"สะพานมอญ"...ฟ้าหลังฝนยังคงสดใส
สิ่งที่เห็นและเป็นไป หนึ่งเดือนหลังการบูรณะสังขรณ์สะพานมอญ สังขละบุรี
เรื่อง/ภาพ...อินทรชัย พาณิชกุล
“ถ้าสะพานไม่พัง คนไทยก็คงไม่มีวันรู้ว่าสะพานมอญนั้นยิ่งใหญ่เพียงใด”
คำบอกเล่าของชาวบ้านรายหนึ่งในอ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี หลังจากได้เห็นสิ่งที่เรียกว่า “บารมี”อันเกิดขึ้นกับสะพานอุตตมานุสรณ์ หรือสะพานมอญ ด้วยสายตาตัวเอง
ตำนานสะพานมอญ
รู้กันในหมู่นักท่องเที่ยวว่า อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี เป็นดั่งสวรรค์บนดิน
เมืองชายแดนริมแม่น้ำโอบล้อมด้วยภูเขา สงบและงดงาม บรรยากาศรุ่มรวยด้วยวัฒนธรรมหลากหลายชาติพันธุ์ ไทย กะเหรี่ยง มอญ พม่า ลาว
นอกจากเจดีพุทธคยา วัดหลวงพ่ออุตมะ วัดใต้บาดาล และด่านเจดีย์สามองค์ อีกหนึ่งในสัญลักษณ์ของสังขละบุรีที่เป็นที่จดจำของผู้คนก็คือ สะพานมอญ หรือสะพานอุตตมานุสรณ์ สะพานไม้ที่มีความยาว 850 เมตร สร้างขึ้นจากดำริของหลวงพ่ออุตตมะ (พระราชอุดมมงคล) เจ้าอาวาสวัดวังก์วิเวการาม เมื่อปีพ.ศ. 2529
“สมัยแรกๆยังเป็นแพไม้ไผ่ต่อติดกันเว้นตรงกลางไว้เป็นแพสำหรับคนชักให้สะพานมาเชื่อมกัน เก็บเงินคนผ่านไปมาคนละบาท จนชาวบ้านเรียกว่าสะพานบาทเดียว หลวงพ่ออุตตมะเห็นว่าชาวบ้านเดือดร้อนที่ต้องเสียเงินข้ามฝั่งเลยคิดสร้างสะพานใหม่ขึ้นมาถาวร ให้ไปมาหาสู่กันได้สะดวก
วัสดุที่ใช้สร้างเป็นไม้ทั้งหมด ส่วนใหญ่เป็นไม้แดง เพราะเป็นไม้เนื้อแข็งที่มีความทนทานมาก ไม่ว่าเสา ราวสะพาน และพื้นสะพานจะเป็นไม้ขนาดหน้ากว้าง 1 ศอก ตัวสะพานใช้เสา 60 ต้น เสาช่วงกลางห่างกัน 10 ศอก ช่วงอื่นๆห่างกัน 7 ศอก ท่านเร่งสร้างทั้งกลางวันและกลางคืนใช้เวลาราว 2 เดือนก็เสร็จ”
บริเวณสามประสบ แลนด์มาร์คของสังขละบุรี
วีรพล โชติเสน ปราชญ์ชุมชนสังขละ ผายมือไปยังสะพานไม้ที่ตั้งตระหง่านขรึมขลังเหนือสายน้ำ ท่ามกลางไอหมอกยามเช้า
สะพานมอญแห่งนี้เกิดขึ้นจากความศรัทธาของผู้คนทุกเชื้อชาติ บางคนผลัดเปลี่ยนกันมาปรุงอาหารเลี้ยง บางคนเอาเครื่องมือ บางคนเอาแรงมาช่วยกันคนละไม้ละมือ โดยไม่ต้องพึ่งเครื่องจักรใดๆ
เบื้องหลังความแข็งแรงคงทนท้าทายแดดฝนมานานกว่าสามทศวรรษ ชาวสังขละต้องระดมกำลังกันซ่อมแซมสะพานอย่างต่อเนื่องทุกปี
“ที่ผ่านมา ชาวบ้านต้องคอยนำไม้ไผ่มาเสริมโครงสร้างของสะพาน นำไม้แดงมาเสริมตลอดแนวสะพานเพื่อเพิ่มความแข็งแรง หลายคนเคยผ่านประสบการณ์ซ่อมสะพานมอญมาแล้วทั้งนั้น”
กระทั่งปลายเดือนกรกฎาคม 2556 สะพานอุตตมานุสรณ์ตกเป็นข่าวใหญ่อีกครั้ง เมื่อเกิดเหตุฝนถล่มรุนแรง น้ำป่าไหลเชี่ยวจนซัดสะพานขาดออกจากกัน ส่งผลให้ทางจังหวัดสั่งปิดปรับปรุงชั่วคราว และได้เปิดประมูลว่าจ้างผู้รับเหมาให้เข้าทำการซ่อมแซม ทว่าติดขัดอุปสรรคปัญหาต้องลากยาวมาเกือบปี สะพานก็ยังไม่แล้วเสร็จ ตามมาด้วยกระแสกดดันอย่างหนักจากชาวบ้านในพื้นที่
แต่ท้ายที่สุดสะพานมอญซึ่งหลงเหลือเพียงซากปรักหักพังกลางน้ำก็ได้รับการบูรณะให้กลับมาสมบูรณ์ดังเดิม โดยน้ำมือของเหล่าทหารช่างจากกองพลทหารราบที่ 9 ร่วมกับชาวบ้าน ใช้เวลาเพียงแค่ 39 วันเท่านั้น
เงื่อนงำที่ยังต้องพิสูจน์
คำถามที่ชาวสังขละยังคลางแคลงใจไม่หายคือ เกิดอะไรขึ้นกับเบื้องหลังการซ่อมแซมสะพานมอญครั้งนี้
เพจเฟซบุ๊กชื่อ สะพานมอญโมเดล ได้ออกมาเปิดเผยต่อสาธารณะถึงสาเหตุที่การซ่อมแซมสะพานมอญเป็นไปอย่างล่าช้าว่าเกิดจากผู้รับเหมาคือ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ป.รุ่งเรืองวัสดุภัณฑ์ ซึ่งถูกว่าจ้างจากทางจังหวัดด้วยวิธีพิเศษ ไม่สามารถดำเนินการให้เสร็จตามกำหนดเวลาได้ อีกทั้งไม้ที่นำมาซ่อมกลับไม่ได้มาตรฐาน ต้องรื้อทิ้งใหม่ทั้งหมด
นอกจากนี้ยังนำหลักฐานที่บ่งชี้ว่าอาจมีความไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้นกับเงินบริจาคสร้างสะพานมอญ โดยตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใดทางผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจบนบุรี (ในขณะนั้น) ถึงต้องจ่ายเงินค่าซ่อมสะพานให้ผู้รับเหมาถึง 10 ล้านบาท จากค่าซ่อมเต็มจำนวนกว่า 16,347,000 บาท ทั้งที่ผู้รับเหมาทำผิดสัญญาว่าจ้าง หลังไม่สามารถซ่อมสะพานได้เสร็จตามกำหนด
“กรณีที่เกิดขึ้นมองว่าตัวอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดเองไม่ทำตามความต้องการของชาวบ้าน เพราะที่ผ่านมาเขาซ่อมกันเองมาตลอด หลายคนมีประสบการณ์ซ่อมสะพานมอญมาแล้วทั้งนั้น แต่นี่จู่ๆก็มีผู้รับเหมามาซ่อมสะพาน โดยทางวัดและชุมชนไม่ทราบเรื่องมาก่อน ผู้รับเหมาเองไม่มีความชำนาญในการสร้างสะพานไม้ แถมไม่ให้ความสำคัญของช่างท้องถิ่น การซ่อมแซมจึงลากยาวไปนานเกือบหนึ่งปีเต็ม
ข้ออ้างที่บอกว่าจำนวนไม้ไม่เพียงพอ ประกอบกับช่วงหน้าฝนทำให้การดำเนินการเป็นไปอย่างยากลำบาก อันนี้ไม่เป็นความจริง เพราะไม้มีอยู่แล้วที่วัดจากชาวบ้านที่บริจาคให้ไว้ในอดีต บวกกับช่วงที่เกิดเหตุก็มีคนบริจาคมาให้เพิ่มอีกเยอะ สำหรับแนวคิดการสร้างสะพาน หลวงพ่ออุตมะเคยบอกว่าต้องทำในช่วงที่น้ำหลากเพราะสามารถเช็คปริมาณน้ำแล้วนำมาคำนวนความคงทนของกระแสน้ำได้ ช่างไม้ที่เคยสร้างสะพานกับหลวงพ่ออุตมะหลายคนเมื่อเกิดเรื่องเขาก็รวมตัวกันมาช่วย ฝ่ายทหารช่างก็เชื่อในภูมิปัญญาท้องถิ่น เครื่องไม้เครื่องมือ อาหารการกิน ชาวบ้านก็สนับสนุนไม่ขาดตกบกพร่อง สะพานจึงซ่อมเสร็จใช้เวลาแค่ 39 วันเท่านั้น”เป็นคำให้สัมภาษณ์ของผู้ก่อตั้งเพจสะพานมอญโมเดล
ข้อเรียกร้องของคนกลุ่มนี้คือ ต้องการทวงเงินบริจาคคืนจากภาครัฐ และนำตัวคนทุจริตมาลงโทษให้ได้
ล่าสุด สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เข้ามาตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นแล้ว โดยเชิญนายธวัช ไตรรุ่งตระกูล สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี นายวรุตน์ ชาวกรุงเก่าและสมาชิกเฟซบุ๊กสะพานมอญโมเดลเข้าให้ปากคำ และขอข้อมูลเพิ่มเติมจากทางจังหวัดกาญจนบุรีเกี่ยวกับการว่าจ้างผู้รับเหมาด้วยวิธีพิเศษว่าถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่
ธุรกิจเรือนำเที่ยวกลับมาคึกคักอีกครั้ง
รอยยิ้มของชาวสังขละ
ภาพผู้คนเรือนหมื่นเดินเบียดเสียดบนสะพานมอญ สะพานลูกบวบ (สะพานไม้ไผ่ที่สร้างขึ้นชั่วคราวช่วงเกิดเหตุ) ตลอดจนริมสองฝั่งแม่น้ำซองกาเลีย เมื่อวันที่ 18 ต.ค. ซึ่งเป็นวันเปิดสะพานอย่างเป็นทางการวันแรกหลังซ่อมเสร็จ ช่างน่าเหลือเชื่อ
“พูดก็พูดเถอะ คนเขาตั้งตารอสะพานมอญซ่อมเสร็จทั้งนั้นแหละ ถ้าไม่ได้เดินเที่ยวบนสะพานมอญก็ถือว่ามาไม่ถึงสังขละบุรี”
ป้าเย็น หญิงชาวมอญผู้ประแป้งทานาคา นุ่งโสร่งสีสด ผู้ทำหน้าที่ชักชวนนักท่องเที่ยวลงเรือล่องแม่น้ำ ยิ้มโชว์ฟันขาว เธอกระซิบว่าเกือบหนึ่งปีที่ปิดซ่อมแซมสะพานอุตตมานุสรณ์ เมืองสังขละซบเซาอย่างน่าใจหาย เกสต์เฮาส์ เรือนำเที่ยวปิดตัวลงเกือบครึ่ง ชาวบ้านหลายคนต้องหันไปยึดอาชีพเดิมคือหาปลามาขายประทังชีวิต
ซอสิบ เด็กพม่าวัย 10 ขวบ เล่าให้ฟังว่า ช่วงสะพานมอญปิดปรับปรุง เหล่ามัคคุเทศน์น้อยบนสะพานมอญ จำนวน 5-6 คน ต้องพลาดโอกาสหาเงินค่าเล่าเรียนวันละกว่า 200-400 บาทต่อวันไปอย่างน่าเสียดาย ขณะที่ วิชา ดาบแก้ว เจ้าของแพที่พักและเรือนำเที่ยวบริเวณสามประสบ บอกว่าโชคดีที่สะพานมอญซ่อมเสร็จทันช่วงไฮซีซัน นั่นแปลว่าห้องพักทุกแห่งถูกจองเต็ม ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึกแน่นไปด้วยผู้คนหลั่งไหลเข้ามาไม่ขาดสาย
สังขละบุรีตื่นฟื้นกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง
วิถีชีวิตยามเย็นบนสะพานลูกบวบ
“ความศรัทธา มุ่งมั่น และใจที่เต็มเปี่ยมพร้อมจะช่วยเหลือของทุกคน ทั้งชาวบ้านในพื้นที่ นักท่องเที่ยวทั้งไทยและเทศ ทีมทหารช่างจากกองพลทหารราบที่ 9 ทุกคนที่มาช่วยซ่อมสะพานมอญแทบไม่ต้องเสียงบประมาณค่าอาหารเลยแม้แต่บาทเดียว โดยเฉพาะชุมชนเองต่างเสนอตัวเป็นเจ้าภาพทำอาหารจนคิวยาวเหยียดเลี้ยงกันได้เป็นปี นักท่องเที่ยวเองก็เอาขนมนมเนย เครื่องดื่มชูกำลังไปฝากคนที่ทำงานมิได้ขาด ถึงขั้นที่ว่านายช่างร้องขอตะปู 1 ลัง ชั่วพริบตาตะปูก็มาอยู่ตรงหน้า 4-5 ลัง กำลังคน กำลังงาน กำลังศรัทธาเปี่ยมล้น เงินบริจาคมาก็แทบไม่ต้องใช้ ยิ่งข่าวเรื่องสะพานออกไปมากเท่าไหร่ความช่วยเหลือกก็ยิ่งหลั่งไหลมามากเป็นทวีคูณ”ชาวบ้านรายหนึ่งเล่าถึงประสบการณ์ประทับใจช่วงซ่อมแซมสะพานมอญ
อย่างไรก็ตาม ยังมีความห่วงใยปรารถนาดีจาก พระมหาสุชาติ สิริปัญโญ เจ้าอาวาสวัดวังก์วิเวการาม แสดงความเห็นถึงกระแสนักท่องเที่ยวแห่แหนกันมาเดินเที่ยวบนสะพานมอญไว้อย่างน่าคิด
“ช่วงเทศกาลต่างๆ มักจะมีนักท่องเที่ยวเดินชมบรรยากาศอยู่บนสะพานเป็นจำนวนมากในเวลาพร้อมๆกัน ดังนั้นจะต้องระมัดระวังเรื่องของความปลอดภัยให้มาก เพราะสะพานมอญเป็นสะพานไม้ทั้งหมด ประกอบกับตั้งอยู่ในน้ำ ตัวโครงสร้างโดยธรรมชาติแล้วก็ไม่สามารถรับน้ำหนักได้เหมือนสะพานคอนกรีต เกรงว่าหากขณะจัดงานเกิดมีคนตะโกนว่าไฟไหม้ หรือสะพานแกว่งตัวเพราะแรงสั่นสะเทือนของการจุดพลุ แล้วเกิดมีผู้คนตะโกนว่าสะพานกำลังจะพัง อาจเกิดโศกนาฏกรรมเหยียบกันตาย เฉกเช่นเดียวกับงานเฉลิมฉลองเทศกาลน้ำประจำปีของกัมพูชาที่มีผู้เสียชีวิตหลายร้อยคนก็เป็นได้”
ปฏิเสธไม่ได้ว่า กระแสการเติบโตแบบก้าวกระโดด รวมถึงความโด่งดังของข่าวสะพานมอญ ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวจำนวนมหาศาลหลั่งไหลเข้ามายังสังขละบุรี หากไม่มีการเตรียมความพร้อม การบริหารจัดการการท่องเที่ยวที่รัดกุม เสน่ห์อันขรึมขลังที่เคยมีก็อาจเปลี่ยนแปลงไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
หลวงพ่ออุตตมะ
โบสถ์กลางน้ำ
เด็กน้อยชาวมอญกับชุดเอกลักษณ์ประจำถิ่น
ยามเช้าที่ตลาดสังขละ
เจดีย์พุทธคยา