posttoday

พาณิชย์ ระดมความคิดเห็น 50 หน่วยงาน วางแผนยุทธศาสตร์ พลิกโฉม SMEs

23 สิงหาคม 2567

ภาครัฐ-เอกชน เห็นชอบ 4 ยุทธ์ศาสตร์ขับเคลื่อนการค้า SMEs ส่งเสริมการค้าภายในประเทศ สร้างโอกาสส่งออก เสริมทักษะปรับตัวรับการค้าโลกปัจจุบัน อำนวยความสะดวกการทำธุรกิจ หวังดันSMEsไทย สร้างรายได้เข้าประเทศ 40%ต่อGDP มีมูลค่าส่งออกรวม20% ภายในปี70

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้ากระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สนค. ได้จัดการประชุมครั้งสำคัญรวมพลังกว่า 50 หน่วยงาน ทั้งภาครัฐภาคเอกชน และสถาบันการเงิน เพื่อร่วมกันให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อแนวทางการพัฒนาและขับเคลื่อนการค้าของธุรกิจ SMEs ไทย ซึ่งเป็น 1 ใน 5 ประเด็นสำคัญที่อยู่ภายใต้แผนปฏิบัติการด้านการค้าแห่งชาติ พ.ศ. 2568 – 2570 การประชุมรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้เป็นการดำเนินการต่อเนื่องจากการลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นในส่วนภูมิภาคครบทั้ง 5 ภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้เมื่อช่วงเดือนกรกฎาคมถึงต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

 

โดยเริ่มต้นการรับฟังความคิดเห็นในประเด็นการพัฒนาการค้าของธุรกิจ SMEs เนื่องจากธุรกิจ SMEs ถือเป็นแกนหลักสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจการค้า คิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 99 ของจำนวนธุรกิจภายในประเทศทั้งหมด และเป็นแหล่งการจ้างงานกว่า 70% ของจำนวนแรงงานทั้งประเทศ อย่างไรก็ดี ธุรกิจ SMEs ยังคงมีประเด็นความท้าทายที่ภาครัฐและภาคเอกชนต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหา และร่วมกันผลักดันการพัฒนาและส่งเสริมให้ธุรกิจ SME ดำเนินธุรกิจได้เท่าทันกับสถานการณ์การค้าโลกในปัจจุบัน

 

แผนการพัฒนาการค้าของธุรกิจ SMEs มีเป้าหมายที่จะผลักดันให้ธุรกิจ SMEs สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศได้เป็นสัดส่วน 40% ต่อ GDP และมีมูลค่าส่งออกอยู่ที่ 20% ต่อมูลค่าส่งออกรวมภายในปี 2570 ตามที่แผนการพัฒนาของประเทศไทยได้กำหนดไว้โดยที่ประชุมได้เห็นชอบ 4 ประเด็นหลัก สู่การพลิกโฉม SMEs ไทย ประกอบด้วย 

 

1.การส่งเสริมการค้าภายในประเทศ โดยการพัฒนาสินค้าและบริการของธุรกิจ SMEs ให้มีมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค การส่งเสริมการค้าผ่านเส้นทางท่องเที่ยวพื้นที่เชิงพาณิชย์ต่าง ๆตลอดจนการส่งเสริมการใช้ระบบการชำระเงินดิจิทัลทั้งระบบภายในประเทศและระหว่างประเทศให้เกิดประโยชน์ต่อธุรกิจ 

 

2.การส่งเสริมโอกาสการส่งออกของ SMEs โดยการพัฒนามาตรฐานสินค้าและบริการให้อยู่ในระดับสากล การสนับสนุนเงินทุนในการพัฒนานวัตกรรมของสินค้าและบริการการผลักดันการขึ้นจำหน่ายสินค้าและบริการบนช่องทางออนไลน์ การส่งเสริมให้ใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีภายใต้ FTA การเชื่อมโยงข้อมูลหรือความรู้ที่สำคัญมารวมไว้ในที่เดียวให้เสมือนเป็นห้องสมุดด้านการส่งออกตลอดจนการพัฒนาบทบาทของหน่วยงานภาครัฐในส่วนภูมิภาคให้มีภารกิจด้านการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศมากขึ้น

 

3.การพัฒนาและส่งเสริมทักษะของผู้ประกอบการ SMEs ครอบคลุมทั้งทักษะการดำเนินธุรกิจ ความสามารถในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล การปรับตัวต่อสถานการณ์การค้าโลกในปัจจุบัน โดยเฉพาะการปรับตัวต่อมาตรการทางการค้าที่มิใช่ภาษี 

 

4. การพัฒนาระบบนิเวศที่เอื้ออำนวยต่อการดำเนินธุรกิจการค้าของธุรกิจ SMEs โดยพัฒนาระบบงานบริการของหน่วยงานภาครัฐให้เป็นระบบดิจิทัลเชื่อมโยงกัน โดยมุ่งประโยชน์ไปยังการอำนวยความสะดวกและลดต้นทุนการดำเนินงานให้แก่ธุรกิจ SMEs

 

"ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่ได้รับจะนำไปพัฒนาและปรับปรุงแผนดังกล่าวให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น หลังจากนี้สนค. จะนำเสนอแผนปฏิบัติการต่อสาธารณชน หรือจัดงาน Public hearing ในช่วงกลางเดือนกันยายน และจะเสนอแผนดังกล่าวต่อสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์เพื่อพิจารณากลั่นกรอง ก่อนเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขอความเห็นชอบและประกาศใช้อย่างเป็นทางการต่อไป"

ทั้งนี้ การประชุมครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการวางรากฐานเพื่อพลิกโฉมธุรกิจ SMEs ไทยให้พร้อมรับมือกับความท้าทายในยุคการค้าโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของทุกภาคส่วนในการร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยสู่อนาคตที่ยั่งยืน