posttoday

ทุนจีนบุกไทย หมดยุค "ทุนใหญ่กินทุนเล็ก" มีแต่ "ปลาเร็วกินปลาช้า"

06 กุมภาพันธ์ 2568

จีนขยายฐานการผลิตมาไทย ข้อมูล ปี 2567 พบโรงงานที่ได้รับการลงทุนจากจีนมีกว่า 179 แห่ง หอการค้าไทยจีน ชี้หมดยุค “ทุนใหญ่กินทุนเล็ก” มีแต่ “ปลาเร็วกินปลาช้า” จีนพัฒนาเร็ว หากไทยไม่เร่งสปีดอาจทำให้จีนทิ้งห่าง

จีนขยายฐานการผลิตมายังประเทศไทยมากขึ้น ผ่านการจัดตั้งหรือร่วมลงทุนในโรงงานภายในประเทศมาตั้งแต่เมื่อครั้งโดนัลด์ ทรัมป์ ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรก โดยปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้เกิดแนวโน้มนี้ส่วนหนึ่งมาจากสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ 

จนถึงปัจจุบัน สงครามค้าระหว่างสองประเทศมหาอำนาจ ยังคงมีอย่างต่อเนื่องเมื่อทรัมป์ นั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีสมัยที่สอง ประกาศขึ้นภาษีสินค้าทุกชนิดจากจีนในอัตรา 10% ในขณะที่จีนโต้กลับ ประกาศเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าบางรายการจากสหรัฐ ในอัตรา 15% สำหรับถ่านหินและก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) และอัตรา 10% สำหรับน้ำมันดิบ อุปกรณ์ทางการเกษตร และรถยนต์บางรุ่น

โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์นี้ นับเป็นการเปิดฉากสงครามการค้ารอบใหม่ระหว่างสองชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้จีนต้องขยายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่น ๆ พร้อมทั้งแสวงหาตลาดใหม่ ๆ
 

ประเทศไทยเป็นประเทศที่ได้รับการลงทุนจากจีนมาต่อเนื่อง ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI ระบุว่า มูลค่าการลงทุนโดยตรงจากจีนในภาคการผลิตของไทยเติบโตกว่า 6 เท่า ภายในระยะเวลาเพียง 7 ปี โดยเพิ่มขึ้นจาก 5,547 ล้านบาท ก่อนสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ เป็น 38,401 ล้านบาท ในปี 2566 สะท้อนให้เห็นว่าไทยมีบทบาทสำคัญในฐานะจุดยุทธศาสตร์สำคัญสำหรับการขยายฐานการผลิตของจีน 

โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่จีนมีความได้เปรียบ เช่น พลาสติก โลหะ อุปกรณ์ไฟฟ้า เครื่องจักร ยานยนต์ และเคมีภัณฑ์ ที่ไทยมีการพึ่งพาจากจีนสูง รวมถึงกลยุทธ์การย้ายฐานการผลิตของจีนเพื่อลดผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าของชาติตะวันตก และสิทธิประโยชน์จาก BOI ยังผลักดันให้จีนขยายฐานการผลิตมายังประเทศไทยมากยิ่งขึ้น 

หมดยุค “ทุนใหญ่กินทุนเล็ก” มีแต่ “ปลาเร็วกินปลาช้า” 

ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน กล่าวว่า ตั้งแต่หลังวิกฤตโควิดเป็นต้นมาพบจำนวนนักลงทุนจากจีนเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งผ่าน BOI และไม่ได้ผ่าน BOI และมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นไปอีกในปีนี้ ส่วนหนึ่งเพราะจีนถูกกดดันจากสหรัฐฯ จึงมีความพยายามจะกระจายตลาด ขยายการลงทุนออกนอกประเทศ และพยายามใช้ฐานต่างประเทศในการผลิตเพื่อการส่งออกไปยังสหรัฐฯ

อีกสาเหตุคือเมืองจีนขณะนี้ ต้นทุนการดำเนินธุรกิจสูง เพราะว่ามาตรฐานการดำรงชีพสูงขึ้นเรื่อย ๆ เศรษฐกิจโตขึ้นเรื่อย ๆ ถ้าเทียบกับสมัยก่อนค่าจ้างแรงงานไทยสูงกว่าแรงงานจีน แต่ ณ วันนี้ค่าจ้างแรงงานไทยถูกกว่า ก็เลยกลายเป็นโอกาสที่เขาได้ใช้ประโยชน์จากการผลิตในไทย 

ดร.ไพจิตร กล่าวต่อว่า การลงทุนจากจีน ส่วนใหญ่จะลงทุนในอุตสาหกรรมที่มีความเป็นเทคโนโลยีทันสมัยภายใต้กลยุทธ์ Made in China 2025 ซึ่งมีอยู่ 10 อุตสาหกรรมหลัก เช่น สารสนเทศ เครื่องจักรกลและหุ่นยนต์ อุปกรณ์อากาศยาน การต่อเรือขั้นสูง รถไฟ ขั้นสูง รถยนต์พลังงานใหม่ อุปกรณ์พลังงาน เครื่องจักรการเกษตร การผลิตวัสดุชนิดใหม่ และยาชีวภาพและอุปกรณ์ การแพทย์ขั้นสูง เป็นต้น อุตสาหกรรมเหล่านี้ทยอยออกไปลงทุนต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น แต่ไทยเสียโอกาสอย่างหนึ่งคือ เมื่ออุตสาหกรรมเหล่านี้เข้ามาในบ้านเรา แต่เราไม่มีทรัพยากรที่เพียงพอ ทั้งด้านปริมาณ และคุณภาพ 

โรงงานได้รับลงทุนจากจีน 179 แห่ง

ทั้งนี้ข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และกรมโรงงานอุตสาหกรรม ยังพบว่า ในปี 2567 มีการตั้งโรงงานที่ได้รับการลงทุนจากจีนกว่า 179 แห่ง และเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนการตั้งโรงงานในช่วงเวลาเดียวกันปีก่อนหน้าพบว่ามีอัตราการเพิ่มขึ้นของจำนวนการตั้งโรงงานที่มีจีนลงทุนมากถึง 164% ซึ่งนับว่าสูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับโรงงานอื่นๆ ที่ไม่มีการลงทุนจากจีน 

รวมถึงเม็ดเงินการลงทุนในโรงงานจากจีนที่เพิ่มสูงขึ้นกว่า 11,387 ล้านบาท สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มที่จีนให้ความสำคัญกับตลาดไทยมากขึ้นทั้งในด้านการรองรับสินค้านำเข้าจากจีน และโอกาสที่จะเติบโตในภาคอุตสาหกรรม รวมถึงการใช้ไทยเป็นฐานการผลิตสำหรับการส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศ
 


การลงทุนจากจีนในโรงงานของไทยส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในอุตสาหกรรมที่จีนได้เปรียบและไทยมีการพึ่งพาสินค้าจากจีนสูง ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มการลงทุนโดยตรงจากจีนและข้อมูลการอนุมัติส่งเสริมการลงทุน (BOI) ของไทยที่แสดงให้เห็นถึงการเติบโตทั้งในแง่มูลค่าการลงทุนและจำนวนโครงการ 

โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมการผลิตพลาสติก และโลหะที่มีจำนวนการตั้งใหม่ของโรงงานที่มีการลงทุนจากจีนมากที่สุด รวมถึงการผลิตสินค้าประเภทเครื่องจักร อุปกรณ์ไฟฟ้า ยานยนต์ และเคมีภัณฑ์ ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าที่มีโอกาสสูงที่จะเป็นสินค้าทะลักจากประเทศจีน

ปี 2569 เตรียมรับนโยบายผลิตยุคใหม่

ทั้งนี้ ดร.ไพจิตร กล่าวต่อว่า ทิศทางในอนาคตจากนี้ไป เชื่อว่านักลงทุนจีน จะมีการต่อยอดการลงทุนจาก 10 อุตสาหกรรมพื้นฐานภายใต้ Made in China ที่จะสิ้นสุดในปีนี้ เพราะฉะนั้นปีหน้าจีนจะเริ่มต้นนโยบายด้านการผลิตยุคใหม่มากขึ้นที่ไทยอาจตามไม่ทัน เช่น จีนมี  5G Automotive Association (5GAA) องค์กรข้ามอุตสาหกรรมระดับโลกของบริษัทต่างๆ จากอุตสาหกรรมยานยนต์ เทคโนโลยี และโทรคมนาคม ฉะนั้นนโยบายใหม่ด้านการผลิตของเขา เขากำลังพูดถึงเรื่องควอนตัม, เอไอพลัส พูดถึงเรื่อง Super Big Data บล็อกเชน ซึ่งเป็นอีกระดับความเร็วในการพัฒนานวัตกรรมของจีน 

แล้วไทยจะทำอย่างไร? 

เราก็ต้องพยายามยกระดับความเร็วของเราให้ใกล้เคียงกับจีน ไม่ได้หมายความว่าเราจะไปทาบชั้นจีน แต่อย่าให้จีนทิ้งห่างเราไปมากกว่านี้ ในเชิงของระดับการพัฒนา ไม่เช่นนั้นไทยจะเสียโอกาส เพราะไทยไม่ใช่ประเทศเดียวที่จีนอยากจะไปลงทุน วันนี้จีนออกไปลงทุนทั่วโลก เพราะฉะนั้นเป็นจังหวะโอกาสไทยก็จะต้องเตรียมโครงสร้างพื้นฐาน คน แก้ไขกฏระเบียบ แก้ไขปัญหาคอรัปชั่นต่าง ๆ ให้ดี สุดท้ายทั้งหมดนี้จะกลายเป็นปัจจัยสำคัญ ทำให้ไทยสามารถดึงดูดการลงทุนเข้ามา

ความเร็วคือส่วนที่ทำให้จีนเติบโตอย่างก้าวกระโดดรวดเร็ว สมัยก่อนการลงทุนอาจคิดเรื่องความประหยัด แต่จีนเป็นประเทศใหญ่ ประชากรเยอะ สมัยก่อนจีนไม่ได้เจริญมาก ภาคอุตสาหกรรมจึงไม่ได้เน้นแค่ความใหญ่โต แต่เน้นความเร็ว มีความคิดว่าทำอย่างไรถึงจะหาโอกาสด้านตลาดได้ ทำให้แปลกแตกต่าง ดีกว่า ลักษณะนี้ทำให้จีนโตอย่างรวดเร็ว 

ไทยก็ต้องระวัง เพราะยังติดกับดักกับคำว่า “ทุนใหญ่ กินทุนเล็ก” ตอนนี้มีแต่ “ปลาเร็ว กินปลาช้า” 

อย่างไรก็ตามการย้ายฐานการผลิตจากจีนอาจส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทย ทั้งในแง่บวกและลบ ด้านหนึ่ง อาจดึงดูดเงินลงทุน เทคโนโลยี และเพิ่มความหลากหลายของสินค้า แต่ในขณะเดียวกัน ก็นำมาซึ่งการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น แรงกดดันด้านราคา และความเสี่ยงต่อภาพลักษณ์สินค้าไทย

ด้วยเหตุนี้ ภาคธุรกิจและภาครัฐควรร่วมมือกันกำหนดมาตรการรับมืออย่างเหมาะสม เพื่อปกป้องผลประโยชน์และเสริมความสามารถในการแข่งขันของไทย