ไทยเฮ12ปีเพิ่มประชากรเสือโคร่งได้2เท่าตัว
ก.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจัดวันเสือโคร่งโลก เฮไทยเพิ่มประชากรเสือโคร่ง 2 เท่าใน 12 ปี
ก.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจัดวันเสือโคร่งโลก เฮไทยเพิ่มประชากรเสือโคร่ง 2 เท่าใน 12 ปี
พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยเนื่องในวันเสือโคร่งโลก ว่า ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการอนุรักษ์เสือโคร่งจนปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 250 ตัว ในพื้นที่ 10 กลุ่มป่า 31 พื้นที่ป่าอนุรักษ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ทำให้ที่ประชุมสุดยอดผู้นำด้านเสือโคร่งในปี 2553 รวม 13 ประเทศ ได้แก่ รัสเซีย จีน อินเดีย เนปาล ภูฏาน บังคลาเทศ พม่า ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา มาเลเซีย และอินโดนีเซีย มีมติเห็นชอบให้ไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานในปีนี้ ภายใต้แนวคิด 'ผืนป่าตะวันตก บ้านแห่งความหวังของเสือโคร่งอินโดจีน
นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชกล่าวว่า กรมอุทยานฯ ได้เปิดตัวโครงการเสริมสร้างประสิทธิภาพและแรงจูงใจในการอนุรักษ์สัตว์ป่าในผืนป่าตะวันตก ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกรมอุทยานฯและ สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ หรือยูเอ็นดีพี เพื่อสร้างความแข็งแกร่งในการปกป้องมรดกโลกในผืนป่าตะวันตก รวมทั้งการสร้างแรงจูงใจและนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ผสมผสานการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนให้สอดคล้องกับการอนุรักษ์สัตว์ป่าและผืนป่ามรกโลกด้วยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน
นอกจากนี้กองทุนสิ่งแวดล้อมโลกยังสนับสนุนงบประมาณให้ไทยประมาณ 240 ล้านบาทในการอนุรักษ์เสือโคร่ง มีการดำเนินงานตั้งแต่ปี 2559-2563 ทั้งนี้ประเทศไทยมีเป้าหมายตามแผนปฏิบัติการแห่งชาติ เพื่ออนุรักษ์เสือโคร่ง คือ เพิ่มจำนวนประชากรเสือโคร่งในประเทศไทยให้ได้ 50 % ภายในปี 2565
นายลุค สตีเวนซ์ ผู้บริหารระดับสูงยูเอ็นดีพี กล่าวว่า ขอชื่นชมการทำงานของกรมอุทยานฯ ประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผืนป่าตะวันตก เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และทุ่งใหญ่นเรศวร ซึ่ง ศูนย์กลางแห่งความแข็งแกร่งอันเป็นแหล่งที่อยู่ของเสือโคร่งในภูมิภาค รวมทั้งยังเป็นผืนป่าแห่งความหวังของเสือโคร่งอินโดจีน ขอยกย่องในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ทุกคนที่ทำงานด้วยความเสียสละ ไม่ย่อท้อในการพิทักษ์ถิ่นอาศัยของเสือให้พ้นจากภัยคุกคามรอบด้าน
นายศักดิ์สิทธิ์ ซิ้มเจริญ หัวหน้ากลุ่มงานวิชาการสัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) กล่าวว่า สถานการณ์เสือโคร่งในประเทศไทยในภาพรวมเมื่อเทียบกับประเทศอื่นใน 13 ประเทศที่มีประชากรเสือยู่ในธรรมชาติ นับว่าไทยอยู่ในเกณฑ์ที่ดีที่สุด เพราะที่ผ่านมากรมอุทยานฯได้วางระบบการดูแลเสือโคร่งทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่อยู่อาศัยในผืนป่าหลายพื้นที่โดยเฉพาะห้วยขาแข้ง ทำให้ประชากรเสือขยายอาณาเขตตนเองไปยังผืนป่าข้างเคียง เช่น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร อุมทยานฯแห่งชาติแม่วงก์ นอกจากนี้ปริมาณเหยื่อของเสือ เช่น วัวแดง กระทิง กวาง เก้ง ก็เพิ่มปริมาณมากขึ้น ที่สำคัญกรมอุทยานฯวางระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพ เป็นการเฝ้าระวังและปราบปรามที่พรานป่ายังคงเข้ามาลักลอบล่าเสือ
นายศักดิ์สิทธิ์ กล่าวว่าสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เริ่มทำวิจัยเสือโคร่งตั้งแต่ปี 2547 มีการเก็บข้อมูลเสือโคร่งในรัศมี 400 ตารางกิโลเมตร จนกระทั่งปี 2550 ได้มีการเซ็ทระบบทำการเก็บข้อมูลอย่างสมบูรณ์ ซึ่งในเวลานั้นพบว่า เสือโคร่งมี 40 กว่าตัว และปัจจุบันจากการตรวจสอบลายเสือ และติดเครื่องหมายศึกษาชีวิตความเป็นอยู่ตลอด 24 ชม. พร้อมทั้งภาพถ่ายจากกล้องแคมมาร่าแคปที่ติดไว้ทั่วบริเวณ พบว่ามีประชากรเสือประมาณ 80 ตัว ขณะที่หลายๆ ประเทศมีปริมาณเสือในธรรมชาติลดลง และบางประเทศแทบจะสูญพันธุ์เลย
นอกจากนี้ยังได้นำเสนอเสือโคร่งตัวหนึ่งที่นักวิจัยติดตามมาตั้งแต่เด็กจนปัจจุบัน ชื่อว่า บุปผา เพศเมีย อายุ 15 ปี ถือเป็นเสือที่มีอายุมากที่สุดในห้วยขาแข้ง ถ้าเทียบกับคนถือว่าชรามากแล้ว ปัจจุบันบุปผายังอยู่บริเวณห้วยขาแข้ง และมีสุขภาพที่แข็งแรง
"ตอนแรกพวกเราคิดว่าบุปผาน่าจะตายตั้งแต่ปีที่แล้ว เพราะแก่มากแล้ว ปกติเสือแก่ จะมีโรคภัยไข้เจ็บรุมเร้า เป็นพาราไซด์หรือเห็บหมัดเกาะกินตามตัว รวมทั้งไร้เรี่ยวแรงในการหาเหยื่อ กระทั่งในที่สุดก็นอนตายไปตามธรรมชาติ แต่ล่าสุดเราตรวจสอบจากกล้องแคมมาราแท็ป บุปผายังดูดีอยู่มาก และสามารถล่าเหยื่อไดั พละกำลังยังไม่ลดลง แต่น้ำหนักลดลงเล็กน้อย เหลือจากเดิม 140 กิโลกรัม ฝ่าตีนหน้าหนา 8.5 เซนติเมตร ฝ่าตีนหลัง 7.8 เซนติเมตร ถือเป็นเสือที่มีความสมบูรณ์ นอกจากนี้บุฟผายังเป็นแม่ที่สมบูรณ์แบบ คอกสุดท้ายคือลูกเสือชื่อ เอื้องและเอม ยังมีชีวิตอยู่ในห้วยขาแข้ง ซึ่งนักวิจัยยังคงติดตามบุปผาไปจนกว่าจะตาย"นายศักดิ์สิทธิ์ กล่าว
ภาพเสือ บุปผา เครดิต กรมอุทยาน / ปริญญา ผดุงถิ่น