CREDIT ออกสินเชื่อ SME กล้าสู้ หนุนผู้ประกอบการฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจ
CREDIT เปิดตัวสินเชื่อ "SME กล้าสู้" เงื่อนไขยืดหยุ่นหนุนผู้ประกอบการฝ่าวิกฤต ตั้งเป้ายอดปล่อยสินเชื่อใหม่ 1-1.5 หมื่นล้านบาท ดันพอร์ตคงค้างปีนี้โต 20% คุม NPL ที่ 3.7%
ผู้ประกอบการไมโครเอสเอ็มอี ถือเป็นฟันเฟืองสำคัญของเศรษฐกิจไทย แต่ยังคงต้องเผชิญกับข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้ธนาคารไทยเครดิต จำกัด (มหาชน) หรือ CREDIT ออก “สินเชื่อ SME กล้าให้” ในปี 2562 ด้วยความเข้าใจถึงความต้องการของผู้ประกอบการไมโครเอสเอ็มอีที่ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจครอบครัว ไม่มีแผนธุรกิจ และไม่มีงบการเงินที่ชัดเจน เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการเติบโตได้เต็มศักยภาพ
ล่าสุด ธนาคารเปิดตัวสินเชื่อ SME กล้าสู้ ผลิตภัณฑ์สินเชื่อธุรกิจแบบมีระยะเวลา (Term Loan) ใช้เงินฝากออมทรัพย์ของธนาคารไทยเครดิตเป็นหลักประกัน อนุมัติวงเงินสินเชื่อสูงสุด 5 เท่าของหลักประกันเงินฝาก สูงสุด 10 ล้านบาท สำหรับนิติบุคคล และสูงสุด 5 ล้านบาท สำหรับบุคคลธรรมดา
อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น MRR-3.05% ต่อปี (6.95% ต่อปี) ถึง MRR+17.95% ต่อปี (27.95% ต่อปี) ระยะเวลาการผ่อนชำระสูงสุด 12 ปี โดยผู้กู้ต้องมีประสบการณ์ในการทำธุรกิจตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป
ทั้งนี้ เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการไมโครเอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงเงินทุนในระบบภายใต้สภาวะคับขันทางเศรษฐกิจ และสามารถก้าวข้ามวิกฤตครั้งนี้เพื่อการเติบโตได้อย่างยั่งยืน
นายรอยย์ ออกุสตินัส กุนารา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร CREDIT เปิดเผยว่า ทิศทางการดำเนินธุรกิจในปี 2568 ธนาคารมีแผนขับเคลื่อนองค์กรเพื่อเดินตามพันธกิจที่วางไว้ ผ่านกลยุทธ์สำคัญใน 2 ด้าน ได้แก่ 1. การเติบโตของสินเชื่อหลัก 2. Digital Transformation โดยเชื่อมั่นว่า “สินเชื่อ SME กล้าให้” จะเป็นผลิตภัณฑ์หลักในการขับเคลื่อนให้ธนาคารสามารถก้าวไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ได้
ทั้งนี้ ในปี 2568 ธนาคารตั้งเป้าหมายยอดปล่อยสินเชื่อใหม่รวม 60,000 ล้านบาท เติบโตในอัตราตัวเลขสองหลัก จากปี 2567
สำหรับสินเชื่อ SME กล้าให้ ในปี 2568 ธนาคารได้ขยายเพดานวงเงินสูงสุดเป็น 50 ล้านบาท จากเดิม 35 ล้านบาท และไม่เกิน 2 เท่าของมูลค่าประเมินหลักประกัน
โดยสามารถใช้ที่ดินเปล่า ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ห้องชุดพักอาศัย หรือเงินฝาก เป็นหลักประกัน อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น MRR-4.55% ต่อปี (5.45% ต่อปี) ถึง MRR+3.20% ต่อปี (13.20% ต่อปี) ระยะเวลาการผ่อนชำระสูงสุด 12 ปี โดยผู้กู้ต้องมีประสบการณ์ในการทำธุรกิจตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป เพื่อสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจไมโครเอสเอ็มอีอย่างเต็มศักยภาพ
ตลอดระยะเวลา 6 ปี สินเชื่อ SME กล้าให้ มีการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง มีส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จาก 2% ในปี 2562 ขยายตัวเป็น 8% ในปี 2567
ขณะเดียวกัน ยอดการปล่อยสินเชื่อใหม่ (New Booking Volume) ของสินเชื่อในกลุ่มไมโครเอสเอ็มอี ตั้งแต่ปี 2562-2567 รวมกว่า 180,000 ล้านบาท คิดเป็นจำนวนเคสในการปล่อยสินเชื่อรวมมากกว่า 28,000 เคส
พอร์ตสินเชื่อกลุ่มไมโครเอสเอ็มอี (Loan Balance) มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยสะสมต่อปี (CAGR) ระหว่างปี 2562-2567 อยู่ที่ 26.9% ปัจจุบันพอร์ตสินเชื่อกลุ่มไมโครเอสเอ็มอีของธนาคารมีมูลค่ามากกว่า 110,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ ตลอดระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมา ธนาคารสามารถควบคุมและบริหารความเสี่ยงได้ค่อนข้างเป็นที่น่าพอใจ สะท้อนการเติบโตของพอร์ตสินเชื่อกลุ่มไมโครเอสเอ็มอีของธนาคารที่มีการเติบโตอยู่ในระดับเลขสองหลักมาโดยตลอด
โดยในปี 2567 ธนาคารมีอัตราการเติบโตของพอร์ตสินเชื่อกลุ่มไมโครเอสเอ็มอีอยู่ที่ 12.8% จากปี 2566 และมีอัตราหนี้เสีย (NPL) อยู่ที่ 3.7% เมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมที่พอร์ตสินเชื่อธุรกิจ ประเภทวงเงินไม่เกิน 500 ล้านบาท หดตัว 5% และมี NPL อยู่ที่ 7.01%
“สิ่งที่ท้าทายที่สุดนอกเหนือจากการสร้างการเติบโตของพอร์ตสินเชื่อแล้ว คือการทลายกรอบเดิมๆ ของระบบการพิจารณาสินเชื่อ เพื่อขยายโอกาสในการเข้าถึงสินเชื่อให้ได้มากที่สุด โดยยังคงต้องอยู่ภายใต้กรอบการบริหารความเสี่ยงที่รัดกุม“
นายนาธัส กฤตวรานนท์ รองกรรมการผู้จัดการ กลุ่มบริหารธุรกิจไมโครเอสเอ็มอี CREDIT กล่าวว่า ในปี 2568 ธนาคารตั้งเป้าหมายสินเชื่อกลุ่มธุรกิจ SME ราว 50,000 ล้านบาท มาจาก "สินเชื่อ SME กล้าสู้" ราว 10,000-15,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลือมาจาก “สินเชื่อ SME กล้าให้” และคาดว่าจะรักษาระดับหนี้เสีย (NPL) ของกลุ่มสินเชื่อ SME ปีนี้ไว้ที่ 3.7%
รวมทั้งตั้งเป้าหมายพอร์ตสินเชื่อกลุ่มไมโครเอสเอ็มอีเติบโตประมาณ 20% จากสิ้นปี 2567 อยู่ที่ 110,000 ล้านบาท
สำหรับ “สินเชื่อ SME กล้าสู้” มีความยืดหยุ่นมากกว่า”สินเชื่อ SME กล้าให้” ช่วยทลายข้อจำกัดในการเข้าถึงสินเชื่อในระบบโดยธนาคารได้นำโมเดลการพิจารณาสินเชื่อแบบ Risk-based Pricing เข้ามาใช้เป็นครั้งแรกสำหรับกลุ่มลูกค้าไมโครเอสเอ็มอี โมเดลดังกล่าว จะช่วยผ่อนปรนให้ธนาคารสามารถพิจารณาสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการภายใต้เงื่อนไขการบริหารความเสี่ยงที่ยอมรับได้
“จากสภาพเศรษฐกิจที่การฟื้นตัวเป็นไปอย่างล่าช้าและการชะลอตัวของสินเชื่อใหม่ จากเกณฑ์การพิจารณาสินเชื่อที่เข้มงวดขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการไมโครเอสเอ็มอีหลายรายประสบปัญหาไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้ สินเชื่อ SME กล้าสู้ จะช่วยให้เข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น“
นอกจากนี้ ธนาคารยังมีแผนขยายจุดให้บริการลูกค้าธุรกิจไมโครเอสเอ็มอี โดยการเปิด Business Center ในจังหวัดที่เป็นศูนย์กลางธุรกิจ เพื่อให้ลูกค้าสามารถ เข้าถึงบริการสินเชื่อไมโครเอสเอ็มอีได้สะดวกและครอบคลุมยิ่งขึ้น