ตำรวจสรุปผลวันแรกตั้งด่านตรวจเมาพบทำผิด28ราย
ตำรวจนครบาลเริ่มกลับมาตั้งด่านตรวจเมา สรุปผลวันแรก50จุด จับผู้กระทำผิด28ราย
เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2564 ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รองผบช.น. ฐานะดูแลงานจราจร เปิดเผยภาพรวมการตั้งด่านในพื้นที่กรุงเทพมหานครว่า มีการตั้งด่านทั้งหมดจำนวน 50 จุด ด่านเมา 13 จุด ด่านกวดขั้นวินัยจราจร 37 จุด ส่วนผลการจับกุมผู้ขับขี่รถระหว่างเมาสุรา 28 ราย การจับกุมผู้กระทำผิดตามพ.ร.บ.จราจร 39 ราย กรณีดังกล่าวผลการจับกุมยังค่อนข้างน้อยเนื่องจากเป็นการเริ่มกลับมาตั้งด่านครั้งแรก อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นจะเน้นการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบเป็นหลักในกรณีผิดตามพ.ร.บ.จราจร แต่กรณีขับขี่ขณะเมาสุระทางเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่สามารถว่ากล่าวตักเตือนได้เมื่อทำการตรวจสอบพบก็ต้องส่งดำเนินคดีตามกฎหมาย
ส่วนปัญหาอุปสรรคในการตั้งด่านนั้น พล.ต.ต.จิรสันต์ กล่าวว่า ทางตำรวจจราจรสังกัดบช.น. ปฏิบัติตามนโยบายของ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. มีการปรับปรุงเน้น 4 เรื่องหลัก 1.มีความโปร่งใส 2.ตรวจสอบได้ 3.ต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ 4.ต้องมีมาตรฐานในการปฏิบัติ โดยแต่ละข้อมีรายละเอียดในการปฏิบัติ การนำเทคโนโลยีมาใช้ถือว่าเป็นเรื่องใหม่ การกรอกข้อมูลในระบบแอปพลิเคชัน TPCC (Tralic Police Checkpoint Control) ผู้บังคับบัญชาสามารถตรวจสอบได้ว่ามีการตั้งด่านที่ใดบ้าง มีกล้องซีซีทีวีถ่ายแบบเรียลไทม์ตลอดเวลาการตั้งด่าน สามารถเป็นพยานหลักฐานที่มาทำการตรวจสอบเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ นอกจากนี้ในส่วนของเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรผู้ปฏิบัติก็จะมีกล้องบันทึกภาพติดตัวระหว่างที่มีการตรวจวัดแอลกอฮอล์ เดินออกไปจากจุดที่ไกลจากบริเวณที่มีการติดตั้งกล้องไว้ประจำที่ จากการตรวจสอบการปฏิบัติในการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวเป็นไปได้ด้วยดี
"จุดตรวจในช่วงเวลากลางคืน อาจจะมีข้อจำกัดเรื่องแสงสว่างหรือแสงไฟ เจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องคำนึงถึงความปลอดภัย ทั้งในส่วนของผู้ปฏิบัติและรถที่เข้ามา เจ้าหน้าที่ตำรวจจะมีการแสดงสัญญาณแจ้งเตือน โดยมีป้ายสัญญาณไฟแจ้งเตือนตั้งแต่แรกก่อนถึงจุดตรวจ 200 เมตร หรือ 100 เมตร ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ก็มีข้อจำกัดการลากดึงสัญญาณไฟบางครั้งบางจุดแสงไฟไม่เพียงพอทางเจ้าหน้าที่ก็พยายามปรับปรุงเพื่อให้เกิดความโปร่งใส ส่วนต่อมาก็จะเป็นพื้นที่ถนนบางแห่งต้องมีการตรวจสอบปริมาณจำนวนรถ มีการมอบนโยบายควบคู่กันตามข้อสั่งการของผบ.ตร. คือการตั้งจุดตรวจวัดแอลกอฮอล์ซึ่งผู้กระทำผิดเมาแล้วขับ 28 ราย บางรายมีปริมาณแอลกอฮอล์สูงถึง 123 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ต้องป้องกันอุบัติเหตุด้วยคือคำนึงถึงปัญหาการจราจรหนาแน่น ต้องมีการอำนวยความสะดวกด้านการจราจรท้ายแถวในห้วงเวลาที่มีการตั้งด่านต้องไปด้วยกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทำการคัดกรองรถเพื่อไม่ให้ปริมาณรถสะสมท้ายแถวมากเกินไป ตรวจสอบว่ามีรถคันใดพฤติกรรมน่าสงสัย ผู้ขับขี่หน้าแดงหรือมีกลิ่นสุรา เราจะทำการตรวจสอบ นอกนั้นก็จะปล่อยให้รถไหลไปเพื่อให้ปริมาณรถสะสมน้อยลง" รองผบช.น. กล่าว
พล.ต.ต.จิรสันต์ กล่าวอีกว่า กรณีมีหน่วยงานอื่นร่วมการปฏิบัตินั้น จะมีการเชิญหน่วยร่วมปฏิบัติเข้ามา เบื้องต้นมีอาสาสมัครจราจรมาร่วมปฏิบัติหน้าที่ แต่ชวนหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนมาร่วมตรวจสอบการปฏิบัติการทำงาน รวมถึงสื่อมวลชนเข้าร่วมเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ให้เกิดความโปร่งใสมากขึ้น เนื่องจากไม่ใช่แค่เจ้าหน้าที่ตำรวจของเราเองไปปฏิบัติเท่านั้น หากมีตัวแทนหน่วยงานภาครัฐ อาทิ กรุงเทพมหานคร ขนส่งมวลชน มาร่วมปฏิบัติก็จะทำให้ประชาชนรู้สึกว่าด่านมีความโปร่งใสตรวจสอบได้ และมีระบบให้มีการวัดความพึงพอใจของประชาชนเข้ามาที่จุดตรวจ คิวอาร์โค้ดให้เข้าไปอาจจะใหญ่ไป อาจจะมีการปรับให้เล็กลง ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเป็นการตรวจสอบความพึงพอใจการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจได้อีกส่วนนึงและผู้บังคับบัญชาก็ทำการดูได้
นอกจากนี้มีการใช้หลอดเป่าใหม่แกะจากถุงไว้ทุกครั้งเพื่อมั่นใจได้ว่าไม่เอาของเก่ามาให้เป่า ส่วนกรณีมีการตั้งด่านเพิ่มนั้น อาจจะมีการตั้งด่านช่วงกลางวันเพิ่มเติมแต่ต้องระมัดระวังอาจจะทำให้การจราจรติดขัด แต่จะเริ่มมีการกลับมาตั้งช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งให้ทางสถานีตำรวจนครบาลแต่ละแห่งทำการสำรวจ อย่างน้อยอาจจะทีการกำหนดให้มีการตั้งด่านกวดขันวินัยจราจรเพิ่มเติมสถานีตำรวจละ 1 จุด คาดว่าจะมีการเริ่มตั้งด่านกลางวัน-กลางคืนได้ประมาณวันที่ 5 เม.ย. นี้ ส่วนด่านตรวจเมาจะให้บก.จร. ดูเป็นหลัก
สำหรับผลสรุปการตั้งด่านตรวจ สรุปผลการตั้งจุดตรวจฯ จำนวนจุดตรวจทั้งสิ้น 50 จุด (ไม่รวมควันดำ) จุดกวดขันวินัยจราจร 37 จุด จุดตรวจวัดแอลกอฮอล์ 13 จุด ผลการจับกุมทั้งหมดจำนวน 67 ราย ฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจร 1 ราย ขับขี่โดยไม่มีใบอนุญาต 7 ราย ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย 1 ราย เมาแล้วขับ 28 ราย ไม่สวมหมวกนิรภัย 29 รายจักรยานยนต์ไม่ปลอดภัย 1 ราย