“เอกนัฎ พร้อมพันธุ์” โชว์วิสัยทัศน์ปฎิรูป SMEs สู่ อุตสาหกรรม 5.0
สร้างความเท่าเทียมการแข่งขัน ชู AI ป้องนำเข้าสินค้าไม่ได้มาตรฐานเข้าประเทศ สร้างภาษีหน้าร้านและผู้ค้าออนไลน์ต่างประเทศ อยู่บนมาตรฐานเดียวกัน
นายเอกนัฎ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ท่ามกลางปัญหา อุปสรรคต่างๆ ที่บั่นทอนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ แต่วันนี้ประเทศไทยยังมีโอกาสพลิกฟื้นภาวะเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง ด้วยการยกระดับอุตสาหกรรมไทยสู่อุตสาหกรรม 5.0
ด้วยการอาศัยความได้เปรียบด้านความหลากหลายทางชีวภาพและความหลากหลายทางวัฒนธรรม ควบคู่กับโครงสร้างพื้นฐานที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งต้องนำมาเป็นจุดแข็งเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทย โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้กำหนดนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ชัดเจน เพื่อสร้างโอกาสและสร้างการเจริญเติบโตให้กับภาคอุตสาหกรรม โดยใช้หัวและใจในการทำงานเพื่อมุ่งสู่ “การปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ทันสมัย สะอาด สะดวก โปร่งใส” หรือนโยบาย 3 ปฏิรูป 3 แนวทาง
1 ใน 3 นโยบายปฏิรูป นั้น คือ การสร้างความเท่าเทียมในการแข่งขันของ SMEs ไทย ด้วยการปกป้องและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันผู้ประกอบการไทย เช่น การป้องกันการนำเข้าสินค้าไม่ได้มาตรฐาน โดยสร้างความเท่าเทียมด้านกฎระเบียบและภาษีระหว่างร้านค้าที่มีหน้าร้านในไทย ผู้ประกอบการออนไลน์ที่อยู่ในไทย โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs และผู้ประกอบการออนไลน์ต่างประเทศ
ยกตัวอย่างการดำเนินงานที่กระทรวงฯ กำลังเร่งผลักดัน คือ การใช้ Big Data และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ AI ตรวจจับสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานใน E-Commerce ของประเทศ การแก้กฎระเบียบ/บังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียมในการตรวจสอบมาตรฐานสินค้า กระบวนการผลิตสินค้าและวัตถุอันตรายและการนำเข้าที่ต้องควบคุมเป็นการทั่วไปในเขต Free Zone
การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยผลักดันมาตรการ “Made in Thailand” และ “SME GP” ส่งเสริม SMEs และสตาร์ทอัพให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน เทคโนโลยีและความรู้
ส่วนอีก 2 นโยบายปฏิรูป ได้แก่ การจัดการกากสารพิษ ที่ทำร้ายชีวิตประชาชน โดยการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมทั้งระบบ เพื่อคืนน้ำสะอาด อากาศบริสุทธิ์ให้ประชาชน เช่น การแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 จากการเผาอ้อยในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย
รวมถึงนโยบายการปฎิรูป การสร้างอุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะมุ่งเน้นอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การแปรรูปเกษตรมูลค่าสูง เครื่องมือแพทย์ ป้องกันประเทศ และอุตสาหกรรมพื้นฐานที่สำคัญ
สำหรับ 3 แนวทาง ภายใต้นโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรม ได้แก่
แนวทางที่ 1 สร้างความร่วมมือ พันธมิตร ห่วงโซ่อุตสาหกรรมที่สมบูรณ์แบบ เพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปอุตสาหกรรม โดยการปรับมาตรการและสิทธิประโยชน์เพื่อดึงดูดการลงทุน ส่งเสริมอุตสาหกรรมของประเทศไทยให้สามารถเข้าเป็นส่วนหนึ่งในห่วงโซ่มูลค่าของอุตสาหกรรมหลักต่าง ๆ ของโลก
แนวทางที่ 2 สร้าง Ease of Doing Business เช่น การปรับกฎหมายและภารกิจเข้าสู่ภาครัฐดิจิทัล โดยการให้บริการผ่านระบบออนไลน์ แบบ One Stop Service ได้แก่ ระบบขออนุมัติ/อนุญาต (e-License) ระบบกำกับดูแล (e-Monitoring) ระบบรับชำระเงิน (e-Payment) และระบบรายงานข้อมูล (e-Report) รวมถึงการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
แนวทางที่ 3 จัดตั้งกองทุนเพื่อการปฏิรูปอุตสาหกรรมเพื่อความยั่งยืน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพบุคลากรทั้ง Hard Skills และ Soft Skills โดยเฉพาะกำลังคนกลุ่มเป้าหมายที่อยู่ในสายอาชีพและอาชีวศึกษา บุคลากรภาคอุตสาหกรรมและบุคลากรศักยภาพสูง เช่น นักพัฒนาเทคโนโลยีผู้เชี่ยวชาญทักษะ STEM เพื่อเตรียมพร้อมในการปรับตัวสู่การทำงานร่วมกับ AI ในยุคของการปฏิรูปอุตสาหกรรม
ประเทศเราจำเป็นต้องมีการปฏิรูปครั้งใหญ่ เพื่อยกระดับภาคอุตสาหกรรมภายใต้บริบทความท้าทายในยุคอุตสาหกรรม 5.0 ที่มีความซับซ้อนทางเทคโนโลยีมากขึ้น
ดังนั้น ภารกิจใหญ่ของกระทรวงอุตสาหกรรมที่ไม่สามารถทำให้แล้วเสร็จได้เพียงข้ามคืน และไม่สามารถทำได้เพียงลำพัง แต่จำเป็นต้องมีการสานพลังจากทุกภาคส่วน ซึ่งจะเป็นพลังหนึ่งที่สำคัญอย่างมากที่ช่วยผลักดันให้ประเทศไทยสามารถก้าวสู่ประเทศที่มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน