"คนไร้บ้าน"เหยื่อความรุนแรงที่ไร้ทางต่อสู้
การถูกทำร้ายกลั่นแกล้งจากผู้ไม่หวังดี คือภัยคุกคามที่ซ้ำเติมชีวิตของ “คนไร้บ้าน”ให้ตกต่ำย่ำแย่ลงไปอีก
โดย...อินทรชัย พาณิชกุล
จากการสำรวจของมูลนิธิอิสรชนพบว่า ปี 2556 กรุงเทพมหานครมีผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ จำนวน 3,140 คน ประกอบด้วยคนเร่ร่อนไร้บ้าน คนต่างจังหวัดไร้ที่ดินทำกิน คนติดเหล้า ผู้ป่วยข้างถนน คนจนเมือง ผู้ที่เพิ่งพ้นโทษหรือหนีคดี จนถึงชาวต่างชาติตกอับ
เมื่อเร็วๆนี้ เหตุการณ์สะเทือนขวัญที่วัยรุ่นคึกคะนองกลุ่มหนึ่งพยายามจุดไฟเผาคนไร้บ้านที่กำลังนอนหลับอย่างเหนื่อยล้าริมฟุตบาทย่านพาหุรัด จนได้รับบาดเจ็บ สร้างความสลดหดหู่ให้แก่ผู้ทราบข่าวเป็นอย่างมาก
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าเหตุการณ์กลั่นแกล้งทำร้าย คนเร่ร่อนไร้บ้านตามท้องถนนเกิดขึ้นไม่เว้นแต่ละวัน
"หลังห้าทุ่มเป็นต้นไป พวกวัยรุ่นจะขับมอเตอร์ไซค์มาเป็นแก๊งค์ประมาณ 10 คัน เข้ามาก่อกวนทุกคืน มาถึงก็บีบแตร ตะโกนปลุก "เฮ้ย ตื่นๆๆๆ" แล้วปาถุงน้ำ ถุงขยะเหม็นๆใส่ บางครั้งก็ขวดกระทิงแดง หนักเข้าก็จุดประทัดโยนใส่ ก่อนพากันหนี
เคยมีคนแก่คนหนึ่ง แกแยกไปนอนคนเดียวในซอกมืดๆ เจอเด็กคนหนึ่งฉี่รดหัว แกตกใจตื่นมาด่า ปรากฏว่าไอ้พวกที่เหลือกรูเข้ามากระทืบ เอาไม้ฟาดเลือดอาบสลบไปเลย น่าสงสารมาก ทุกวันนี้พวกเราต้องอยู่กันอย่างหวาดผวา ไม่เคยได้หลับเต็มอิ่มโดยไม่ต้องสะดุ้งตื่นกลางดึกเลย บางทีได้ยินเสียงมอเตอร์ไซค์ เสียงบีบแตร เสียงโห่ฮามาแต่ไกล ก็ต้องรีบลุกขึ้นมาดู กลัวโดนทำร้าย กลัวตาย"
ความรู้สึกจากก้นบึ้งหัวใจของ ลุงอ๊อด ชายวัย 50 เศษ ร่างท้วม ผมหงอกประปราย ข้างกายมีกระสอบบรรจุสิ่งของเครื่องใช้ส่วนตัวจนแน่นเอี้ยด
ลุงอ๊อดเป็นชาวบุรีรัมย์ หนีความจนมาหางานทำในเมืองกรุง เร่รอนหลับนอนริมถนนมานานนับสิบปีแล้ว อาศัยเก็บขยะขายแลกเงินมาซื้อข้าวซื้อน้ำประทังชีวิตไปวันๆ
"แหล่งหลับนอนของคนไร้บ้าน ต้องมีแสงไฟสว่าง ดูแล้วปลอดภัย มองไปมีเพื่อน (หมายถึงคนเร่ร่อนไร้บ้านเช่นเดียวกัน) ใกล้หูใกล้ตาพอให้อุ่นใจ ใกล้ที่หางาน ที่หาอาหารการกิน ใกล้ห้องน้ำ ไม่มีคนมาไล่ยิ่งดี พวกเราทุกคนทำงานทั้งนั้น ต้องดิ้นรนหารายได้ เรายังมีศักดิ์ศรีถึงแม้จะน้อยนิด ไม่ยอมให้คนมาดูถูกว่า งอมืองอตีน เก็บขวดเก็บขยะขาย รับจ้างทั่วไป แจกใบปลิว วันละ 200 -500 บาทก็ทำไปเถอะ ขอให้ได้เงินมาซื้อข้าวกิน บางครั้งไม่มีก็ขอกินฟรีตามวัด ตามสถานสงเคราะห์"
สำหรับคนไร้บ้านอย่างเขา ความหิวโหยไม่น่ากลัวเท่าโรคภัยไข้เจ็บ ตราบใดที่ยังกัดฟันดิ้นรนหางานทำ ทว่าสิ่งที่น่ากลัวกว่านั้นคือถูกทำร้ายจากคนแปลกหน้า
"เห็นคนเร่ร่อนถูกทำร้ายมาเยอะ ตั้งแต่สมัยอยู่หมอชิต สถานีรถไฟหัวลำโพง สนามหลวง หลับๆอยู่โดนกลุ่มเด็กขี้ยาเด็กขอทานเข้าไปแหย่ รุมกระทืบเหมือนล้อมวงเตะบอล ไม่มีใครกล้าช่วย คนป่วยคนแก่ชราก็ถูกไถเงินเป็นประจำ ส่วนมากพวกที่โดนจะเป็นพวกที่ชอบเลี่ยงไปนอนคนเดียว ไม่มีเพื่อน ถ้าอยู่รวมกลุ่มโอกาสโดนน้อย เพราะเขาจะช่วยกัน"
โชคดีแค่เจ็บเนื้อเจ็บตัว โชคร้ายก็ตายฟรี ทั้งที่ไม่รู้จัก ไม่มีความแค้นต่อกันมาก่อน
"มีอยู่ครั้งหนึ่งเคยเห็นคนถูกเอาไม้ฟาดท้ายทอยตายริมถนน ตำรวจมาดู เจ้าหน้าที่ป่อเต็กตึ๊งมาเก็บศพไป แล้วก็จบ เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น คนที่โดนมักไม่กล้าเอาเรื่อง เพราะกลัวโดนตามล่า เรื่องแจ้งความไม่มีทาง ตำรวจเขาไม่สนใจพวกผมหรอกครับ"
น้ำเสียงของเขาบ่งบอกถึงความสิ้นหวัง
สิทธิพล ชูประจง หัวหน้าโครงการผู้ป่วยข้างถนน มูลนิธิกระจกเงา ให้ความเห็นว่าสังคมยังมองคนเร่ร่อนข้างถนนว่าต่ำต้อย ไร้ค่า จะทำอะไรก็ได้ คนเหล่านี้ก็ไม่มีปัญญาขัดขืนต่อสู้ ส่งผลให้ทุกวันนี้คนไร้บ้านยังคงถูกทำร้ายกลั่นแกล้งอยู่เป็นประจำ
ถามว่าอะไรคือภัยคุกคามที่คนไร้บ้านต้องเผชิญอยู่ในขณะนี้ ?
"เรื่องถูกจับ เดี๋ยวนี้ไม่มีการกวาดจับแล้ว เพราะถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์หนักว่าละเมิดสิทธิ์ มันดูไม่ดีด้วย อาจมีการจับเป็นครั้งคราวเฉพาะคนที่ก่อความเดือดร้อนเท่านั้น ส่วนเรื่องโรคภัยไข้เจ็บก็ถือว่าน่าเป็นห่วง คนไร้บ้านส่วนมากมีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ วัณโรค โรคเอดส์ และแผลติดเชื้อ รวมถึงป่วยทางจิต หลายคนปล่อยให้หายเอง บ้างซื้อยากินเอง ไม่ไปหาหมอ เพราะเข้าไม่ถึงระบบการรักษาพยาบาลของรัฐ ส่งผลให้ในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา มีตายอยู่ริมถนนมากกว่า 10 ราย”
กรณีโดนทำร้ายก็ถือว่าเรื่องใหญ่ มันเป็นเรื่องสวัสดิภาพความปลอดภัยในชีวิต คนไร้บ้านถึงจะยากจน สกปรก แต่เขาไม่ค่อยอยากสร้างปัญหานักหรอกครับ ยิ่งเรื่องก่ออาชญากรรมนี่น้อย เพราะจะทำให้ชีวิตที่ลำบากอยู่แล้วลำบากยิ่งเข้าไปอีก"
อย่างไรก็ตาม หลังจากเกิดเหตุการณ์ราดน้ำมันจุดไฟเผาคนเร่ร่อน ปฏิกิริยาตามมาจากสังคมเป็นไปอย่างตื่นตระหนก ทว่ามาตรการจัดการจากภาครัฐถือว่าน่าผิดหวังยิ่ง
นั่นคือการกวาดจับคนไร้บ้านทั้งหมดมาทำทะเบียนประวัติ และประกาศห้ามไม่ให้กลับเข้ามานอนในพื้นที่ถนนพาหุรัดอีกเป็นอันขาด
ประเด็นนี้ พ.ต.อ.สรรเสริญ ใช้สถิตย์ ผกก.สน.พระราชวัง ชี้แจงว่าได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนในพื้นที่บ่อยครั้งว่าเดือดร้อนจากปัญหาคนเร่ร่อน บางรายสติไม่ดี เจ้าของบ้านกังวลเรื่องความปลอดภัย จึงจำเป็นต้องประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการจัดระเบียบคนเร่ร่อนในย่านนี้ทั้งหมด
สุชินทร์ เอี่ยมอินทร์ แกนนำกลุ่มคนไร้บ้าน ไม่เห็นด้วยกับการกวาดจับและไม่ให้นอนอยู่ที่เดิม เพราะเป็นวิธีที่แก้ปัญหาที่ปลายเหตุ
หัวหน้าโครงการผู้ป่วยข้างถนน กล่าวว่าสังคมมองว่าการจุดไฟเผาโหดเหี้ยมรุนแรง แต่ไม่เคยตั้งคำถามไกลกว่านั้นว่าจริงๆแล้วพวกเขาควรอยู่อย่างไร นี่ต่างหากคือประเด็นสำคัญ
"สวัสดิการที่พัก อาหาร และการรักษาพยาบาลของรัฐก็จำเป็น แต่ทางออกที่ดีที่สุดคือสร้างโอกาสให้พวกเขาเข้าสู่พื้นที่ใหม่ เข้าถึงแหล่งรายได้ โดยเฉพาะการเข้าถึงที่อยู่อาศัยราคาถูก มีคุณภาพ สภาพแวดล้อมดี พวกเขาก็อยากมีบ้านอยู่ก็เหมือนกับเราๆนั่นแหละ ไม่มีใครชอบการไปอยู่อัดรวมหรอก ถ้าชีวิตพอที่จะมีทางเลือก สิ่งสำคัญคือสร้างทางเลือกที่สอดคล้องกับบริบทของพวกเขาให้ได้มากที่สุด"
นี่แหละ ชีวิตของคนไร้บ้าน พวกเขาต้องดิ้นรนหางานทำอย่างยากลำบาก มิหนำซ้ำยังต้องเอาตัวรอดจากโรคภัยไข้เจ็บและความโหดร้ายป่าเถื่อนของมิจฉาชีพ