posttoday

ธุรกิจอาหารแข่งเดือด แบรนด์จีนรุกหนัก พัฒนาเมนูโดนใจคนไทย

02 เมษายน 2568

CRG ชี้ตลาดอาหารแข่งเดือดทุกปี โดยเฉพาะแบรนด์จีนรุกหนักครอบคลุมทุกประเภทอาหาร-เครื่องดื่ม ได้เปรียบจาก economies of scale ในประเทศ พัฒนาเมนูถูกใจคนไทยได้ดีกว่า

ธุรกิจอาหารเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันสูงและรุนแรงทุกปี โดยมีแบรนด์ใหม่ ๆ เข้าสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นธุรกิจที่ทำง่ายแค่เปิดร้านเล็ก ๆ ก็สามารถทำได้ หากทำได้ดีก็เป็นโอกาสทำให้ธุรกิจเติบโต จึงเป็นเหตุผลทำให้แต่ละสัปดาห์มักจะมีแบรนด์ใหม่ ๆ เข้ามาชิงตลาด หากเป็นแบรนด์ใหญ่คาดว่ามีไม่ต่ำกว่าสัปดาห์ละ 2 แบรนด์

 

ยังไม่รวมแบรนด์ร้านอาหารจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจีน ที่ในช่วง 2-3 ปีมานี้ ธุรกิจจีนบุกไทยอย่างหนัก แบรนด์เครื่องดื่มชานมไข่มุก ชาผลไม้ รวมถึงร้านชาบูหม่าล่า ไก่ทอด แฮมเบอร์เกอร์ ฯลฯ นับว่าเป็นที่จับตามองไม่น้อย 

 

ณัฐ วงศ์พานิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด (CRG) เปิดเผยถึงภาพรวมภาพรวมอุตสาหกรรมอาหารในประเทศไทยระบุว่า มีการคาดการณ์ว่าจะเกิด 8 เทรนด์สำคัญ คือ 

 

1.ภาพรวมตลาดธุรกิจร้านอาหารในปี 2568

คาดจะเติบโตอยู่ที่ราว 5-7% มูลค่ารวม 572,000 ล้านบาท จากช่วงโควิด-19 มูลค่าตลาดอาหารเดิมอยู่ที่ราวๆ 400,000 ล้านบาท ลดลงประมาณ 10% เหลือ 360,000 ล้านบาท (รวมทุกประเภท)

 

อย่างไรก็ตาม หลังจากสถานการณ์คลี่คลาย ตลาดกลับมาเติบโตอย่างรวดเร็ว สะท้อนให้เห็นว่าอุตสาหกรรมอาหารเป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจไทย สร้างรายได้และกระตุ้นการหมุนเวียนของเงินในระบบ

2.แบรนด์ร้านอาหารหน้าใหม่ยังคงตบเท้าเข้าสู่ตลาดอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะอยู่รอดในตลาดหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับความแข็งแกร่ง และการบริหารจัดการในระยะยาว 

 

แบรนด์ปิดตัวเยอะ แต่แบรนด์ที่ปิดตัวบางทีเราไม่ค่อยเห็นและไม่ค่อยรู้ ในขณะเดียวกัน ตลาดก็ยังคงคึกคักด้วยการเปิดตัวแบรนด์ใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยแทบทุกสัปดาห์จะมีแบรนด์ใหม่เกิดขึ้น และในบางสัปดาห์อาจมีมากกว่า 2 แบรนด์เข้าสู่ตลาดพร้อมกัน

 

3.การวางแผนรับมือกับความท้าทายในอุตสาหกรรมอาหาร ที่ต้องแข่งขันกับแบรนด์เกิดใหม่ และแบรนด์จากต่างประเทศ 


4.แนวโน้มความนิยมสินค้าหรือการบริการในระดับพรีเมี่ยมที่เพิ่มสูงขึ้น ลูกค้ายอมจ่ายแพงเพื่อแลกกับคุณภาพที่ดีกว่า ไม่ว่าจะเป็น วัตถุดิบ หรือ แพคเกจจิ้ง 

 

ปัจจุบันร้านอาหารราคาแพง ลูกค้าให้การตอบรับดีมาก และนั่นทำให้ก๋วยเตี๋ยวชามละหลายร้อยบาท หรือข้าวมันไก่ จานละ 200 บาท มีผู้คนเข้าคิว ลิ้มลองรสชาติ

 

5.วงจรของแบรนด์สินค้าจะมีอายุที่สั้นลง เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป เบื่อง่าย เปิดใจทดลองอาหารหรือการบริการใหม่อยู่ตลอดเวลา 

 

“การทำร้านอาหาร ไม่ใช่แค่ราคาถูก หากคุณภาพดี คอนเซปต์โดนใจ ราคาที่ใช่ ก็ตอบรับดี"

 

6.แบรนด์ต้องปรับตัวให้เข้ากับทุกสถานการณ์ ทันกระแส และวางแผนการสื่อสารได้อย่างถูกต้องเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในทุกแพลตฟอร์ม      

 

แบรนด์เก่าแก่ต้อง “ปรับตัว” ชุบชีวิตชีวา สร้างแบรนด์ให้สดใส สดชื่นอีกครั้ง เพื่อให้เติบโตอย่างยั่งยืน เช่น เคเอฟซี น้ำอัดลมยักษ์ใหญ่ ยืนหนึ่งยาวนานในตลาดโลก

 

7.ทางรอดของแบรนด์คือการพัฒนาแบบไม่หยุดนิ่ง ปรับเปลี่ยนรูปแบบใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา 

 

8.ความท้าทายในเรื่องการบริหารจัดการค่าแรงพนักงาน ต้นทุนวัตถุดิบที่มีแนวโน้มขยับตัวสูงขึ้นกว่าปีก่อน 

 

ผู้บริโภคเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเร็ว แบรนด์ต้องพร้อมปรับตัว ว่องไว

 

ณัฐ กล่าวต่อว่า การที่แบรนด์ใหม่เข้าสู่ตลาดต้องใช้เวลาในการสร้างการรับรู้ แม้บางแบรนด์จะเปิดตัวอย่างคึกคัก แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็เงียบหาย บางแบรนด์เติบโตอย่างรวดเร็วและจากไปอย่างรวดเร็ว ขณะที่บางแบรนด์สามารถสร้างความนิยมและยืนหยัดอยู่ในตลาดได้ 

 

ต้องยอมรับว่า เทรนด์ผู้บริโภคในปัจจุบันสามารถเข้าถึงร้านค้าและสื่อต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้นผ่านช่องทางออนไลน์ และบริการเดลิเวอรี่ ทุกอย่างเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ดังนั้น ในการทำธุรกิจจึงต้องมีความว่องไวและพร้อมปรับตัวตลอดเวลา

 

แบรนด์จีนรุกตลาดไทยหนัก ได้เปรียบจาก economies of scale ในประเทศ

 

ขณะเดียวกัน ตอนนี้ แบรนด์จีนบุกตลาดไทยอย่างต่อเนื่อง ไม่ได้จำกัดแค่สินค้าอาหาร แต่ครอบคลุมทุกหมวดหมู่ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องดื่ม ชาบู หม่าล่า หรือไก่ทอด ซึ่งต้องยอมรับว่าพวกเขามีความสามารถสูง ทั้งในด้านระบบบริหารจัดการ และการพัฒนาอาหารที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคชาวไทยได้ดี 

 

นอกจากนี้ ยังได้เปรียบจาก economies of scale ภายในประเทศ หรือต้นทุนต่อหน่วยที่ลดลงเมื่อการผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากสามารถกระจายต้นทุนคงที่ (fixed cost) ไปยังสินค้าจำนวนมาก และสามารถซื้อวัตถุดิบในปริมาณมากขึ้น ทำให้ได้ราคาต่อหน่วยที่ถูกลงทำให้สามารถตั้งราคาสินค้าได้ต่ำกว่าคู่แข่ง

 

ไม่เพียงแค่ธุรกิจอาหาร ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ จากจีนก็ขยายตัวในไทยอย่างรวดเร็ว

 

ซึ่งการเข้ามาเข้าแบรนด์จีน ณัฐ กล่าวว่า มองได้สองมุม ด้านหนึ่งเป็นทางเลือกผู้บริโภค แต่อีกด้านหนึ่งก็ทำให้ผู้ประกอบการไทยต้องเร่งปรับตัวและแข่งขันอย่างหนัก มิฉะนั้นอาจถูกแบรนด์จีนเข้ามาแทนที่

 

ธุรกิจอาหารเปิดง่าย 

 

โดยสรุปแล้ว ธุรกิจอาหารเป็นธุรกิจที่เริ่มต้นได้โดยใช้เงินลงทุนไม่สูงนัก ทำให้หลายคนสามารถเข้ามาเปิดร้านอาหาร เช่น ร้านข้าวผัดกะเพรา หรือก๋วยเตี๋ยว ได้ง่าย ส่งผลให้การแข่งขันในตลาดดุเดือดขึ้น

 

อย่างไรก็ตามนอกจากเงินลงทุนแล้ว ความรู้ (know-how) และประสบการณ์ในการบริหารธุรกิจ ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้สามารถแข่งขันและอยู่รอดในตลาดได้

 

ทุกปีๆ มองว่ามีการแข่งขันดุเดือดตลอด ผู้ประกอบการ ธุรกิจ SME จะต้องปรับตัว เพราะจะมีรูปแบบใหม่ๆ เข้ามาตลอดเวลา เช่น หลัง ๆ การใช้ชีวิตคนเดียว (solo economy) เพิ่มมากขึ้น จากเมื่อก่อนรวมกลุ่มกันใหญ่ ๆ กลายเป็นชาบูหม้อเดียว แฟมิลี่เล็กลงเรื่อย ๆ ก็ต้องดูแลเลย์เอ้าท์ใหม่ 

 


ส่วนกำลังซื้อคน ไม่อยากพูดว่ากำลังซื้อของคนตก ผมมองว่ากำลังซื้อคนยังพอมี ไม่อยากมองในแง่ลบ มาตรการกระตุ้นของรัฐ บางส่วนยังใช้ได้ในมุมมองของผม เพราะคนยังต้องกิน ยังต้องจับจ่ายใช้สอย ในแง่ของอาหาร มาตรการพวกนี้ช่วยขึ้นมาได้

 

แต่สิ่งที่น่ากังวลคือโรงงาน ถ้าหากไปไม่รอด ปิดตัวลงเยอะอาจจะมีผลบ้าง คนอาจไม่มีเงิน ร้านระดับกลาง ๆ อาจจะมีผลกระทบแต่ยังไม่มาก แต่ทั้งนี้ผมคิดว่ากำลังซื้อของคนในกลุ่มร้านอาหารยังพอไปได้