ขยะอันตราย จำกัดวงพิษภัยตั้งแต่ในครัวเรือน
ขยะที่สร้างปัญหาแก่ระบบนิเวศมากที่สุด คือ “ขยะอันตราย” หรือที่เรียกกันว่า “ขยะพิษ”
โดย พรเทพ เฮง
ขยะที่สร้างปัญหาแก่ระบบนิเวศมากที่สุด คือ “ขยะอันตราย” หรือที่เรียกกันว่า “ขยะพิษ” ขยะอันตรายเหล่านี้มีอยู่ทั้งในบ้านเรือน ที่พักอาศัย อาคารสำนักงานและร้านค้าต่างๆ
หากไม่ได้รับการจัดการอย่างถูกวิธีจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดปัญหามลพิษต่อแหล่งน้ำ พื้นดิน และอากาศ
ขยะอันตราย หรือขยะพิษ คือขยะที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อคนและสิ่งแวดล้อม ขยะอันตรายจากบ้านหรือในครัวเรือนมักจะถูกมองข้ามไปอย่างละเลย ส่วนใหญ่จะไปโฟกัสกันที่ขยะอันตรายจากภาคอุตสาหกรรมกันมากกว่า
ทั้งที่ขยะอันตรายภาคครัวเรือนสามารถสร้างผลเสียต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมได้อย่างมาก ถ้าไม่มีการจัดเก็บและทำลายอย่างถูกวิธี ได้แก่ ขยะที่ปนเปื้อนสารพิษสารเคมี สามารถลุกติดไฟได้ มีฤทธิ์กัดกร่อนไวไฟ หรือสามารถระเบิดได้ เช่น ขวดยาฆ่าแมลง กระป๋องสเปรย์ หลอดไฟเก่า ถ่านไฟฉาย เป็นต้น
เพราะฉะนั้นการตัดไฟแต่ต้นลมสกัดกั้นขยะอันตรายไม่ให้เกิดผลเสียต่อผู้คนและสิ่งแวดล้อมคือ จิตสำนึกและความรับผิดชอบในการจัดเก็บนำมาทิ้งอย่างถูกวิธีและถูกหลักของการกำจัดขยะอันตราย ซึ่งมีถังขยะแยกประเภทเป็นสีแดงโดยเฉพาะ
สถานการณ์ขยะอันตรายในไทย
ในปี 2535 สำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (เดิม) ได้ให้คำนิยาม “ของเสียที่เป็นอันตราย” ว่าหมายถึง สารหรือวัตถุที่ไม่ใช้หรือใช้ไม่ได้ ที่มีส่วนประกอบหรือเจือปนด้วยสารไวไฟ สารกัดกร่อน สารพิษ สารที่สามารถชะล้างได้ สารกัมมันตรังสี และ/หรือสิ่งที่ทำให้เกิดโรค ซึ่งเกิดจากกิจกรรมต่างๆ เช่น อุตสาหกรรม ชุมชน เกษตรกรรม การให้คำนิยามของสำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาตินี้อาจอิงมาจากนิยามของสหรัฐอเมริกา
แหล่งกำเนิดและปริมาณของของเสียอันตราย ได้แก่ สถานที่ต่างๆ เช่น เขตชุมชนบ้านเรือน ซึ่งส่วนมากจะมีขยะประเภทเศษอาหาร สารอนินทรีย์ ส่วนขยะอันตราย เช่น ถ่านไฟฉายที่หมดอายุการใช้งานแล้ว กระป๋องยาฆ่าแมลง ยารักษาโรคที่หมดอายุแล้ว หลอดไฟหมดอายุ โดยเฉพาะหลอดเรืองแสง ซึ่งมีการฉาบสารวาวแสง ซึ่งหากหลอดชำรุดจะทำให้สารนี้ออกมาเป็นอันตรายได้ แบตเตอรี่ที่หมดอายุ เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ชำรุด น้ำมันเครื่องเก่า น้ำยาล้างอัดรูป ในสถานพยาบาลจะมีพวกเข็ม กระบอกฉีดยา สำลี ปลาสเตอร์ที่ใช้แล้ว สายยางน้ำเกลือและให้อาหาร สายสวนปัสสาวะอุจจาระ อัตราของเสียอันตรายจากโรงพยาบาลมีอัตราเฉลี่ย 0.65 กิโลกรัม/เตียง/วัน
สำนักจัดการกากของเสียและอันตรายกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ให้รายละเอียดถึงสารพิษในขยะอันตรายประเภทต่างๆ ดังนี้
+ สารแมงกานีส ผลิตภัณฑ์ที่พบ : ถ่านไฟฉาย กระป๋องสี เครื่องเคลือบดินเผา /ผลต่อสุขภาพ : ปวดศีรษะ ง่วงนอน จิตใจไม่สงบ ประสาทหลอน เกิดตะคริวที่แขน ขา มีอาการชา สมองสับสน สมองอักเสบ
+ สารปรอท ผลิตภัณฑ์ที่พบ : หลอดฟลูออเรสเซนต์ หลอดนีออน กระป๋องยาฆ่าแมลง กระจกส่องหน้า / ผลต่อสุขภาพ : ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนัง เหงือกบวมอักเสบ เลือดออกง่าย ปวดท้อง ท้องร่วงอย่างแรง มีอาการสั่น กล้ามเนื้อกระตุก และเป็นพิษต่อระบบประสาทส่วนกลาง รวมถึงการพิการแต่กำเนิด
+ สารตะกั่ว ผลิตภัณฑ์ที่พบ : แบตเตอรี่รถยนต์ ยาฆ่าแมลง หมึกพิมพ์ หลอดภาพในจอคอมพิวเตอร์แบบ CRT แผงวงจรเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ /ผลต่อสุขภาพ : ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ตัวซีด ปวดหลัง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ มีอาการทางสมอง ทำให้ความจำเสื่อม ชักกระตุก และหมดสติ ที่สำคัญ การได้รับสารนี้ในระยะยาวมีผลต่อไตและความพิการแต่กำเนิด
+ สารแคดเมียม ผลิตภัณฑ์ที่พบ : ถ่านนาฬิกาควอตซ์ แบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือ / ผลต่อสุขภาพ : ทำลายระบบประสาท ส่งผลกระทบโดยตรงต่อไตและกระดูก ทำให้เกิดโรคอิไต-อิไต ปวดในกระดูก
+ สารฟอสฟอรัส ผลิตภัณฑ์ที่พบ :ยาเบื่อหนู แผงวงจรโทรศัพท์มือถือ กระป๋องสี /ผลต่อสุขภาพ : เหงือกบวม เยื่อบุปากอักเสบ ทำลายระบบประสาทและระบบย่อยอาหาร
+ สารประเภทอื่น ผลิตภัณฑ์ที่พบ :สเปรย์ ยาย้อมผม ยาทาเล็บ ยารักษาโรค เครื่องสำอางหมดอายุ ยาฆ่าแมลง / ผลต่อสุขภาพ : เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนัง และเยื่อบุทางเดินหายใจ ปวดศีรษะ หายใจขัด เป็นลม
ต้องสกัดพิษไปจากครัวเรือน
ข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษพบว่า ในปี 2559 คนไทยผลิตขยะพิษจากบ้านเรือนทั้งหมดประมาณ 6 แสนตัน ประกอบไปด้วย อิเล็กทรอนิกส์ 65% ขยะอันตรายอื่นๆ เช่น แบตเตอรี่ ถ่านไฟฉาย ภาชนะบรรจุสารเคมี และกระป๋องสเปรย์ 35%
ของเสียอันตรายจากชุมชน หมายถึง ของเสียอันตรายที่เกิดจากกิจกรรมต่างๆ ในครัวเรือนและสถานประกอบการพาณิชยกรรมต่างๆ ในชุมชน เช่น อู่ซ่อมรถ สถานีบริการน้ำมัน ร้านล้างอัดขยายภาพ ร้านซักแห้ง ท่าเรือ สนามบิน โรงพยาบาล ห้องปฏิบัติการ พื้นที่เกษตรกรรม ฯลฯ ซึ่งของเสียอันตรายเหล่านี้ส่วนใหญ่ถูกทิ้งร่วมกับมูลฝอยทั่วไป โดยไม่ผ่านการบำบัดและกำจัดอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ ก่อให้เกิดการปนเปื้อนและแพร่กระจายของสารอันตรายสู่สิ่งแวดล้อมเข้าสู่ห่วงโซ่อาหารและเกิดผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนได้
ในปี 2545 กรมควบคุมมลพิษได้จัดทำโครงการศึกษาเพื่อจัดตั้งศูนย์กำจัดของเสียอันตราย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการเก็บรวบรวมและกำจัดของเสียอันตรายจากชุมชน ให้ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของปริมาณของเสียอันตรายที่เกิดขึ้นในปี 2549 ตามที่กำหนดไว้ในแผนจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อม (พ.ศ. 2545-2549) เพื่อลดปัญหามลพิษที่เกิดของเสียอันตรายจากชุมชน และดำเนินการต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
จากผลการรวบรวมข้อมูลปริมาณของเสียอันตรายที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ พบว่ามีของเสียอันตรายจากชุมชนเกิดขึ้นประมาณเกือบ 1 ล้านตัน ซึ่งปริมาณของเสียอันตรายที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ กว่า 50% พบในเขตกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และภาคกลาง
ตัวอย่างของเสียอันตรายจากชุมชน ได้แก่ ของเสียอันตรายจากบ้านพักอาศัย ของเสียอันตรายจากท่าเรือ ของเสียอันตรายจากการพาณิชยกรรม
ของเสียอันตรายจากเกษตรกรรม ในปัจจุบันแนวทางการกำจัดของเสียอันตรายจากชุมชนมีหลายวิธี ได้แก่
1.การคัดแยกเพื่อนำกลับไปใช้ใหม่ (Reuse/Reclaim) เป็นการกำจัดของเสียอันตรายบางประเภทที่สามารถรีไซเคิลวัสดุมาใช้ในกระบวนการผลิตได้
2.การปรับเสถียร/ฝังกลบ (Stabilization/Secure Landfill) เหมาะสำหรับของเสียอันตรายที่เป็นของแข็งหรือกากตะกอน เช่น กรดและด่าง ของแข็งปนเปื้อนโลหะหนักถ่านไฟฉาย สารเคมีที่เป็นพิษต่างๆ
3.การผสมของเสียเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง (Fuel Blending) เป็นการกำจัดสารเคมีประเภทน้ำมันเครื่องหรือน้ำมันหล่อลื่นใช้แล้ว รวมทั้งของเสียอินทรีย์ สารที่สามารถติดไฟได้ เช่น กาว สี ตัวทำละลาย เป็นต้น
4.การกำจัดโดยระบบเตาเผา (Incineration) เหมาะสำหรับของเสียอันตรายที่ไม่สามารถกำจัดได้ด้วยวิธีการปรับเสถียรและฝังกลบได้ ของเสียที่นำมาเผาต้องมีค่าความร้อนค่อนข้างสูง เช่น น้ำมันหล่อลื่นใช้แล้ว ตัวทำละลาย สารกำจัดศัตรูพืช เป็นต้น
5.ของเสียที่ต้องใช้ความชำนาญเฉพาะด้านในการกำจัด หรือกำจัดโดยวิธีพิเศษ ได้แก่ วัตถุระเบิด สารกัมมันตรังสี ของเสียติดเชื้อจากโรงพยาบาล เป็นต้น
แนวทางหนึ่งซึ่งมีความเป็นไปได้ในการจัดการปัญหาดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพ คือ การดำเนินการโดยภาคเอกชนหรือ ความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนกับภาครัฐหรือการร่วมทุนระหว่างรัฐกับเอกชน ทำการเก็บรวบรวม การขนส่ง และกำจัดของเสียอันตราย
การจัดการของเสียประเภทนี้มีหลักการง่ายๆ ก็คือ ต้องเริ่มตั้งแต่จุดเริ่มต้นควรลดปริมาณของเสียอันตรายให้น้อยที่สุด เพื่อจะได้มีของเสียที่ต้องรวบรวมเก็บขนและนำไปกำจัดน้อยลง และที่สำคัญการเก็บรวบรวมของเสียอันตรายในบ้านเรือนก็คือ ต้องแยกของเสียอันตรายออกจากขยะทั่วไป ถ้าเป็นของเหลวไม่ควรเทรวมกันเพราะอาจจะเกิดปฏิกิริยาระหว่างสารได้ แต่ควรเก็บในที่เฉพาะมิดชิดและพ้นมือเด็ก เช่น ยาที่หมดอายุ ยาฆ่าแมลง เป็นต้น
เมื่อแยกของเสียอันตรายที่จะทิ้งไว้เฉพาะแล้ว ใส่ถุงพลาสติกและนำไปทิ้งในถังฝาสีแดง ซึ่งจะมีวางไว้ตามจุดต่างๆ เช่น สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง ห้างสรรพสินค้า ฯลฯ ซึ่งขยะของเสียดังกล่าวจะถูกเก็บรวบรวมไปกำจัดที่ศูนย์กำจัดของเสียอันตรายต่อไป
ส่วนในพื้นที่ที่ไม่มีถังฝาสีแดงให้นำของเสียอันตรายใส่ถุงพลาสติกและเขียนข้อความที่หน้าถุงว่าเป็นขยะอันตราย เพื่อหน่วยงานที่รับผิดชอบเก็บขนจะได้นำไปกำจัดให้ถูกวิธี เพราะถ้าไปกองรวมไว้กับขยะอื่นอาจจะมีสารพิษจากของเสียอันตรายออกมาปนเปื้อนในดินได้ ซึ่งทำให้เกิดปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมในที่สุด
กะรัตลักษณ์ เหลี่ยมเพชร นักวิจัยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เปิดเผยชุดข้อมูลเกี่ยวกับขยะอันตรายกับสื่อว่า กรณีขยะพิษในครัวเรือน มีปัญหาเรื่องกระบวนการจัดการเพื่อนำไปกำจัด เนื่องจากขยะเหล่านี้มีสารอันตรายเป็นองค์ประกอบอยู่ ต้องมีการกำจัดถูกต้องถูกวิธีในโรงงานกำจัดขยะอันตราย แม้มีกฎหมายสาธารณสุขที่ให้อำนาจส่วนราชการท้องถิ่นมีหน้าที่ในการกำจัดขยะ สิ่งปฏิกูล แต่กฎหมายไม่มีการกำหนดหลักเกณฑ์ในการคัดแยก และกำจัดขยะที่เป็นระบบ
เนื่องจากภาคครัวเรือนส่วนใหญ่ไม่มีการแยกขยะก่อนทิ้ง ซาเล้ง ร้านรับซื้อของเก่านำขยะอันตรายมาคัดแยกขายส่วนที่มีมูลค่า ทำให้ขยะเหล่านี้ไม่สามารถติดตามได้ว่าถูกนำไปกำจัดอย่างถูกต้องหรือไม่ อีกทั้งกระบวนการคัดแยกและการกำจัดขยะพิษที่เหลือจากการคัดแยกส่วนใหญ่ดำเนินการไม่ถูกต้อง
การแก้ปัญหาการจัดการขยะพิษจากครัวเรือนต้องมีสร้างหลักเกณฑ์มาตรฐานการจัดการขยะมูลฝอยให้แก่ส่วนราชการท้องถิ่นที่มีหน้าที่จัดการขยะมูลฝอยตามกฎหมาย และผลักดันกฎหมาย “ซากเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หรือที่เรียกกันว่า WEEE (Waste from Electrical and Electronic Equipments)” ที่กำหนดให้ผู้ผลิตต้องรับคืนซากอิเล็กทรอนิกส์เพื่อนำไปกำจัด ให้ออกมาบังคับใช้โดยเร็ววัน
ระบบการจัดการ 50 เขต กทม.
สำนักสิ่งแวดล้อมกรุงเทพมหานคร (กทม.) มีนโยบายและแนวทางกำจัดขยะอันตรายในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในทุกๆ ปี โดยเฉพาะขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่การพัฒนาเทคโนโลยีต่อเนื่องทำให้ขยะดังกล่าวก็เพิ่มมากขึ้น
ปัจจุบัน กทม.จัดเก็บขยะอันตรายเพื่อนำไปกำจัดอย่างถูกต้องได้เพียงเดือนละประมาณ 60 ตัน แต่ขยะอันตรายที่เกิดขึ้นจริงในกรุงเทพฯ มากถึง 900 ตัน/เดือน ดังนั้น ขยะอันตรายที่หลุดจากระบบกำจัดที่ถูกต้องก็เกิดการแยกส่วนปนเปื้อนไปตามชุมชนพื้นที่ต่างๆ อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนทั้งในระยะสั้นและระยะยาวได้
สำหรับขยะอันตรายที่พบมากที่สุดคือ กลุ่มกระป๋องสเปรย์ และอื่นๆ 64% กลุ่มหลอดไฟ 27% และกลุ่มแบตเตอรี่ ถ่านไฟฉาย 9% โดย กทม.จะเป็นผู้จัดเก็บและว่าจ้างเอกชนที่มีใบอนุญาตการกำจัดขยะอันตรายจากกรมควบคุมมลพิษเป็น
ผู้ดำเนินการกำจัด
สถานการณ์ปัจจุบัน กทม. ให้สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต เร่งเผยแพร่ข้อมูลการคัดแยกขยะอันตรายออกจากขยะทั่วไปใส่ถุงอย่างมิดชิดและสำนักงานเขตจะส่งรถเข้าจัดเก็บทุกวันที่ 1 และ 15 ของเดือน นอกจากนี้ กทม.เตรียมจะจัดตั้งจุดทิ้งขยะอันตรายเพื่อให้ประชาชนนำมาทิ้งได้อย่างสะดวกในพื้นที่ 50 เขตอีกด้วย เพื่อให้เป็นพื้นที่ที่จะรองรับขยะพิษจากประชาชนได้ตลอดเวลา