“ฟรังโก-เอพริล เบเกอรี่” มิกซ์แอนด์แมทช์ พลิกโฉมขนมขึ้นแท่นร้อยล้าน
จากขนมอบกรอบจากอกไก่ ที่สร้างความฮือฮา ไปจนถึง “โมจิลาวา ชาเอิร์ลเกรย์” ที่หอมกรุ่น สองแบรนด์ขนม SME ดาวรุ่ง “ฟรังโก” และ “เอพริล เบเกอรี่” เผยเคล็ดลับความสำเร็จผ่านกลยุทธ์การผสมผสานวัตถุดิบอย่างสร้างสรรค์ จนเป็นที่จดจำในตลาดกับยอดขายไม่ธรรมดา
เช้าวันหนึ่งในร้านเซเว่นฯ ขนมสองแบรนด์สุดเก๋าฉีกความธรรมดา ฟรังโก และ เอพริล เบเกอรี่ กลายเป็นชื่อที่คอขนมต่างจดจำอย่างรวดเร็ว เพราะพวกเขาไม่ได้แค่ผลิตขนมธรรมดา แต่พาพลังสร้างสรรค์มาผสมผสาน จนเกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่ทำให้ลูกค้าต้องตาลุกวาว ตั้งแต่ขนมอบกรอบจากอกไก่ไปจนถึงโมจิลาวาไส้ชาเอิร์ลเกรย์หอมกรุ่น ขนมที่ไม่ได้มีแค่รสชาติอร่อย แต่ยังมาพร้อมคุณค่าทางโภชนาการ และเนื้อสัมผัสแปลกใหม่ที่น่าลิ้มลอง
เมื่อขนมอบกรอบไม่ได้มีแค่แป้งและน้ำตาล
ย้อนกลับไปในปี 2560 “ฟรังโก” เกิดจากแนวคิดของ สมิธ-ศิริภัคพัชน์ สุวรรณประทีป ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอส.อาร์. โปรดักส์ อินเตอร์ฟู้ด จำกัด ที่เห็นว่าตลาดขนมขบเคี้ยวเพื่อสุขภาพในไทยยังไม่มีนักพัฒนาลงแข่งกันมากนัก เขาจึงเริ่มทดลองนำอกไก่มาปรุงเป็นขนมอบกรอบ ด้วยความตั้งใจที่จะทำให้ผู้บริโภคไม่รู้สึกผิดกับการกินขนมอีกต่อไป ภายใต้ สโลแกน “อร่อย ง่าย ไม่รู้สึกผิด”
สมิธ-ศิริภัคพัชน์ สุวรรณประทีป เจ้าของแบรนด์ ฟรังโก
ฟรังโก ใช้เวลาหลายปีค้นหากระบวนการผลิตที่ลงตัว โดยได้รับแรงบันดาลใจจากหลากหลายเมนูแปรรูป จนสุดท้ายพวกเขาก็สร้างสรรค์ขนมอบกรอบที่เต็มไปด้วยโปรตีน และเนื้อสัมผัสที่ทั้งกรอบและไม่แข็งเกินไป ซึ่งเปิดตัวในเซเว่นฯ เมื่อช่วงเดือนต.ค.ที่ผ่านมา ด้วยยอดขายที่พุ่งพรวดจาก 134,400 ซองในสัปดาห์แรก เป็นอีก 57,600 ซองเพิ่มในเวลาเพียงไม่ถึงครึ่งเดือน
สมิธ อธิบายเพิ่มเติมถึงแนวคิดการพัฒนาสินค้า ว่า ต้องการเติมเต็มช่องว่างตลาด โดยเฉพาะกลุ่มคนรักสุขภาพที่ชื่นชอบการทานขนม เริ่มจากการนำอกไก่มาเป็นวัตถุดิบหลัก พร้อมทั้งทำการบ้านอย่างหนัก เพื่อแก้ปัญหาที่อกไก่มีไขมันต่ำ ส่งผลให้สินค้าที่ผลิตจากอกไก่มีลักษณะแข็งกระด้าง และมีรสชาติไม่อร่อย
บริษัทค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการผลิตสินค้าแปรรูปจากหลากหลายสินค้า อาทิ ลูกชิ้นปลา กุนเชียง แล้วนำจุดเด่นของกระบวนการผลิตแต่ละสินค้ามาปรับใช้ พร้อมขอรับคำปรึกษาเพิ่มเติมจากทางภาครัฐ จนได้กรรมวิธีอบสูตรเฉพาะของบริษัทที่ทำให้ขนมมีความกรอบ หอม ไม่แข็งกระด้าง
ฟรังโก อกไก่ซอสเกาหลี
“ฟรังโก” เริ่มวางจำหน่ายในปี 2563 ด้วย 2 รสชาติคือ ซาวครีมและออริจินัล จัดจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์เป็นหลัก ซึ่งก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีโดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าชาวต่างชาติ และเพื่อให้สินค้าเป็นที่รู้จักมากขึ้น บริษัทจึงมีแนวคิดขยายสู่ตลาดโมเดิร์นเทรด โดยนึกถึงเซเว่น อีเลฟเว่น เป็นลำดับแรก เพราะเป็นตลาดที่เข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้สะดวก มีสาขากระจายอยู่ทั่วประเทศ จึงขอเข้ารับคำปรึกษาจากทางทีมเซเว่น อีเลฟเว่น
ทีมงานของเซเว่นฯ ได้แนะนำให้บริษัทปรับรสชาติ แพ็กเก็จจิ้ง และราคา ให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย โดยเพิ่มรสซอสเกาหลีและต้มยำเพื่อจำหน่ายเฉพาะเซเว่น อีเลฟเว่น เท่านั้น เนื่องจากเป็นรสชาติที่คนไทยคุ้นเคยและเป็นที่นิยมรับประทานอยู่แล้ว จำหน่ายในราคาซองละ 30 บาท จากเดิม 40 บาท ปริมาณอกไก่สูงมากกว่า 91% ให้โปรตีนสูงถึง 10 กรัม ไขมันต่ำเฉลี่ย 1-2 กรัมต่อหน่วยบริโภค (22 กรัม)
พร้อมปรับแพ็กเก็จจิ้งให้มีความโดดเด่น โดยหลังวางจำหน่ายได้เพียงไม่ถึงครึ่งเดือนก็ได้รับกระแสตอบรับที่ดี จากกลุ่มคนรักสุขภาพและกลุ่มผู้บริโภคที่ชื่นชอบขนมขบเคี้ยว ซึ่งเป็นกลุ่มที่ตลาดมีอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จนทำให้มียอดออเดอร์เพิ่ม
โพสต์ทูเดย์ ได้ค้นหาข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่า บริษัท เอส.อาร์. โปรดักส์ อินเตอร์ฟู้ด จำกัด พบว่า ปี 2565 มีรายได้อยู่ที่ 27,869 บาท กำไร 19,869 บาท และ ปี 2566 มีรายได้ 1.82 ล้านบาท กำไร 607,257 บาท
จากพายขนมเปี๊ยะสู่โมจิลาวาชาเอิร์ลเกรย์
เอพริล เบเกอรี่ นำโดย อร-กนกกัญจน์ มธุรพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท สิงหา ฟู้ด อินดัสทรีส์ ประเทศไทย จำกัด ก็ใช้แนวคิดเดียวกัน แต่ต่างที่เธอหันไปเล่นกับการผสมวัตถุดิบรสชาติดั้งเดิมอย่างขนมเปี๊ยะกับพาย ก่อให้เกิดสินค้าเอกลักษณ์ในราคาที่จับต้องได้อย่างพายขนมเปี๊ยะที่คนติดอกติดใจกันทั้งประเทศ
อร-กนกกัญจน์ มธุรพร เจ้าของแบรนด์ April’s Bakery
ล่าสุดแบรนด์ได้ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ “โมจิลาวา ชาเอิร์ลเกรย์” ขนมที่ใส่ชาเอิร์ลเกรย์หอมกรุ่นและไข่มุกที่ทำจากบุก เติมเต็มรสสัมผัสแบบชาไข่มุก พร้อมไส้ลาวาที่อัดแน่นด้วยไวท์ช็อกโกแลตแทนเนย อร ชื่นชอบชาไข่มุกเป็นการส่วนตัวอยู่แล้ว จึงถือโอกาสนี้สร้างสรรค์ขนมที่รวมรสชาติทั้งหอมหวานและสัมผัสนุ่มๆ ไว้ในหนึ่งเดียวในราคาเพียง กล่องละ 39 บาท
เจ้าของ “April’s Bakery” ผู้ผลิตโมจิลาวา ชาเอิร์ลเกรย์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สินค้าชิ้นนี้เป็นการต่อยอดสินค้าในกลุ่มโมจิที่บริษัทผลิตอยู่ เพื่อเพิ่มความหลากหลายให้กับไลน์สินค้า โดยความพิเศษของสินค้าตัวนี้คือการนำวัตถุดิบเกรดพรีเมี่ยมของแต่ละชนิดมาผสมผสานเข้าด้วยกัน
โมจิลาวา ชาเอิร์ลเกรย์
จุดเด่นของสินค้าตัวนี้คือ ตัวชาที่เป็นชาเอิร์ลเกรย์ของทไวนิงส์ (Twinings) ซึ่งเป็นชาที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับในระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นรสชาติและกลิ่นหอมของชา ตัวไข่มุกก็ผลิตจากบุกช่วยเพิ่มรสสัมผัสแบบไข่มุก แต่ให้แคลอรี่ต่ำ
ส่วนตัวเป็นคนชอบทานชานมไข่มุกมาก ประกอบกับคนไทยเองก็ชื่นชอบการทานชาไข่มุก จึงมีแนวคิดที่จะนำชาไข่มุกมามิกซ์กับโมจิ และได้เริ่มทำการค้นคว้า ทดลองผลิต รวมทั้งขอคำปรึกษาจากทีมเซเว่น อีเลฟเว่น จึงสำเร็จออกมาเป็นสินค้ามาสเตอร์พีซชิ้นนี้
สำหรับความพิเศษอื่นนอกจากตัวชาเอิร์ลเกรย์แล้ว ตัวไส้ลาวาก็ไม่มีส่วนผสมของเนย ซึ่งส่วนใหญ่ตัวลาวาที่จำหน่ายในตลาดจะใช้เนยเป็นวัตถุดิบหลัก แต่เพื่อสร้างความแตกต่างจึงได้นำไวท์ช็อกโกแลตจากอิตาลีมาแทน โดยผ่านกระบวนการผลิตเฉพาะของบริษัท หรือแม้กระทั่งคัสตาร์ดบริษัทก็นำเข้าจากเยอรมัน นมผงที่ใช้ก็เป็นนมผงจากนิวซีแลนด์ แต่ผลิตออกมาให้ได้ราคาที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ง่าย โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่าสินค้าชิ้นนี้จะได้รับการตอบรับที่ดีเหมือนดังเช่นสินค้ารุ่นพี่อย่างโมจิลาวาที่มียอดขายต่อวันในเซเว่น อีเลฟเว่น ราว 70,000 กล่องต่อวัน
โพสต์ทูเดย์ ได้ค้นหาข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ย้อนหลัง 5 ปี พบว่า บริษัท สิงหา ฟู้ด อินดัสทรีส์ ประเทศไทย จำกัด มีรายได้และกำไร ดังนี้
ปี 2562 รายได้ 73.6 ล้านบาท กำไร 4.94 แสนบาท
ปี 2563 รายได้ 105.5 ล้านบาท กำไร 6.33 แสนบาท
ปี 2564 รายได้ 122.7 ล้านบาท กำไร 4.78 แสนบาท
ปี 2565 รายได้ 439 ล้านบาท กำไร 4.11 ล้านบาท
ปี 2566 รายได้ 527 ล้านบาท กำไร 4.98 ล้านบาท
เรื่องราวของฟรังโกและเอพริล เบเกอรี่ได้เผยให้เห็นว่า กลยุทธ์มิกซ์แอนด์แมทช์ไม่ใช่แค่ทฤษฎีที่อ่านแล้วผ่านไป แต่เป็นทางลัดสู่การทำให้แบรนด์เป็นที่จดจำในใจลูกค้าได้ตั้งแต่เริ่มวางขาย เมื่อสินค้ามีความแตกต่าง โดดเด่น ก็พร้อมเป็นแรงส่งให้ธุรกิจเติบโตอย่างมั่นคงในระยะยาว