
เกิดอะไรขึ้น ‘เนสท์เล่’ กับ ‘มหากิจศิริ’ อยู่ด้วยกันมา 34 ปี ถึงวันเลิกลา
สะเทือนวงการธุรกิจ เมื่อคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลแพ่งมีนบุรี ให้ เนสท์เล่ หยุดทุกสายการผลิตของแบรนด์เนสกาแฟ พร้อมทั้งระงับการวางจำหน่ายในสินค้าล็อตใหม่ทันที
เหตุการณ์นี้เป็นผลมาจาก แนวคิดและการเจรจาไม่ลงตัวระหว่าง "เนสท์เล่" กับ "ตระกูลมหากิจศิริ" ถึงทิศทางการดำเนินงานของ บริษัท ควอลิตี้ คอฟฟี่ โปรดักท์ส จำกัด หรือ คิวซีพี (QCP) ที่ร่วมทุนกันมา 34 ปี จนถึงขั้นต้องขึ้นโรงขึ้นศาล
เหตุการณ์รักสะบั้นระหว่างธุรกิจที่อยู่กันมานานกลายเป็นกระแสถูกพูดถึงอย่างวงกว้าง สะเทือนทั้งคอกาแฟ ผู้ประกอบการร้านค้ารายย่อย ตลอดจนเกษตรกรต้นน้ำ
ย้อนดูเรื่องราวแรกพบของทั้งสอง
เนสกาแฟ คือแบรนด์กาแฟสำเร็จรูปที่คนไทยรู้จักและคุ้นเคยมาเป็นเวลาหลายสิบปี ไม่ว่าจะในรูปแบบกาแฟซองหรือกาแฟกระป๋องพร้อมดื่ม
เบื้องหลังแบรนด์ คือบริษัท เนสท์เล่ เอสเอ ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติสวิสที่เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า และเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการขยายตลาดไปทั่วโลก ทั้งในยุโรป อเมริกา และอีกหลายประเทศ จนกลายเป็นแบรนด์กาแฟระดับโลกที่ได้รับการยอมรับในวงกว้าง
สำหรับในประเทศไทย เนสท์เล่นำมาจำหน่ายในตั้งแต่ปี 2516 คงครองตำแหน่งแบรนด์กาแฟของผู้บริโภคมาอย่างต่อเนื่อง และในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาชื่อของ "ประยุทธ์ มหากิจศิริ" มักถูกเอ่ยถึงควบคู่กับแบรนด์เนสกาแฟมาโดยตลอด จนได้รับฉายาจากสาธารณชนว่า “เจ้าพ่อเนสกาแฟ” ด้วยบทบาทสำคัญของเขาในธุรกิจกาแฟ
แต่ทว่าในความเป็นจริงเขาไม่ใช่เจ้าของแบรนด์ และไม่เคยถือหุ้นในบริษัทเนสท์เล่แต่อย่างใด ...
แล้วเขาได้ฉายาเจ้าพ่อเนสกาแฟได้อย่างไร?
หากย้อนกลับไปเมื่อกว่า 50 ปีก่อน ประยุทธ์ เริ่มต้นเส้นทางในธุรกิจกาแฟจากศูนย์ เขาและเพื่อนร่วมอุดมการณ์ได้ร่วมกันตั้งบริษัทผลิตกาแฟขึ้นมา แม้ในเวลานั้นจะยังไม่มีทั้งความรู้และเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย เพราะอุตสาหกรรมกาแฟในประเทศไทยยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น
ด้วยความมุ่งมั่นที่จะยกระดับคุณภาพการผลิต ประยุทธ์จึงชักชวนให้ เนสท์เล่ เข้ามาร่วมถือหุ้นในบริษัท (ซึ่งตอนนั้นเนสท์เล่ เข้ามาดำเนินธุรกิจในไทยแล้ว)
ฝั่งของประยุทธ์ ตั้ง บริษัท ควอลิตี้ คอฟฟี่ โปรดักท์ส จำกัด (QCP) ขึ้นในปี 2532 เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตให้ตอบสนองต่อความต้องการของตลาดที่ขยายตัว และยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)
วันวานยังหวานอยู่
อย่างที่บอกว่าเนสท์เล่ เข้ามาในไทยก่อนหน้าจะร่วมมือกับมหากิจศิริ เนสท์เล่นำเข้าสินค้า เนสกาแฟ มาจำหน่ายในไทยตั้งแต่ปี 2516 แล้ว หลังจากคิวซีพีได้ BOI ประยุทธ์ได้ชักชวนเนสท์เล่เข้ามาถือหุ้นบริษัทเพื่อผลิตเนสกาแฟในไทยเอง โดยถือหุ้นคนละ 50%
ตอนนั้นประยุทธ์ถือเองทั้งหมด ไม่มีเพื่อนร่วมด้วย โดยเงื่อนไขในการร่วมมือกันคือต้องผลิต และขายภายใต้แบรนด์เนสกาแฟ และแบรนด์ของเนสท์เล่ที่ผลิตได้ทั้งหมดให้บริษัทเนสท์เล่ไทยเท่านั้นเพื่อนำไปขายในท้องตลาด
โดยระบบการผลิต เทคโนโลยี เครื่องจักรต่าง ๆ ที่ใช้ผลิตกาแฟสำเร็จรูปภายใต้คิวซีพี เป็นของเนสท์เล่ทั้งหมด แม้กระทั่งการลงไปช่วยเหลือเกษตรกรไทยในการพัฒนาพันธุ์กาแฟโรบัสต้าให้มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับของตลาดโลกได้ ก็เป็นองค์ความรู้ที่เนสท์เล่นำมาให้และทำงานร่วมกับเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟของไทย
ดังนั้นอำนาจในการควบคุมกระบวนการผลิตและบริหารโรงงานผลิตกาแฟของคิวซีพีนั้นจึงอยู่ภายใต้การตัดสินใจของเนสท์เล่ตามสัญญา
ส่วนบทบาทของประยุทธ์
เขาคือประธานบริษัทคิวซีพี และได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินเดือน ค่าตอบแทนประจำปี รวมทั้งได้รับส่วนแบ่งจากยอดขายเนสกาแฟส่วนหนึ่งของบริษัทคิวซีพีทุกปี รวมทั้งได้รับเงินปันผลจากกำไรของคิวซีพี
นอกจากนั้น เขายังเป็นผู้ติดต่อประสานงานกับภาครัฐและการออกงานสังคมและงานอีเวนท์ต่างๆ ของคิวซีพี และให้คำปรึกษาแนะนำจึงทำให้สาธารณชนเรียกเขาว่า “เจ้าพ่อเนสกาแฟ”
แต่ทว่าในช่วงหลังๆ ประยุทธ์ เจอมรสุมพายุซัดอยู่หลายรอบ โดยเฉพาะในเรื่องของการเมืองและทรัพย์สิน เขาจึงโอนหุ้นที่ตัวเองถืออยู่ในบริษัทไปให้ “เฉลิมชัย มหากิจศิริ” ลูกลูกชายของเขา สานต่อธุรกิจ และเขาถือหุ้นเพียง 3%
โครงสร้างผู้ถือหุ้นคิวซีพี
เมื่อมาดูโครงสร้างของคิวซีพีปัจจุบัน บริษัทมีทุนจดทะเบียน 500 ล้านบาท แบ่งเป็น 50 ล้านหุ้น โดยมีผู้ถือหุ้น 6 ราย ได้แก่
- นายเฉลิมชัย มหากิจศิริ ถือหุ้น 41.80% (20.9 ล้านหุ้น)
- เนสท์เล่ เอส.เอ สัญชาติสวิตเซอร์แลนด์ ถือหุ้น 30.00% (15 ล้านหุ้น)
- วิโทรปา เอส.เอ สัญชาติสวิตเซอร์แลนด์ ถือหุ้น 19.00% (9.5 ล้านหุ้น)
- นางสุวิมล มหากิจศิริ ถือหุ้น 5.00% (2.5 ล้านหุ้น)
- นายประยุทธ มหากิจศิริ ถือหุ้น 3.20% (1.6 ล้านหุ้น)
- บริษัท เนสท์เล่เทรดดิ้ง ประเทศไทย จำกัด ถือหุ้น 1.00% (0.5 ล้านหุ้น)
คณะกรรมการบริษัทประกอบด้วย 7 คน ได้แก่ นายประยุทธ มหากิจศิริ, นางสุวิมล มหากิจศิริ, นายเฉลิมชัย มหากิจศิริ, นางสาวอุษณา มหากิจศิริ, นายรามอน เมนดิวิล กิล, พันตำรวจโทกรวัชร์ ปานประภากร และนายสุวิทย์ คำดี
จากรักหอมหวาน เริ่มสะดุด
ก่อนหน้านี้ เนสท์เล่ ได้ตกลงที่จะให้ค่าเหนื่อยกับประยุทธ์จากการเป็นประธานคิวซีพี ตั้งแต่วันที่ทำสัญญาร่วมทุนเมื่อปี 2533 จนถึง 31 ธันวาคม 2555 แต่เมื่อครบกำหนดตามสัญญาร่วมทุนฉบับแรก มีสัญญาระยะสองเขายื่นร้องขอค่าเหนื่อยต่ออีก 12 ปีจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567
และในช่วงระยะสองนี้ได้นำมาสู่ความไม่ลงตัว
เนื่องจากเนสท์เล่ เปลี่ยนมือผู้บริหาร มีการปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ การจ่ายค่าตอบแทนให้ประยุทธ์ ดูเหมือนจะมีมูลค่ามาก หลายหมื่นล้านบาท มีการเปิดโต๊ะเจรจามาหลายรอบ เพื่อมิตรภาพและความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน เรื่องราวความขัดแย้งและจุดแตกหักสำคัญแม้จะไม่มีที่มาที่ไปที่ชัดเจน แต่ทุกอย่างเริ่มต้นในปี 2564 จากการที่เผยแพร่ออกไป ระหว่างนั้นมีการต่อสู้กันไปมาระหว่างเนสท์เล่และตระกูลมหากิจศิริ
ไทม์ไลน์มหากาพย์
ปี 2564 เนสท์เล่ตัดสินใจบอกเลิกสัญญากับคิวซีพี โดยได้แจ้งต่อศาลอนุญาโตตุลาการ และระหว่างช่วงเวลาการดำเนินการยุติสัญญาให้ทั้งสองฝ่ายเจรจาหารือในการดำเนินการ
ต่อมาในปี 2566 ตระกูลมหากิจศิริยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ด้วยข้อกล่าวหาที่เนสท์เล่คิดค่าธรรมเนียมเกินจริงไปถึง 3,000 กว่าล้านบาท
31 ธันวาคม 2567 ถือเป็นวันสิ้นสุดสัญญาตามที่ศาลอนุญาโตตุลาการกำหนด และให้ถือว่าการยุติสัญญามีผลสมบูรณ์ทางกฎหมาย
3 เมษายน 2568 เฉลิมชัย มหากิจศิริ หนึ่งในผู้ถือหุ้นในบริษัทคิวซีพี ได้ยื่นต่อศาลแพ่งมีนบุรี เพื่อให้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว โดยศาลแพ่งมีนบุรีได้ออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว "ห้ามมิให้เนสท์เล่ ผลิต ว่าจ้างผลิต จำหน่าย และนำเข้าผลิตภัณฑ์กาแฟสำเร็จรูป โดยใช้เครื่องหมายการค้า Nescafé ในประเทศไทย"
9 เมษายน 2568 เนสท์เล่ได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงพร้อมดำเนินการตามกฎหมาย และเตรียมยื่นคำร้องคัดค้านเพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวดังกล่าวต่อศาล พร้อมยื่นข้อมูลครบถ้วนแก่ศาลแพ่งมีนบุรีเพื่อการพิจารณาคำร้อง
หากสถานการณ์ยืดเยื้อ กระทบตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ
หนึ่งในผลกระทบแรกที่เห็นได้ชัดคือการสูญเสียรายได้จากการขายเนสกาแฟ ในประเทศไทย ซึ่งถือเป็นตลาดสำคัญของ เนสท์เล่
ปัจจุบันสินค้าที่วางจำหน่ายอยู่ในตลาดจะเป็นสินค้าที่ผลิตมาก่อนหน้านี้ หากสินค้าล็อตนี้หมดลงก็จะเกิดการขาดแคลนสินค้า
การขาดแคลนสินค้าอาจกระทบไปถึงผู้บริโภคในต่างประเทศด้วย เนื่องจากประเทศไทยเป็นฐานการผลิตหลักของ เนสกาแฟ สำหรับส่งออกไปยังตลาดโลก ผู้ประกอบการรายย่อย เช่น ร้านกาแฟขนาดเล็กและรถเข็นขายกาแฟที่ต้องพึ่งพาผลิตภัณฑ์ เนสกาแฟ ในการประกอบธุรกิจ
รวมถึงเกษตรกรไทยผู้ปลูกกาแฟมากกว่าครึ่งหนึ่งของผลผลิตทั้งหมดที่ปลูกในประเทศไทย และเกษตรกรโคนมจะไม่ได้รับโอกาสในการจำหน่ายผลผลิตเป็นวัตถุดิบให้กับ เนสกาแฟ
อย่างไรก็ตาม ต้องจับตาดูต่อไปว่า กรณีนี้จะสิ้นสุดอย่างไร เนสกาแฟจะยังคงผลิตและจำหน่ายในไทยได้ต่อหรือไม่ ในขณะที่ ปัจจุบัน เนสท์เล่ ได้วางแผนการลงทุนในประเทศไทยมากกว่า 22,800 ล้านบาท เพื่อขยายสายการผลิตสินค้าหลายประเภท รวมถึง เนสกาแฟ ด้วย