพื่อยกระดับขีดความสามารถทางนวัตกรรมและการแข่งขันของประเทศ ผ่านการเชื่อมตลาดระหว่างประเทศ การสร้างความร่วมมือกับพันธมิตร และกิจกรรมจับคู่ธุรกิจในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ฟินแลนด์ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี และฮ่องกง