ถอดบทเรียน "ติดถ้ำ ติดเกาะ หลงป่า" อย่างไรไม่ให้ตาย
นักวิชาการถอดบทเรียน การเตรียมตัวและเอาตัวรอดหากต้องกลายเป็นผู้ประสบภัย จากกรณีเหตุการณ์ทีมฟุตบอลติดถ้ำหลวง
นักวิชาการถอดบทเรียน การเตรียมตัวและเอาตัวรอดหากต้องกลายเป็นผู้ประสบภัย จากกรณีเหตุการณ์ทีมฟุตบอลติดถ้ำหลวง
-------------------------------
โดย...โพสต์ทูเดย์ออนไลน์
จบลงไปแล้วสำหรับ 17 วันแห่งปฏิบัติการค้นหาช่วยเหลือเยาวชนและโค้ชทีมฟุตบอลหมูป่าอะเคเดมีแม่สาย 13 ชีวิต ที่ติดอยู่ภายในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงราย ซึ่งตลอดระยะเวลาการกู้ภัยมีการระดมสัพพะกำลังเจ้าหน้าที่และเครื่องมือจำนวนมากจากทั้งในและต่างประเทศมาใช้ จนสุดท้ายภารกิจนี้ก็ประสบความสำเร็จ
แต่ทว่าแม้เหตุการณ์นี้สามารถช่วยผู้ประสบภัยออกมาได้อย่างปลอดภัย แต่อีกมุมซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ คือเราต้องอย่าลืมเหตุการณ์และนำมาเป็นบทเรียนในการป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดเหตุเช่นนี้อีก หรือหากมีต้องทำให้สังคมรู้จักใช้ประโยชน์เพื่อทำให้เกิดการสูญเสียน้อยที่สุด
วันนี้นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญแขนงต่างๆ มาร่วมถกและเสนอแนวคิด ว่าควรทำอย่างไรไม่ให้เกิดการสูญเสียเมื่อเจอสถานการณ์เช่นนี้
“โรคเครียด” ภาวะเสี่ยงหลังหมูป่าออกจากโรงพยาบาล
หลังการรักษาด้านร่างกายของทีมหมูป่าที่ติดอยู่ในถ้ำนานกว่า 17 วัน สิ่งที่น่ากังวลอันดับต่อไปคือเรื่องสภาพจิตใจหลังกลับไปใช้ชีวิตปกติ
รศ.ดร.ณัฏฐินี จันทรรัตโนทัย อาจารย์ภาควิชาเภสัชวิทยา มหาวิทยาลัยมหิดล บอกว่าสิ่งที่ต้องเฝ้าติดตามหลังผู้ประสบภัยเดินทางกลับบ้าน คือระวังไม่ให้เป็นโรคเครียด ซึ่งจะแสดงอาการ เช่น ไม่อยากไปไหนคนเดียว ไม่อยากซ้อมกีฬา ติดผู้ปกครอง และหากรู้ว่าสังคมเฝ้าติดตามข่าวและมีผู้เสียชีวิต ก็อาจทำให้ผู้ประสบภัยเกิดความเครียดได้
ทางแก้ผู้ปกครองหรือคนใกล้ชิด ไม่ควรปล่อยผู้ประสบภัยไปไหนคนเดียวช่วงแรก ไม่ควรสอบถามถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนอกจากเขาจะเล่าเอง โดยให้ดำเนินชีวิตแบบปกติ แต่ต้องคอยเฝ้าดูอย่างใกล้ชิด ซึ่งวิธีนี้เป็นทางเดียวที่ผู้ประสบภัยจะไม่เป็นโรคเครียด และทำให้สุขภาพจิตฟื้นตัวเร็ว
รศ.ดร.เทพมนัส บุปผาอินทร์ อาจารย์ภาควิชาสรีรวิทยา มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายเพิ่มเติมว่า ส่วนการปรับนาฬิกาชีวิตของผู้ประสบภัยหลังออกจากถ้ำ ต้องใช้เวลาสักพักเพื่อให้ฮอร์โมนในร่างกายกลับสู่ภาวะปกติ เนื่องจากผู้ที่ติดถ้ำที่ไม่มีแสงเข้าถึง จะส่งผลต่อการหลั่งของฮอร์โมนทำให้หยุดการเจริญเติบโต แต่เมื่อออกมาแล้วฮอร์โมนร่างกายจะทำงานตามปกติ ซึ่งต้องใช้เวลาสักพัก
การเอาตัวรอดหาก “คุณ” เป็นผู้ประสบภัย
อ.เทพมนัส บอกว่า ถ้าเข้าไปติดอยู่ภายในถ้ำหรือป่าและไม่ได้รับประทานอาหารเป็นเวลานาน ร่างกายจะเริ่มแสดงปฏิกิริยาอาการภาวะขาดอาหาร ดังนี้
- วันที่ 1-2 จะมีอาการแสบท้อง
- วันที่ 4-5 จะพบการสลายของไขมันใต้ผิวหนัง
- วันที่ 6 ร่างกายเริ่มมีอาการอ่อนเพลีย ซึ่งส่งผลถึงสมองทำให้รู้สึกล้าและซึมเศร้า
- จากนั้นจะเกิดภาวะเลือดเป็นกรดและมีอาการคลื่นไส้
– กล้ามเนื้อฝ่อ
– อุณหภูมิในร่างกายลดลง
– เนื้อเยื่อบวมน้ำ เนื่องจากโปรตีนในเลือดต่ำ
– สุดท้ายเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวและเสียชีวิต
ผู้เชี่ยวชาญด้านสรีรวิทยา บอกว่า หากประสบเหตุติดอยู่ในถ้ำ สิ่งที่สำคัญต้องรักษาสมดุลพลังงานในร่างกายให้ดี ด้วยการเคลื่อนไหวร่างกายให้น้อย ไม่เช่นนั้นจะทำให้สารอาหารในร่างกายที่เป็นพลังงานถูกนำออกมาใช้ และอาจสู่สภาวะเสี่ยงได้
ด้าน ดร.ปริญญา พุทธาภิบาล อาจารย์วิชาธรณีศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล บอกว่า การใช้ชีวิตที่ต้องระวังเมื่อเข้าไปติดอยู่ในถ้ำมี 4 อย่าง
1.น้ำท่วม ซึ่งต้องอยู่ในพื้นที่สูงเพราะหากฝนตกหนักน้ำอาจท่วม ดังนั้นควรสังเกตหาขอบน้ำบนผนังถ้ำ และไปหลบอยู่ในจุดที่สูง
2.หาจุดที่มีอากาศถ่ายเท หากจุดไหนอากาศน้อยจะหายใจไม่สะดวก หรือจุดไฟแช็คไฟจะลอยขาดจากฐาน
3.ระวังอุบัติเหตุจากหินที่ลื่น
4.ระวังสัตว์มีพิษ เช่น งู แมงป่อง
ส่วนการหลงป่าสิ่งที่ต้องระวังและควรสังเกตให้ดี คือสัตว์มีพิษที่อยู่ตามพื้นหรือต้นไม้ และสัตว์ขนาดใหญ่
อ.ปริญญา ทิ้งท้ายว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ประเทศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อใช้เป็นแบบอย่างในการกู้ภัย หรือให้ความรู้ประชาชนเมื่อต้องตกอยู่ในสถานการณ์ผู้ประสบภัย
วิธีเตรียมตัวผจญภัยตะลุย ป่า-เขา-ล่องทะเล
ดร.สิริยุภา เนตรมัย อาจารย์สาขาวิชานวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ฐานชีวภาพอัจฉริยะ บอกว่า การไปผจญภัยทุกครั้งสิ่งสำคัญที่ต้องเตรียมให้พร้อม คือ ร่างกายและจิตใจ จากนั้นเป็นอุปกรณ์ยังชีพที่ต้องนำเข้าไปด้วย ซึ่งมีดังนี้
- เครื่องแต่งกาย ต้องเป็นชุดที่รัดกุม สามารถระบายอากาศได้ดีหรือเป็นชุดที่มีความหนาแล้วแต่สภาพพื้นที่ และรองเท้าต้องเหมาะสม
- หากต้องค้างคืนควรมีอุปกรณ์ อาทิ ไฟฉาย แบตเตอรี่สำรอง เข็มทิศ แผนที่ เทียน ไฟแช็ค กระติกน้ำ ยากันยุง/แมลง ผ้าห่มฉุกเฉิน (Emergency blanket ใช้กันความร้อนและหนาว)
- เสบียงฉุกเฉิน ต้องปลอดเชื้อจุลินทรีย์และต้องเป็นอาหารที่ให้พลังงานเก็บไว้ได้นาน เช่น อาหารสำเร็จรูปแบบถุงหรือกระป๋อง อาหารแห้ง (ผลไม้ ธัญพืช บิสกิต เครื่องดื่มผง ซีเรียล ช็อกโกแลต เอ็นนิจี้เจล เป็นต้น) รวมถึงอุปกรณ์ทำให้น้ำสะอาดหรือสารเคมีปรับสภาพน้ำ
ทั้งนี้ต้องเตรียมให้สามารถอยู่ได้อย่างน้อย 2 วัน หรือ 3 มื้อขึ้นไป