posttoday

สมาพันธ์ SME ท้า แบงก์ชาติ วัดใจ แบงก์เอกชน จริงใจแค่ไหน ช่วย SME

16 สิงหาคม 2567

ท้า แบงก์ชาติ สร้างมาตรฐานเปิดข้อมูลผลการอนุมัติซอฟต์โลนของทุกแบงก์ เปรียบเทียบความจริงใจช่วย SME พร้อมหนุน แก้กฎหมาย บสย.ให้ครอบคลุมทุกปัญหา ดีกว่าตั้ง สถาบันค้ำประกันเครดิตแห่งชาติ ดึงงบประมาณกันเอง ทำงานซ้ำซ้อน SME สับสน

SME ยอมรับว่า เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง กังวลว่า นโยบายไม่ต่อเนื่อง https://www.posttoday.com/smart-sme/712237 ซึ่งมาตรการที่สำคัญในยุครัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ทั้งโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ GSB Boost Up (ซอฟต์โลน) วงเงิน 1 แสนล้านบาท ที่ยังไม่เห็นผลว่าช่วย SME ได้หรือไม่

รวมถึงการตั้งสถาบันค้ำประกันเครดิตแห่งชาติ” หรือ นากก้า (NaCGA) ที่ คณะรัฐมนตรี (ครม.) สมัยเศรษฐา เพิ่งเห็นชอบในหลักการเพื่อส่งต่อให้กระทรวงการคลังร่างกฎหมายจัดตั้งร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย ( ธปท.)  คาดจะเปิดได้กลางปี 2568 นั้น ต้องมีการทบทวนหรือไม่ 

นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์ SME ไทย เปิดเผยกับโพสต์ทูเดย์ ว่า แม้รัฐบาลและสถาบันการเงินได้ร่วมลงนามในโครงการสินเชื่อซอฟต์โลน วงเงิน 1 แสนล้านบาท ดำเนินการโดยธนาคารออมสิน แล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่เห็นสถาบันการเงินโดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์ออกมาเปิดเผยวงเงินในการช่วยเหลือ SME

ยิ่งไปกว่านั้น ที่ผ่านมา SME ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อสำหรับ SME ได้ ถูกปฏิเสธโดยไม่มีการให้เหตุผล จึงต้องการให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือ แบงก์ชาติ ออกมาทำข้อมูลเปิดเผยเทียบกันทุกธนาคารว่ามีความจริงใจในการช่วย SME มากน้อยแค่ไหน มีการอนุมติไปกี่ราย และที่ไม่ผ่านการอนุมัติเพราะเหตุผลใด ขอให้แจ้งเป็นลายลักษณ์อักษร

ทุกวันนี้เศรษฐกิจไม่ดี แบงก์ชาติ ได้แต่ยืนยันว่าไม่ลดดอกเบี้ยเงินกู้ ในขณะที่ดอกเบี้ยเงินฝากก็ไม่เพิ่ม กำไรธนาคารออกมาดีทุกไตรมาส 

อย่างไรก็ตาม นายแสงชัย ยังให้ความเห็นเกี่ยวกับการจัดตั้ง สถาบันค้ำประกันเครดิตแห่งชาติ หรือ นากก้า (NaCGA) ว่า เป็นการแก้ปัญหาไม่ถูกจุด สร้างความซ้ำซ้อนในการทำงาน เปลืองงบประมาณ และ SME สับสน 

เนื่องจากทุกวันนี้ มีบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) อยู่แล้ว หาก บสย.มีจุดบกพร่องตรงไหนที่ทำไม่ได้ ก็ควรแก้กฎหมายให้ บสย.ทำได้ เช่น ออกสินเชื่อให้บุคคลไม่ได้ ก็ต้องแก้ให้ทำได้ เป็นต้น ไม่จำเป็นต้องตั้งหน่วยงานขึ้นมาใหม่ให้ดึงงบประมาณกันเอง และจากไทม์ไลน์กว่าจะตั้งได้ก็ใช้เวลาถึงปีหน้า SME น่าจะล้มหายตายจากไปก่อน

สมาพันธ์ SME ท้า แบงก์ชาติ วัดใจ แบงก์เอกชน จริงใจแค่ไหน ช่วย SME

แสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์ SME ไทย

ซอฟต์โลนแสนล้านเพื่อSME

สำหรับโครงการสินเชื่อซอฟต์โลน วงเงิน 1 แสนล้านบาท วิธีดำเนินงาน คือ  ธนาคารออมสินสนับสนุนแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำวงเงินรวม 100,000 ล้านบาทให้แก่สถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการฯ ทั้งธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ โดยคิดดอกเบี้ยในอัตรา 0.01% ต่อปี เป็นระยะเวลา 2 ปี และสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการ SME ในอัตรา 3.5% ต่อปี เป็นระยะเวลา 2 ปี วงเงินสินเชื่อสูงสุดต่อรายไม่เกิน 40 ล้านบาท (รวมทุกสถาบันการเงิน)

ส่วนระยะเวลาดำเนินงาน ผู้ประกอบการ SMEs ที่สนใจสามารถยื่นขอสินเชื่อกับสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการได้จนถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2568 หรือจนกว่าวงเงินสินเชื่อรวมในโครงการจะหมด แล้วแต่ระยะเวลาใดจะถึงก่อน โดยให้เบิกจ่ายสินเชื่อให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2567

ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) GSB Boost Up เป็นไปตามวัตถุประสงค์และหลักเกณฑ์โครงการ จึงเห็นควรขอความร่วมมือจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้าตรวจสอบการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และหลักเกณฑ์โครงการ โดยให้สถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการสอบทานกระบวนการอนุมัติสินเชื่อและสุ่มทานสินเชื่อรายลูกหนี้ในโครงการให้เป็นไปตามเงื่อนไขของโครงการ

สถาบันการเงินเข้าร่วมโครงการ รวม 16 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารทหารไทยธนชาต ธนาคารเกียรตินาคินภัทร ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ธนาคารยูโอบี ธนาคารไอซีบีซี (ไทย) ธนาคารทิสโก้ และธนาคารไทยเครดิต

คาดตั้งสถาบันค้ำประกันเครดิตแห่งชาติเสร็จปีหน้า

สถาบันค้ำประกันเครดิตแห่งชาติ NaCGA เป็นองค์กรค้ำประกันสินเชื่อรูปแบบใหม่ ในลักษณะการประกันความเสี่ยงทางการเงินให้ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และประชาชนทั่วไป เพื่อการเข้าถึงสินเชื่อ หรือแหล่งเงินทุนได้ง่ายมากขึ้น

ทำหน้าที่ในการประเมินความเสี่ยง ก่อนที่จะเข้าไปขอสินเชื่อกับธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ จากนั้นจะออกเอกสารรับรอง เพื่อให้สถาบันการเงินมีความเชื่อมั่นในการปล่อยกู้มากขึ้น เพื่อเป็นกลไกการค้ำประกันสินเชื่อรูปแบบใหม่ ผู้กู้จะจ่ายค่าธรรมเนียมคล้ายกับการซื้อประกัน โดยค่าธรรมเนียมจะคิดตามความเสี่ยงของแต่ละบุคคล แต่ไม่สูงจนเกินไป เนื่องจากมีภาครัฐช่วยจ่ายเงินสมทบให้ส่วนหนึ่งตามระดับความเสี่ยงของลูกหนี้ อีกส่วนหนึ่งผู้ประกอบการก็ต้องรับความเสี่ยงเอง

สถาบันค้ำประกันเครดิตแห่งชาติ คือการยกเครื่องระบบค้ำประกันของไทย โดยเป็นนิติบุคคลที่เป็นหน่วยงานของรัฐโดยไม่เป็นทั้งส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ เป็นการค้ำประกันโดยตรง (Direct Guarantee) โดยเป็นผู้ประเมินความเสี่ยงด้านเครดิตของลูกหนี้ ตั้งแต่การตรวจสอบข้อมูล การประเมินความเสี่ยงรายบุคคล การคิดค่าธรรมเนียม การค้ำประกันอิงตามระดับความเสี่ยง (Risk-Based Pricing) การอนุมัติและออกหนังสือค้ำประกัน  โดยรายได้ของนากก้ามาจาก 3 แหล่ง ได้แก่ เงินสมทบจากรัฐบาล เงินสมทบจากผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อ และค่าธรรมเนียมจากผู้ขอสินเชื่อ

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังระบุว่า NaCGA จะกลายเป็นสถาบันค้ำประกันเครดิตขนาดใหญ่ของไทย โดยจะทำงานร่วมกันกับบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย.) แบบครบวงจร คาดเสร็จกลางปี 2568

ขณะที่บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง จัดตั้งขึ้นตาม “พระราชบัญญัติบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม พ.ศ. 2534” โดยรับโอนทรัพย์สิน หนี้สิน และความรับผิดชอบของกองทุนประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (กสย.) เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2535 ทำหน้าที่ช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ผ่านกลไกการค้ำประกันสินเชื่อ สร้างความเชื่อมั่นให้กับสถาบันการเงินในการอนุมัติสินเชื่อมากขึ้น ช่วยให้ผู้ประกอบการ SME ที่มีศักยภาพ แต่ขาดหลักประกัน หรือหลักประกันไม่เพียงพอได้รับวงเงินที่เพียงพอกับความต้องการ

ต้องจับตาว่า รัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีคนที่ 31  แพทองธาร ชินวัตร จะเล็งเห็นความสำคัญ และเห็นปัญหาที่แท้จริง โดยเฉพาะปัญหาที่กระจุกอยู่ที่แบงก์ชาติ เพื่อแก้ปัญหาให้ตรงจุด หรือไม่