posttoday

กสศ.ชูสร้าง"อสม.การศึกษา"ดึงท้องถิ่นหนุนป้องเด็กหลุดนอกระบบ

08 มิถุนายน 2563

กสศ.จับมือสถาบันพระปกเกล้าดึงชูสร้าง“อสม.การศึกษา”ถึงท้องถิ่น เดินหน้าพัฒนา “นวัตกรรม”ลดเหลื่อมล้ำป้องกันเด็กหลุดออกนอกระบบ

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง“ท้องถิ่นเป็นรากฐานของการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา”ว่า ทิศทางการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาด้วยการใช้ท้องถิ่นเป็นฐานในการทำงาน น่าจะเป็นทิศทางเชิงยุทธศาสตร์ที่ถูกต้องในการแก้ไขปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำเมื่อใช้ชุมชนท้องถิ่นเป็นฐานในการทำงาน จะช่วยย่อโจทย์การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาจากระดับประเทศสู่ระดับท้องถิ่น จะลดความซับซ้อนและขนาดของปัญหาลงมาราว 100 เท่า จะเกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรมการแก้ไขปัญหาที่สอดคล้องกับบริบทการทำงานเชิงพื้นที่ เช่น การอาศัยพลังของคนในพื้นที่ในการส่งเสริมเครือข่ายอาสามัครด้านการศึกษา หรือ อสม.การศึกษา เพื่อร่วมเฝ้าระวังช่วยเหลือครอบครัวเด็กยากจนด้อยโอกาสและเด็กที่มีความจำเป็นพิเศษ

นายสุภกร บัวสาย ผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา กสศ. ได้ร่วมกับท้องถิ่นนำร่องลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาใน 20 จังหวัดทั่วประเทศผลลัพธ์คือ 1.เตรียมดึงเด็กจำนวน 10,000 คนจากจำนวน 50,000คน กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา 2.กลุ่มเด็กปฐมวัย มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่มีมาตรฐานมากขึ้น และในอนาคตจะสนับสนุนการจัดตั้งเครือข่ายเครือข่ายอาสาสมัครด้านการศึกษา (อสม.การศึกษา) ในการเฝ้าระวังช่วยเหลือครอบครัวเด็กที่ยากจนด้อยโอกาสและเด็กที่มีความจำเป็นพิเศษ ใช้นวัตกรรมระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ iSEE ในรูปแบบ Mobile Application ในการสนับสนุน อสม. การศึกษา รวมถึงท้องถิ่น ทำการค้นหาเป้าหมาย และระบุตัวตนกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการการดูแลช่วยเหลือ และคุ้มครองสวัสดิภาพเป็นพิเศษ

กสศ.ชูสร้าง\"อสม.การศึกษา\"ดึงท้องถิ่นหนุนป้องเด็กหลุดนอกระบบ

ขณะที่ ศ.วุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหน่วยงานที่มีความสำคัญในการจัดการศึกษา เพราะมีต้นทุนทางสังคมที่ดี มีความยืดหยุ่นและเอกภาพในการบริหารการศึกษา อีกทั้งการศึกษาของท้องถิ่นสามารถช่วยลดความเหลื่อมล้ำในท้องถิ่นและสังคมได้ ดังนั้นท้องถิ่นจึงนับเป็นกลไกสำคัญในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่สำคัญอย่างยิ่ง

ด้าน นายสุพจน์ จิตร์เพ็ชร์ ผอ.กองส่งเสริมและพัฒนาการจัดการศึกษาท้องถิ่น กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กล่าวว่า บทบาทของอปท.ในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาต้องดูความพร้อมของแต่ละพื้นที่ด้วย เพราะศักยภาพในด้านต่างๆไม่เท่ากัน จึงต้องให้แต่ละพื้นที่เป็นผู้จัดการเรื่องการศึกษาให้เหมาะสมกับศักยภาพ ส่วนการมี อสม.การศึกษาเป็นเรื่องที่ดีคิดว่าจะช่วยป้องกันเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาได้ แต่อย่างไรก็ตามทางพื้นที่จะต้องมีการเตรียมความพร้อมในการเสริมศักยภาพของ อสม.การศึกษา ซึ่งอาจจะเป็น อสม.ที่มีอยู่แล้วหรือเครือข่ายคณะกรรมการหมู่บ้าน เป็นต้น