posttoday

ดัชนีความเชื่อมั่น SME ภาคการผลิตต่ำสุดในรอบ 6 เดือน ครั้งแรก

31 มีนาคม 2568

ดัชนี SMESI ก.พ. 68 อยู่ที่ระดับ 52.1 ภาคบริการหดตัว จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ต่ำกว่าเป้า ภาคเกษตรเผชิญราคาผันผวน-ต้นทุนสูง

นางสาวปณิตา ชินวัตร รองผู้อำนวยการสำนักงาน รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME (SMESI) ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2568 อยู่ที่ระดับ 52.1 ปรับลดลงจากระดับ 53.1 ในเดือนก่อนหน้า โดยหดตัวลงอย่างชัดเจน จากภาคการผลิตที่ความเชื่อมั่นปรับตัวต่ำกว่าค่าฐานครั้งแรกในรอบ 6 เดือน

สาเหตุมาจาก การปรับลดกำลังการผลิต รวมถึงความเชื่อมั่นด้านการลงทุนและการจ้างงานที่ปรับลดลงชัดเจน ในสาขาการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค สาขาการผลิตอาหารและเครื่องดื่ม และสาขาการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในครัวเรือน เช่นเดียวกับ ภาคการบริการและภาคการเกษตรที่ความเชื่อมั่นปรับลดลงจากเดือนก่อนหน้า 

อย่างไรก็ตาม ภาคการค้า ค่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 54.5 จากระดับ 52.2 ซึ่งได้รับแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านกลุ่มผู้สูงอายุ (เงินดิจิทัล 10,000 บาท ระยะที่ 2) ที่ช่วยเพิ่มกำลังซื้อของผู้บริโภค ส่งผลให้ธุรกิจค้าปลีกและสินค้าอุปโภคบริโภค มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นในระยะสั้น 

ดัชนีความเชื่อมั่น SME ภาคการผลิตต่ำสุดในรอบ 6 เดือน ครั้งแรก

เมื่อพิจารณาตามองค์ประกอบของดัชนี พบว่า ส่วนใหญ่ปรับตัวลดลง โดยด้านคำสั่งซื้อโดยรวมปรับตัวลดลงจากระดับ 62.0 เป็นระดับ 58.8 ซึ่งสอดคล้องกับด้านปริมาณการผลิต/การค้า/การบริการ ปรับตัวลดลงจาก 57.5 เป็นระดับ 56.0 และด้านการลงทุนโดยรวมปรับตัวลดลงจาก 51.4 เป็นระดับ 50.6 

เนื่องจากปริมาณคำสั่งซื้อลดลง การปรับลดกำลังการผลิต ไม่มีการลงทุนเพิ่ม จึงส่งผลให้ด้านกำไรปรับลดลงจากระดับ 57.9 เป็นระดับ 56.3 ขณะที่ด้านการจ้างงานทรงตัวจากระดับ 50.4 เป็นระดับ 50.5 และด้านต้นทุนรวม (ต่อหน่วย) ปรับเพิ่มขึ้นจาก 39.3 เป็นระดับ 40.7

ความเชื่อมั่นภาคการผลิต อยู่ที่ระดับ 47.9 ปรับตัวลดลงจากระดับ 51.3 โดยระดับความเชื่อมั่นต่ำกว่าค่าฐานสะท้อนถึงความกังวลต่อสภาวะทางเศรษฐกิจ ผู้ประกอบการเริ่มลดกำลังการผลิตและชะลอการลงทุน ทั้งในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคและกลุ่มอุตสาหกรรม เช่น ยาง พลาสติก และโลหะ ตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจของคู่ค้าที่ชะลอตัว 

ภาคธุรกิจการเกษตร อยู่ที่ระดับ 50.5 ปรับตัวลดลงจากระดับ 53.4 มีสาเหตุจากปริมาณผลผลิตที่เริ่มลดลงหลังฤดูเก็บเกี่ยวพืชไร่ และแนวโน้มราคาผลไม้ที่ปรับลดลง อย่างไรก็ตาม ภาคใต้ยังได้แรงหนุนจากการเก็บเกี่ยวปาล์มน้ำมันและยางพารา 

ภาคบริการ อยู่ที่ระดับ 53.4 ปรับตัวลดลงจากระดับ 55.0 ซึ่งชะลอตัวลงจากธุรกิจท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลง ขณะที่บริการก่อสร้างได้แรงหนุนจากโครงการภาครัฐ และบริการซ่อมบำรุงปรับตัวดีขึ้นตามความต้องการซ่อมแซมเครื่องปรับอากาศ ในทางกลับกัน 

ภาคการค้า อยู่ที่ระดับ 54.5 ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 52.0 ฟื้นตัวจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจกลุ่มผู้สูงอายุ (เงินดิจิทัล 10,000 บาท ระยะที่ 2) โดยเฉพาะธุรกิจค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภค ขณะที่ธุรกิจค้าวัสดุก่อสร้างปรับตัวดีขึ้นตามโครงการก่อสร้างภาครัฐ

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME (SMESI) คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องสู่ระดับ 55.6 จากระดับ 54.9 ที่ได้คาดการณ์ไว้ในเดือนก่อนหน้า โดยระดับความเชื่อมั่นปรับตัวดีขึ้นจากทั้ง 5 องค์ประกอบ

ด้วยความหวังเชิงบวกกับมาตรการเงินดิจิทัล 10,000 บาท ระยะที่ 3 โดยเฉพาะกับผู้ประกอบการภาคการค้า ที่คาดหวังการกระตุ้นกำลังซื้อในพื้นที่จากมาตรการรัฐ

อย่างไรก็ตาม องค์ประกอบด้านปริมาณการผลิต และการบริการยังถูกกดดันจากผู้ประกอบการในภาคการบริการ และภาคการเกษตร จากการเข้าสู่ช่วง Low Season ของการดำเนินธุรกิจ