posttoday

10ปี"ตลาดน้ำอัมพวา"ถึงเวลาขาลง

04 สิงหาคม 2557

10 ปี"ตลาดน้ำยามเย็นอัมพวา"บทเรียนราคาแพงของแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์

โดย...อินทรชัย พาณิชกุล

ภาพผู้คนเบียดเสียดบนสะพานและทางเดินริมสองฝั่งคลอง เรือยนต์แล่นสวนกันดังกระหึ่ม ผสมปนเปกับบรรยากาศจอแจของพ่อค้าแม่ค้า เสียงเพลงอึกทึกครึกโครมจากตู้คาราโอเกะและร้านเหล้า

ทั้งหมดคือความเปลี่ยนแปลงที่ชาวอ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ไม่คาดคิดมาก่อนว่าชีวิตจะได้เจอกับ"อะไรที่มันวุ่นวาย"ถึงเพียงนี้

สิบปีที่เปลี่ยนไป

"สมัยก่อนชาวบ้านอยู่กันอย่างสงบ วันที่มีการ"นัด"กันถึงจะคึกคักเป็นพิเศษ พวกพ่อค้าแม่ค้าจะพายเรือออกมาจากสวน นำผลผลิตท้องถิ่นมาขาย พริก หอม กระเทียม กะปิ น้ำตาลมะพร้าว กุ้งหอยปูปลา ผักผลไม้ ขนมต่างๆ นี่คือวิถีชีวิตดั้งเดิมของคนอัมพวา"

ลุงเกษม ชายชราวัย 73 ผู้เรียกตัวเองว่าเป็นชาวอัมพวาแท้ๆ รื้อฟื้นความหลังให้ฟังขณะสูบยาเส้นใบจากพ่นควันโขมง

กระทั่ง "ตลาดน้ำยามเย็นอัมพวา" ถือกำเนิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 ส.ค.2547 วิถีชีวิตของชาวบ้านในพื้นที่จึงเปลี่ยนแปลงโดยสิ้นเชิง

ห้องแถวเรือนไม้สองฝั่งคลองถูกแปรสภาพเป็นย่านการค้าเพื่อรองรับการท่องเที่ยว คนเก่าคนแก่ที่เคยอยู่อาศัยมาหลายชั่วคนต้องถูกผลักออกไป เพราะสู้ค่าเช่าใหม่ที่พุ่งสูงจากเดือนละพันบาทเพิ่มเป็นหลักหมื่นไม่ไหว คนแปลกหน้าต่างถิ่นเข้ามาแทนที่ บ้านหลายหลังถูกรื้อสร้างใหม่ในรูปแบบผิดเพี้ยนไปจากเดิม  สินค้าที่เคยใช้ผลผลิตจากท้องถิ่นมีความหลากหลายเพิ่มมากขึ้นและราคาสูงจนน่าตกใจ 

ผลกระทบเริ่มขยายเป็นวงกว้าง ชาวบ้านรอบนอกที่เคยทำสวนผลไม้ ประมงพื้นบ้าน หันมาค้าขายเป็นล่ำเป็นสัน เรือพายถูกอัพเกรดเป็นเรือยนตร์ความเร็วสูงไว้บริการนักท่องเที่ยว ที่ดินริมแม่น้ำถูกเปลี่ยนมือพัฒนากลายเป็นรีสอร์ท เกสเฮาส์มากกว่า 300 แห่งทั่วทั้งอำเภอ

"ที่ดินริมน้ำในแม่กลองไม่มีเหลือแล้ว ถูกกว้านซื้อไปหมด จากราคาไร่ละ 3-4 แสน ขายได้ถึง 5-6 ล้านบาท"สุรจิต ชิรเวทย์ อดีตสว.สมุทรสงคราม เผย

แม้กระทั่งสถานที่ราชการ โรงเรียน วัดวาอารามยังเปิดพื้นที่ให้บริการที่จอดรถ สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำในวันหยุดสุดสัปดาห์

ยิ่งไปกว่านั้น ปรีชา เจี๊ยบหยู ประธานศูนย์การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์บ้านลมทวน อ.อัมพวา จ.สมุทรสงครามบอกด้วยว่า พฤติกรรมของนักท่องเที่ยวได้เปลี่ยนโฉมหน้าจากการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์เป็น"ชิม-ช้อป-แชะทัวร์"ไปเป็นที่เรียบร้อย

"เมื่อก่อนคนนิยมมาเที่ยวแบบโฮมสเตย์ อยู่กินกับชาวบ้าน สัมผัสวิถีชีวิตบ้านสวนริมคลอง ขี่จักรยาน ดูวิธีทำน้ำตาลมะพร้าว ตกกุ้งตกปลา งมหอย พายเรือดูหิ่งห้อย แต่เดี๋ยวนี้คนชอบเที่ยวแบบแดกด่วน เดินเล่น ถ่ายรูป ช้อปปิ้ง เน้นความสะดวกรวดเร็วมากกว่า

ภาพอดีตหอมหวานมันหายไปแล้ว ที่เคยถูกยกย่องให้เป็น"เวนิสแห่งสุดท้าย" บัดนี้ไม่เหลือแล้ว ไม่มีเรือพายมีแต่เรือยนต์วิ่งแข่งกันเป็นร้อยลำ ห้องแถวไม้ริมน้ำอันเงียบสงบกลายเป็นร้านค้า มองไปมีแต่ป้าย ผ้าใบขึ้นเกะกะรกหูรกตาเต็มไปหมด ความงดงามทางธรรมชาติไม่เหลือ มีแต่สิ่งตบแต่ง"

10ปี\"ตลาดน้ำอัมพวา\"ถึงเวลาขาลง

"อัมพวา"ขาลง

น้อยคนจะรู้ว่าตลาดน้ำอัมพวาในช่วงวันธรรมดา บรรยากาศช่างเงียบเชียบวังเวง ไร้เงานักท่องเที่ยว พ่อค้าแม่ค้า เหลือเพียงชาวบ้านอัมพวาเพียงไม่กี่หลังคาเรือนเท่านั้น

"เจ้าของร้านกว่า 80 % เป็นคนนอกพื้นที่ ทั้งคนกรุงเทพ คนราชบุรีนี่เยอะเลย วันจันทร์ถึงพฤหัสเขาก็กลับไปอยู่บ้าน มาเปิดร้านเฉพาะแค่ศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ 3 วันเท่านั้น"

ป้าพร วัย 71 เจ้าของร้านขายของชำ ยืนยันว่าการเปิดตลาดน้ำยามเย็นอัมพวา ส่งผลให้การทำมาค้าขายเจริญรุ่งเรืองขึ้น

"เมื่อก่อนเงียบมาก ขายได้อย่างเก่งวันละ 1,000 แต่พอมีตลาดน้ำคนมากันเยอะจนหยิบแทบไม่ทัน ช่วงบูมสุดๆสมัยปี 2550 สามวันขายได้เป็นแสน"

ปทุม วียาหาร วัย 63 เพื่อนบ้าน เล่าว่าเมื่อก่อนเธอมีอาชีพรับจ้างทั่วไป ยากจนถึงขนาดต้องเก็บยอดผักจิ้มน้ำพริกกินแทบทุกมื้อ

"พอตลาดน้ำเปิด ลูกๆก็ยุให้ขายของ พวกน้ำปั่น ไอติมหลอด ขนมจุกจิก รายได้ก็เพิ่มขึ้นมาหน่อย ไม่ถึงกับรวยแต่ก็พออยู่ได้ไม่ลำบากเหมือนเก่า ใครหันมาค้าขายลืมตาอ้าปากกันได้ทั้งนั้น"

ทั้งคู่ยืนยันว่าตลาดน้ำอัมพวากำลังอยู่ในช่วง "ขาลง" เมื่อวัดจากรายได้ที่ตกลงอย่างต่อเนื่อง

"เดี๋ยวนี้คนยังมาเที่ยวเยอะก็จริง แต่กำลังซื้อลดลง เพราะสินค้าเหมือนกันไปหมด ราคาแพงไม่แพ้กรุงเทพ นักท่องเที่ยวก็เบื่อ เคยได้ยินเด็กที่เพิ่งมาครั้งแรกพูดว่า "ไม่เห็นจะมีอะไรเลย" อีกอย่างตอนนี้มีตลาดน้ำเปิดใหม่หลายแห่ง เขาเลยแค่มาแวะเดินเที่ยวแป๊บๆแล้วก็ไปต่อที่อื่น"

ภัทรพร อภิชิต และ วีรวุฒิ กังวานนวกุล เจ้าของร้านขายของที่ระลึก มองว่าความนิยมที่มีต่อตลาดน้ำอัมพวาผ่านช่วงที่เรียกว่าจุดสูงสุดมาแล้ว 

"สัญญาณความเสื่อมถอยมันพอจะมีเค้าลางให้เห็นตั้งแต่แรกแล้ว การเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยที่ไม่มีการจัดการท่องเที่ยวอย่างเหมาะสม ไม่มีเทศบัญญัติ ไม่มีกฎกติกาใดๆมาควบคุมสักอย่าง ขณะที่คนหลั่งไหลกันเข้ามาราวกับกระแสน้ำเชี่ยว ใครจะทำอะไรก็ได้ตามใจฉัน เรารู้เลยว่าอนาคตแย่แน่ เละแน่นอน"

ชุมพล ผู้ประกอบการธุรกิจเรือนำชมหิ่งห้อย ระบุด้วยว่า การจากไปของหิ่งห้อย ก็ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อนักท่องเที่ยวที่ลดลงอย่างน่าใจหาย

"ช่วงที่อัมพวาดังสุดขีด มีเรือพาชมหิ่งห้อยวิ่งไม่ต่ำกว่าร้อยเที่ยวต่อคืน วิ่งจนน้ำไปกัดเซาะชายฝั่งจนตลิ่งพัง ชาวบ้านบางคนโมโหทนไม่ไหวต้องโค่นต้นลำพูทิ้ง เพราะถูกรบกวนทุกคืน ที่ดินริมน้ำที่เคยอุดมไปด้วยต้นลำพู หิ่งห้อยเกาะระยิบระยับเหมือนต้นคริสมาสต์ก็ถูกถมเป็นที่พัก เมื่อไม่มีหิ่งห้อย คนก็เลิกมาดู รีสอร์ท เกสเฮาส์ รวมถึงธุรกิจเรือนำชมหิ่งห้อยทยอยเจ๊งกันไปเป็นจำนวนมาก"

10ปี\"ตลาดน้ำอัมพวา\"ถึงเวลาขาลง

พรุ่งนี้ยังมีหวัง?

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา นอกจากกระแสเฟื่องฟูสุดขีดของการท่องเที่ยว กระตุ้นเศรษฐกิจให้ชาวบ้านมีงานมีการทำ เลี้ยงปากเลี้ยงท้องได้ บางคนถึงขั้นร่ำรวยขยับฐานะเศรษฐีน้อยๆ

ทว่าอีกด้าน กลับสร้างความวิตกกังวลให้กับชาวอัมพวาอยู่ไม่น้อย นั่นคือ ผลพวงจากการบริหารจัดการที่ขาดทิศทาง ขาดการกำกับดูแลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ส่งผลให้เกิดปัญหาตามมามากมาย ตั้งแต่หิ่งห้อยสูญพันธุ์ ตลิ่งทรุด ขยะล้น รถติด เรือยนต์ยึดครองลำน้ำ สถาปัตยกรรมเก่าแก่ผิดเพี้ยน การรุกคืบจากนายทุนนักค้าที่ดิน จนถึงวิถีชุมชนดั้งเดิมสั่นคลอน

สุรจิต มองว่าสาเหตุที่ทำให้อัมพวาได้รับความสนใจอย่างท่วมท้นจากนักท่องเที่ยว คือ ความเป็นเมืองบ้านสวนเล็กๆอันเงียบสงบ รายรอบด้วยแม่น้ำคูคลอง วิถีความเป็นอยู่พอเพียง ที่สำคัญคือห่างจากกรุงเทพเพียงแค่ 64 กิโลเมตรเท่านั้น

"สมุทรสงครามเป็นเมืองที่มีเสน่ห์ในตัว มีความหลากหลาย แต่กระแสท่องเที่ยวยังไปไม่ทั่วถึง กลับกระจุกอยู่แค่ตลาดน้ำ ทำให้มันบอบช้ำ เนื่องจากตั้งรับไม่ทัน

ถามว่าตั้งแต่มีตลาดน้ำมา คนอัมพวามีความสุขขึ้นไหม  ผมว่ามันไม่ดีขึ้น มันไม่ใช่การโชว์ของดี เป็นแค่การโชว์ของฉาบฉวยมากกว่า นำไปสู่ความไม่สมดุลยั่งยืนในระยะยาว" 

10ปี\"ตลาดน้ำอัมพวา\"ถึงเวลาขาลง

ขณะที่ ปรีชา แนะว่ายังไม่สายเกินไปที่จะมีการจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

"เมื่อเม็ดเงินไหลมา เรามัวแต่หลงใหลได้ปลื้ม แต่ไม่ได้คิดว่าจะส่งผลกระทบต่อบ้านเรายังไง หลายคนไม่รู้ว่าทรัพยากรท่องเที่ยวของบ้านเรานั้นเปราะบาง เป็นแบบนิเวศน์วิถี ต้องมาดูบ้านริมน้ำ สวน พายเรือในคลอง เมื่อไม่มีการวางกรอบการท่องเที่ยวอย่างเหมาะสม วิถีชุมชนเราจึงพ่ายแพ้ อยากให้ฝ่ายที่มีหน้าที่และอำนาจสั่งการเข้ามาช่วยกันคิด หาวิธีการที่จะทำให้อัมพวาอยู่แบบยั่งยืน คนมาเที่ยวด้วย ขณะเดียวกันวิถีดั้งเดิมก็ต้องไม่ถูกทำลาย"

สุดท้าย ภัทรพร ฝากไปยังชาวอัมพวาว่าถึงเวลาหรือยังที่คนอัมพวาจะมานั่งทบทวนกับความเปลี่ยนแปลงในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา

"ปัญหาอยู่ที่ว่าเขาคิดว่ามันเป็นปัญหารึเปล่า มันกำลังทำร้ายกัดกร่อนชุมชนของเขารึเปล่า คนที่เป็นเจ้าของชุมชนน่าจะเป็นคนตอบ คุณค่าของอัมพวาที่เคยมีเสน่ห์กำลังถูกทำลาย เราควรมานั่งคุยกันว่าจะแก้ไขกันอย่างไร จะปรับจะเปลี่ยนกันอย่างไร แต่ถ้ามองไม่เห็นมัน ก็อาจต้องปล่อยไปตามยถากรรม"

คำถามดังๆที่ฝากไปยังคนอัมพวา สิบปีที่ผ่านมานับตั้งแต่ตลาดน้ำยามเย็นอัมพวา จนกลายเป็นเมืองท่องเที่ยวยอดนิยม วันนี้ ชาวอัมพวาพอใจในสิ่งที่เป็นอยู่จริงๆหรือ?

10ปี\"ตลาดน้ำอัมพวา\"ถึงเวลาขาลง

 

10ปี\"ตลาดน้ำอัมพวา\"ถึงเวลาขาลง

 

10ปี\"ตลาดน้ำอัมพวา\"ถึงเวลาขาลง

 

10ปี\"ตลาดน้ำอัมพวา\"ถึงเวลาขาลง

 

10ปี\"ตลาดน้ำอัมพวา\"ถึงเวลาขาลง

 

10ปี\"ตลาดน้ำอัมพวา\"ถึงเวลาขาลง