posttoday

10 ปี สตาร์ทอัพไทย ไปต่ออย่างไรให้รอด ท่ามกลางสมรภูมิแอปต่างชาติครองตลาด

07 กันยายน 2567

ย้อนไป 10 ปี เมื่อสตาร์ทอัพเริ่มกำเนิดและรวมตัวกันเป็นสมาคมการค้าสตาร์ทอัพไทยในปี 2557 เส้นทางลุ่มๆดอนๆ มีทั้งยุครุ่งเรือง และ ตกต่ำ จากนี้ผู้ประกอบการจะไปทางไหนต่อ ท่ามกลางพฤติกรรมผู้บริโภคเสพแอปกันมากขึ้น ทว่ากลับล้วนเป็นแอปของต่างชาติ

5 ยุค แห่งการเปลี่ยนแปลง
อยากให้เรียกพวกเราว่า “ผู้ประกอบการ”

ไผท ผดุงถิ่น อดีตนายกสมาคมการค้าสตาร์ทอัพไทย ปี 2557-2559 พาย้อนเส้นทางจุดเริ่มต้นการกำเนิดสตาร์ทอัพเมื่อ 10 ปีก่อนว่า ยุคนั้น คนยังงงว่า สตาร์ทอัพ คืออะไร ต่างจาก SME อย่างไร แต่ก็เริ่มมีบริษัทค่ายมือถือเริ่มมอง เริ่มสนใจ

ยุคที่สองซึ่งมี วัชระ เอมวัฒน์ นั่งเป็นนายกสมาคมในปี 2559-2561 เป็นยุคที่เฟื่องฟูมาก ธนาคาร บริษัทค่ายมือถือทุกค่าย พร้อมให้ทุนสนับสนุน เรียกว่าเป็นยุค “แอปอีโคโนมี่” ใครๆก็อยากเป็นสตาร์ทอัพ แม้กระทั่งเด็กๆ รุ่งเรืองถึงขนาดมีหลักสูตรการเรียนเป็นสตาร์ทอัพขึ้นมาเลยทีเดียว

พณชิต กิตติปัญญางาม อดีตนายกสมาคมปี 2561-2563 กล่าวว่า ยุคที่สาม คือ อยากปิดสมาคม เพราะเริ่มมีการผลักดัน พ.ร.บ.สตาร์ทอัพ แต่ไม่สำเร็จ ความคิดในการสนับสนุนเงินของภาครัฐคือ “ตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้” รับความเสี่ยงไม่ได้เลย ซึ่งการลงทุนในสตาร์ทอัพคือ ความเสี่ยง อยู่แล้ว จากนั้นก็มาเจอโควิด ทำให้สตาร์ทอัพสายทัวร์ ปิดบริษัทไปจำนวนมาก

10 ปี สตาร์ทอัพไทย ไปต่ออย่างไรให้รอด ท่ามกลางสมรภูมิแอปต่างชาติครองตลาด อดีตนายกสมาคมสตาร์ทอัพไทย

“พอมาถึงยุคที่ 4 ก็ยังอยากปิดสมาคมอยู่นะ” ภัทรพร โพธิ์สุวรรณ อดีตนายกสมาคมปี 2563-2565 เผย พร้อมอธิบายเหตุผลว่า โควิด ทำให้ทุกอย่างหาย ทั้งตลาด ทั้งเงินทุน จึงเป็นยุคที่เราเข้าใจคำว่า “ธุรกิจมากขึ้น” เราไม่ใช่ “สตาร์ทอัพ” แต่เราคือ “นักธุรกิจ” ยุคนี้ เราได้เห็นภาพสมาชิกทยอยออกจากสมาคม ไม่มีรายใหม่เกิดขึ้น แต่องค์กรขนาดใหญ่ กลับมีสตาร์ทอัพ ของตนเอง เช่น โรบินฮู้ด  ยุคนี้จึงเป็นปีที่สมาคมทำกิจกรรมได้น้อยที่สุด

ทว่ายุคที่ 5 จึงกลายเป็นยุคที่อดีตนายกสมาคมปี 2565-2567 ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ ขอลุยต่อ เพื่อให้กลายเป็นยุคฟื้นฟู เขาเล่าว่า วันที่รับตำแหน่ง คือวันที่ ยอด ชินสุภัคกุล “LINE MAN Wongnai” ประกาศตัวเป็นยูนิคอร์น เราจึงมีความหวังอยากเปลี่ยนประเทศไทยจากประเทศ ยูสเซอร์ เป็น เมคเกอร์ ในปีนั้นเองก็ยังพบการเกิดใหม่ของสตาร์ทอัพ อย่างต่อเนื่อง 

เหล่าอดีตนายกสมาคมต่างมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า การระดมทุนให้สตาร์ทอัพ เป็นเพียงวิธีการ ไม่ใช่ความสำเร็จ เพราะทุกครั้งที่สตาร์ทอัพได้รับเงินระดมทุน มันคือภาระ ที่ต้องพาสตาร์ทอัพให้ประสบความสำเร็จ แต่ 90 % สตาร์ทอัพ ล้มเหลว

อีกเรื่องคือ อยากให้มองว่า เรามีหัวใจเป็นผู้ประกอบการ ควรลืมคำว่า สตาร์ทอัพ ขอให้คิดว่าพวกเราคือกลุ่มคนตัวเล็กที่จะมาสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ประเทศ เชื่อว่า เวลา 10 ปีที่ผ่านมา จะเป็นการเรียนรู้เพื่อทำให้ระยะเวลาในการสร้างสตาร์ทอัพให้ประสบความสำเร็จสั้นลงกว่าปีที่ผ่านมา

10 ปี สตาร์ทอัพไทย ไปต่ออย่างไรให้รอด ท่ามกลางสมรภูมิแอปต่างชาติครองตลาด NIA-DEPA ยืนยันประเทศไทยต้องมีสตาร์ทอัพ

ยืนยันเดินหน้าหนุนสตาร์ทอัพ เร่งออกกฎหมายเฉพาะ

กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) กล่าวว่า สตาร์ทอัพ เปรียบเสมือน หัวใจ ของประเทศ ไม่มี ไม่ได้ ที่ผ่านมา NIA ให้เงินเปล่ากับสตาร์ทอัพ และรู้อยู่แล้วว่าต้องเสี่ยง ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการจับมือทำงานร่วมกันเองมาโดยตลอด ทว่าต่อจากนี้หากมีกฎหมายเฉพาะก็จะช่วยส่งเสริมได้มากขึ้น ซึ่งขณะนี้ NIA อยู่ระหว่างการผลักดัน พ.ร.บ.ส่งเสริมสตาร์ทอัพแห่งชาติ ควบคู่กับการแก้ พ.ร.ก.การจัดตั้งสำนักงานเพื่อให้ NIA สามารถร่วมลงทุน PE Trust กับสตาร์ทอัพได้ https://www.posttoday.com/smart-sme/711197

สอดคล้องกับฉัตรชัย คุณปิติลักษณ์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า ที่เน้นย้ำว่า สตาร์ทอัพ คือ นกเงือกของระบบนิเวศน์ ที่ผ่านมาดีป้ามีการสนับสนุนเงินทุนสตาร์ทอัพไปแล้ว 180-200 บริษัท สำเร็จบ้าง ปิดตัวไปบ้าง เราเข้าใจ แต่ต้องไม่ใช่ปิดบริษัทเพราะเกิดจากการทุจริต นอกจากนี้ดีป้ายังส่งเสริมให้หน่วยงานรัฐ บริษัทเอกชน ที่เข้ามาซื้อบริการของสตาร์ทอัพผ่านบัญชีบริการดิจิทัล ได้รับการลดหย่อนภาษีด้วยสูงสุด 200 % 

10 ปี สตาร์ทอัพไทย ไปต่ออย่างไรให้รอด ท่ามกลางสมรภูมิแอปต่างชาติครองตลาด

ธนวิชญ์ ต้นกันยา นายกสมาคมสตาร์ทอัพไทยคนปัจจุบัน

รู้หรือไม่ แค่ปีเดียว เฟซบุ๊ก กูเกิล ติ๊กต็อก
หอบเงินออกนอกประเทศ 1.4 หมื่นล้าน

ธนวิชญ์ ต้นกันยา นายกสมาคมสตาร์ทอัพไทยคนปัจจุบันปี 2567-2569 เล่าว่า จากตัวเลขรายได้ของเฟซบุ๊ก กูเกิล และ ติ๊กต็อก ที่จดทะเบียนในประเทศไทย ปี 2565 มีการลงบัญชีรายได้ในประเทศไทยไม่ถึง 40 % โดยเฟซบุ๊ก มีรายได้ 7,720 ล้านบาท แต่ลงรายได้ในประเทศไทยเพียง 5.66% กูเกิล มีรายได้ 5,389 ล้านบาท ลงรายได้ในประเทศไทย 19.87% 

10 ปี สตาร์ทอัพไทย ไปต่ออย่างไรให้รอด ท่ามกลางสมรภูมิแอปต่างชาติครองตลาด

เช่นเดียวกับ ติ๊กต็อก มีรายได้ 1,262 ล้านบาท ลงรายได้ในประเทศไทยเพียง 38.33 % รวมคิดเป็นเงินที่หายไปจากทั้ง 3 แพลตฟอร์มอยู่ที่ 14,371 ล้านบาท เพราะมีรายได้จากการซื้อโฆษณาที่ระบบต้องจ่ายเงินออกนอกประเทศ นอกจากนี้คนไทยยังซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์มช้อปปี้ ลาซาด้าถึง 8 ล้านบาท ซึ่ง 80% เป็นสินค้าจีน เหลือเป็นรายได้ให้ SME ไทยเพียง 6.4 แสนบาท

ถ้าเป็นแบบนี้ ประเทศไทยไม่ต้องสร้างแพลตฟอร์มของตัวเองแล้ว จะมีสักกี่แพลตฟอร์มก็สู้เขาไม่ได้ สตาร์ทอัพไทยต้องหันไปทำในสิ่งที่ได้เปรียบคือธุรกิจด้านอาหาร ท่องเที่ยว และสุขภาพ ขณะที่รัฐบาลก็ต้องมีนโยบายสนับสนุนสินค้าไทย

เปิดรายได้ 5 ปี โซเชียล มีเดียต่างชาติ
เสียภาษีกันแล้วเท่าไหร่

จากประเด็นดังกล่าว โพสต์ทูเดย์ จึงได้รวบรวมรายได้ 5 ปี ของโซเชียล มีเดีย ต่างชาติ ทั้ง เฟซบุ๊ก กูเกิล ติ๊กต็อก และ ไลน์ คอมพานี  จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่า  ทุกบริษัทมีกำไร และจ่ายภาษีให้รัฐ โดยปีล่าสุด 2566 เฟซบุ๊ก มีกำไร 16.03 ล้านบาท จ่ายภาษี 8.5 ล้านบาท ,กูเกิล มีกำไร 68.9 ล้านบาท จ่ายภาษี 33.8 ล้านบาท , ติ๊กต็อก มีกำไร 53.1 ล้านบาท มีกำไร 46.1 ล้านบาท และ ไลน์ มีกำไร 268.9 ล้านบาท จ่ายภาษี 38.8 ล้านบาท 

แต่ไม่ใช่รายได้ทั้งหมดที่เข้าประเทศไทย เพราะหากเป็นระบบการซื้อโฆษณา บริษัทเหล่านี้ล้วนเป็นการใช้ระบบออนไลน์เพื่อจ่ายเงินตรงไปยังต่างประเทศ

10 ปี สตาร์ทอัพไทย ไปต่ออย่างไรให้รอด ท่ามกลางสมรภูมิแอปต่างชาติครองตลาด

นับจากนี้ ต้องจับตาดูว่า ยุคสมัยใหม่ของสตาร์ทอัพจะถูกนิยามว่าอย่างไร และท้ายที่สุดการกลับมารวมพลังเพื่อเป้าหมายในการผลักดันธุรกิจของคนตัวเล็กจะเห็นผลไปในทิศทางใด ท่ามกลางสมรภูมิแอปต่างชาติครองตลาด