"ศบค." ยก 4 เคสกทม. "จัดงานเลี้ยงส่วนตัว" ทำติดเชื้ออื้อ ขอ คนทำงานออฟฟิศ ยกการ์ดสูง
ศบค. ยก 4 เคสจัดงานเลี้ยงส่วนตัว แอลกอฮอล์ทำให้ระวังตัวน้อยลง ทำติดเชื้อโควิดอื้อ ขอ คนทำงานออฟฟิศ ยกการ์ดสูงเป็นพิเศษ เตรียมหาที่กักตัวให้ผู้ที่มีความเสี่ยง ที่ไม่สะดวกกักในบ้าน
เมื่อวันที่ 5 กพ.64 พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. เปิดเผยว่า ส่วนสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ที่ กทม. ในสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการวิเคราะห์เกี่ยวกับการติดเชื้อในชุมชนเมือง โดยเฉพาะการจัดเลี้ยงส่วนตัว โดยยกตัวอย่างงานเลี้ยงส่วนตัว 4 งาน
งานแรก การจัดงานเลี้ยงที่มีผู้ร่วมงาน 30 คน ทำให้เกิดผู้ติดเชื้อ 9 คน มีประวัติดื่มแอลกอฮอล์แก้วเดียวกัน และอยู่ร่วมงานเป็นเวลา
งานที่2 มีผู้ร่วมงานเลี้ยง 13 ราย ติดเชื้อ 10 ราย ทั้ง 10 ราย มีประวัติดื่มจากแก้วเดียวกัน ใช้มือหยิบน้ำแข็ง อาหาร
งานที่3 มีผู้ร่วมงาน 7 ราย ติดเชื้อ 7 ราย เนื่องจากอยู่ในสถานที่แออัด ไม่มีระบบระบายอากาศ เต้นรำโดยไม่ใส่หน้ากากตลอดงาน
งานที่4 มีผู้ร่วมงาน 16 ราย ติดเชื้อ 16 ราย เนื่องจากดื่มเครื่องดื่มจากแก้วเดียวกันในลักษณะเล่นเกม อยู่ร่วมกันเป็นเวลานาน
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เราเน้นย้ำมาตลอดคือ แม้จะมีการจัดงานเลี้ยงอย่างรัดกุม แต่เมื่อดื่มแอลกอฮอล์ไป แม้เพียงไม่มาก จะทำให้เกิดความผ่อนคลาย เฉื่อยชา ตอบสนองน้อยลง ขาดความยับยั้ง เสียการควบคุมตัวเอง ไม่ระมัดระวังตัวเอง ดังนั้น ทางสถานบันเทิงต้องเสนอมาตรการว่าจะดูแลเรื่องเหล่านี้อย่างไร
ซึ่งตามข้อมูลขององค์การอนามัยโลก ระบุว่า เบียร์จำนวน 1 ดริงค์ เท่ากับเบียร์ขนาด 330 CC แอลกอฮอล์ 4% จำนวน 1 กระป๋อง,ไวน์ 1 ดริงค์ เท่ากับ 1 แก้ว ขนาด 100 CC แอลกอฮอล์ 12.5%, วิสกี้ แอลกอฮอล์ 40% 1 ดริงค์ เท่ากับ 30 CC หรือ 1 ช้อนโต๊ะ ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ที่ร่วมงานเลี้ยง มักจะดื่มเกินกว่านี้ ดังนั้นหากสถานบันเทิง ร้านอาหารที่ต้องการขายแอลกอฮอล์ จะต้องเสนอมาตรการว่าจะควบคุมดูแลอย่างไร ไม่ให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อ
พ.ญ.อภิสมัย กล่าวว่า ส่วนการติดเชื้อในสถานที่ทำงานในกรุงเทพฯ ยกตัวอย่าง 2 กรณี คือ 1. สำนักงานคลินิกเสริมความงามแห่งหนึ่ง มีพนักงาน 7 คน ติดเชื้อ 5 คน 2. แผนกหนึ่งในบริษัทแห่งหนึ่ง มีพนักงาน 10 คน ติดเชื้อ 9 คน
พฤติกรรมเสี่ยงส่วนใหญ่ คือ การรับประทานอาหารร่วมกัน มีการพูดคุยระหว่างรับประทานอาหาร ไม่ใช้ช้อนกลาง หรือไม่สวมหน้ากากอนามัยขณะทำงานอยู่ในห้องเดียวกันหรือนั่งรถรับ-ส่งพนักงานคันเดียวกัน ดังนั้น หลังจากนี้ องค์กรหรือสถานที่ทำงานต่างๆ ต้องยกระดับเข้มข้นให้สวมหน้ากากอนามัยขณะทำงานในห้องเดียวกันด้วย ซึ่งจากการสำรวจพฤติกรรมคนไทยโดยกระทรวงสาธารณสุขร่วมกับองค์การอนามัยโลก สำนักงานเอเชียใต้และเอเชียตะวันออก พบว่า เมื่อมีการผ่อนคลายมาตรการ ก็เริ่มมีพฤติกรรมการ์ดตกลงไปด้วย รวมทั้งการเดินทางออกต่างจังหวัดก็มีเพิ่มมากขึ้นในช่วงผ่อนคลายมาตรการด้วย
พญ.อภิสมัย กล่าวถึงกรณีพบผู้ติดเชื้อหรือผู้ที่มีความเสี่ยงสูง เดินทางไปสถานที่ต่างๆ และโพสต์ลงในโซเชียลจนมีคำถามว่าเป็นผู้มีลักษณะเสี่ยงสูงแต่ทำไมไม่กักตัวว่า ในบางครั้งทางกรมควบคุมโรคได้คำตอบว่ากักตัวลำบาก เพราะหลายคนอยู่บ้านที่มีสมาชิกครอบครัวในบ้านหลายคน มีการใช้ห้องน้ำร่วมกัน รับประทานอาหารที่เดียวกัน ไม่สามารถแยกห้องนอนได้ ดังนั้น ศบค. จึงมีการทบทวนมาตรการในวันเดียวกันนี้ เพื่อให้มีแนวทางศึกษาการบริหารจัดการการกักตัวสำหรับคนที่พิจารณาแล้วว่าเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการสัมผัสเชื้อ โควิด-19 ที่หากกรมควบคุมโรคสอบสวนพบจะต้องขอร้องให้บุคคลดังกล่าวต้องถูกกักตัว ถือว่าไม่มีทางเลือก ส่วนบุคคลที่อยู่ในภาวะความเสี่ยงกลาง และเสี่ยงต่ำ จะขอความร่วมมือให้หลีกเลี่ยงพื้นที่ชุมชน บุคคลเหล่านี้อาจเกิดความสมัครใจว่าจะต้องไปกักตัวในสถานที่กักตัวของรัฐ หรือเอกชน ที่มีอยู่หลายแห่งในขณะนี้ เพราะบางคนบอกว่าสถานที่อาศัยในปัจจุบันบางแห่งไม่อำนวย เนื่องจากมีผู้สูงอายุ เด็กอ่อน การใช้ห้องน้ำร่วมกัน การกักตัวเป็นไปด้วยความยากลำบาก ศบค. รับฟังและนำมาหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาทางออกให้สามารถหาช่องทางการกักตัวได้ นอกเหนือจากการกักตัวอยู่ที่บ้าน โดยภาพรวมแล้วการกักตัวโดยความสมัครใจ หรือการที่ถูกบังคับให้กักกันตัวรายละเอียดจะเป็นอย่างไรจะมีการพูดคุยกันภายใน ศบค.ในสัปดาห์หน้า
พญ.อภิสมัย กล่าวว่า เราต้องอยู่ร่วมกับโรคโควิด-19 นี้ต่อไป โดยไม่ตื่นตระหนกมากเกินไป และจากรายงานในวันเดียวกันนี้ เห็นแล้วว่าเรายังการ์ดตก ดังนั้น เราต้องเรียนรู้ที่จะป้องกันตัวเอง ป้องกันชุมชน การ์ดตกไม่ได้ ขอความร่วมมือเป็นพิเศษในกรณีของมาตรการองค์กรถือเป็นหัวใจหลัก เพราะการที่เข้าไปทำงานในสำนักงานหรือออฟฟิศเดียวกัน เป็นความรับผิดชอบที่จะต้องดูแลซึ่งกันและกัน ขอให้ทำให้ได้เหมือน จ.สมุทรสาคร ที่มีความร่วมมือจากภาครัฐ เอกชน และผู้ประกอบการในจังหวัดสมุทรสาคร จับมือแล้วลุกขึ้นมาเป็นทีมเดียวกันช่วยกันร่วมแรงร่วมใจหามาตรการที่ดีที่สุดเพื่อที่จะทำให้การติดเชื้อ แพร่เชื้อ โควิด-19 ลดจำนวนลงไปเรื่อยๆ