“เกาะหัวใจบ้านปูลาโต๊ะบีซู” ผลิตภัณฑ์ความอุดมสมบูรณ์แห่งตากใบ นราธิวาส
“เกาะปูลาโต๊ะบีซู” อำเภอตากใบ นราธิวาส มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์มากแต่ยังขาดโอกาศทางการตลาด ทีมคณะวิจัยจากมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ได้เข้าไปทำโครงการพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการในพื้นที่ บนฐานทรัพยากรพื้นถิ่นฯ จนสามารถสร้างผลิตภัณฑ์สำคัญได้
พื้นที่ชุมชนบ้านปูลาโต๊ะบีซู ด้านหนึ่งติดอ่าวไทย ส่วนอีกด้านติดแม่น้ำตากใบระยะห่างจากฝั่งประมาณ 500 เมตร ใช้การขนส่งทางเรือ บนเกาะไม่มีแหล่งน้ำจืด ผลการสำรวจเบื้องต้น พบว่า ในชุมชนผู้ชายประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านเป็นหลัก ส่วนกลุ่มผู้หญิงว่างงานเกือบ 90% ส่วนอีก 10% ออกไปทำงานที่ประเทศมาเลเซียหรือไปทำงานนอกพื้นที่
แต่ล่าสุดผลิตภัณฑ์ปลากระบอกแดดเดียว และปลากุเลาเค็ม ขายออนไลน์ผ่านเพจเฟซบุ๊ค “บ้านปูลาโต๊ะบีซู” ใช้ชื่อผลิตภัณฑ์ว่า “เกาะหัวใจบ้านปูลาโต๊ะบีซู” ภายใต้การควบคุมคุณภาพจากนักวิจัยและการบูรณาการศาสตร์จากสาขาวิชาต่างๆ เช่น อาหารและโภชนาการ วิศกรรมศาสตร์ การตลาด การทำแพคเกจจิ้ง จากมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ (มนร.) กำลังสร้างโอกาสบนพื้นที่ตลาดออนไลน์ให้กับชาวบ้านในชุมชนบนเกาะ บ้านปูลาโต๊ะบีซู ตำบลศาลาใหม่ อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธมยันตี ประยูรพันธ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ (มนร.) นักวิจัยจากโครงการการวิจัย “การพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการในพื้นที่ (Local Enterprises) บนฐานทรัพยากรพื้นถิ่น เพื่อสร้างเศรษฐกิจฐานรากและเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่” สนับสนุนโดย หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ใช้พื้นที่บนเกาะปูลาโต๊ะบีซู เป็นพื้นที่ทำงานวิจัย ด้วยโจทย์ในการทำงานคือ ทำอย่างไรที่จะส่งเสริมอาชีพให้กับคนในชุมชนโดยใช้ทุนทรัพยากรของชุมชนที่มีมาสร้างรายได้และลดหนี้สิน
ตามคำบอกเล่าจากการศึกษาพื้นที่บอกว่า “ชุมชนบ้านปูลาโต๊ะบีซูมีทรัพยากรในพื้นที่อุดมสมบูรณ์มาก แต่คนในชุมชนขาดโอกาสในการสร้างรายได้ ขาดโอกาสในการพัฒนาองค์ความรู้ต่างๆ ไม่มีองค์กรไหนเข้ามาในพื้นที่เลย มีความยากจน แถมติดหนี้บุญคุณอีก บางคนมีหนี้สินตั้งแต่รุ่นปู่ รุ่นพ่อรุ่นแม่ จนมาถึงรุ่นลูกรุ่นหลานก็ยังไม่หมด
ดังนั้นโจทย์คือทำอย่างไรให้เกิดรายได้กับคนในชุมชนที่เป็นแม่บ้าน โดยใช้ศักยภาพหรือทรัพยากรท้องถิ่นที่มีอยู่?
จากโจทย์ตั้งต้นจึงนำไปสู่การสร้างห่วงโซ่คุณค่าใหม่ ด้วยการที่กลุ่มนักวิจัยรวมกลุ่มแม่บ้านชาวประมงที่มีหนี้และไม่มีหนี้สิน ไปต่อรองกับนายทุน จากเดิมขายปลาให้นายทุน 100 % เป็นขอแบ่งขายให้นายทุน 50 % ส่วนที่เหลืออีก 50% จะให้กลุ่มแม่บ้านที่สนใจเข้าร่วมวิสาหกิจชุมชนนำมาแปรรูปเพื่อขายออนไลน์ โดยกลุ่มวิสาหกิจชุมชนรับซื้อปลาสดและนำไปสู่กระบวนการแปรรูปผลิตภัณฑ์
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธมยันตี กล่าวว่า การพูดคุยกับกลุ่มนายทุนถือเป็นจุดสำคัญในการทำงานในการแบ่งสัดส่วนปลา รวมทั้งสร้างไลน์การผลิตต่างๆ เช่น ฝ่ายแล่ปลา ฝ่ายแพคสินค้า ฝ่ายขายออนไลน์ เพื่อให้เกิดรายได้แต่ละข้อต่อ ตามสัดส่วนของการผลิต
“จากเดิมมีห่วงโซ่เดียวคือ ชาวประมงขายให้กับนายทุน นายทุนนำไปขายในพื้นที่ นักวิจัยจึงไปขอความร่วมมือกับนายทุนในพื้นที่ที่ชาวบ้านขายปลาให้เพื่อแบ่งปลามาแปรรูปเพราะระหว่างชาวบ้านกับนายทุนมีสัญญาใจและบุญคุณต่อกัน แม้ว่าจะปลดหนี้ได้แล้ว ชาวบ้านก็จะขายให้นายทุน เพราะหากไม่มีเงินทุน เขายังไปหยิบยืมนายทุนได้”
หลังจากรับซื้อปลาสดจากชาวประมงแล้วกลุ่มแม่บ้านจะนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ปลากระบอกแดดเดียว และปลากุเลาเค็ม ภายใต้การควบคุมคุณภาพจากนักวิจัยและการบูรณาการศาสตร์จากสาขาวิชาต่างๆ เช่น อาหารและโภชนาการ วิศกรรมศาสตร์ การตลาด การทำแพคเกจจิ้ง โดยการขายออนไลน์ผ่านเพจเฟซบุ๊ค “บ้านปูลาโต๊ะบีซู” ใช้ชื่อผลิตภัณฑ์ว่า “เกาะหัวใจบ้านปูลาโต๊ะบีซู”
“ปลาเค็มของที่นี่จะใช้น้ำทะเลที่ผ่านกระบวนการกลั่นมาสำหรับการดองทำให้ไม่เค็มโดด เพราะผ่านการตกผลึกว่าต้องระดับที่เท่าไรถึงจะพอดี แล้วตากแดดในมุ้งป้องกันแมลง ขณะเดียวกันลมทะเลที่พัดเข้ามาก็มีส่วนทำให้รสชาติปลาดีขึ้น เน้นเรื่องการรักษามาตรฐานทั้งเรื่องคุณภาพสินค้า ราคา รสชาติ และความสะอาด คือสิ่งสำคัญที่ลูกค้าจะกลับมาซื้ออีก ถ้าสินค้าไม่มีคุณภาพจะโดนลดทอนคุณค่าไปด้วย ดังนั้น กลุ่มแม่บ้านทุกคนต้องช่วยกันคงคุณภาพสินค้าให้ได้มาตรฐาน”
น.ส.รูฮานี ยูโซ๊ะ (กะนี) นวัตกรชุมชนในฐานะประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปเกาะหัวใจเกื้อกูล กล่าวว่า งานวิจัยเข้ามายกระดับวิถีชีวิตของกลุ่มแม่บ้านให้ดีขึ้น จากที่ไม่มีงานทำ ปัจจุบันสามารถปลดหนี้สินและมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
“อาจารย์นักวิจัยเข้ามาเปลี่ยนวิธีคิดจากเดิมที่ได้ปลามาเรามาขายเลยซึ่งได้ราคาไม่สูงมากนัก แล้วมีปลาบางส่วนที่ยังขายไม่ได้ เพราะในพื้นที่ชุมชนเราเป็นพื้นที่ที่ห่างไกล ผู้หญิงก็เป็นแม่บ้านไม่ได้ออกไปหางานทำข้างนอก อาจารย์เลยแนะนำให้รวมกลุ่มแม่บ้านแล้วนำปลาบางส่วนมาแปรรูปโดยใช้ภูมิปัญญาดั้งเดิมของชาวบ้านบวกกับงานวิจัยเข้ามาใช้ในขั้นตอนการผลิตและแปรรูป แล้วขายตามช่องทางต่างๆ เช่น เฟซบุ๊ค ติ๊กต่อก มีลูกค้าที่ให้ความสนใจทั้งในและต่างประเทศ ทำให้ครอบครัวมีรายได้เพิ่มขึ้น”
ปัจจุบัน ชุมชนบ้านปูลาโต๊ะบีซู เกิดการสร้างงานและพัฒนาผู้ประกอบการ จำนวน 25 กลุ่ม ครอบคลุม 39 ครัวเรือน หนี้สินครัวเรือนลดลง 5% กระจายรายได้เพิ่มขึ้น 15 % เปลี่ยนจากนายทุนเป็นการเกื้อกูลในพื้นที่ รวมทั้งปลูกฝังค่านิยมร่วมแบ่งปันผลประโยชน์เกื้อกูลและปลูกจิตสำนักรักถิ่น
ขอบคุณข้อมูลจาก หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)