ครูตู้แห่ง "ไกลกังวล" โรงเรียนของพระราชา
21ปีแห่งการเรียนการสอนทางไกลผ่านดาวเทียมจากโรงเรียนวังไกลกังวล ที่ลดช่องว่างและความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาด้วยพระมหากรุณาธิคุณ
โดย...ไชยวัฒน์ สาดแย้ม
21 ปีมาแล้วที่ “ครูตู้” จาก “สถานีโทรทัศน์เพื่อการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม” แห่งโรงเรียนวังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ถ่ายทอดสดการเรียนการสอนออกไปให้โรงเรียนอีกหลายพันแห่งทั่วประเทศ รวมทั้งประเทศลาว ได้มีโอกาสรับความรู้จากครูผู้สอนที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ไปพร้อมๆ กัน
โอกาสซึ่งนักเรียนทั้งประเทศ ไม่ว่าจะอยู่ในเมืองหรือพื้นที่ห่างไกลความเจริญเหล่านี้ได้รับอย่างเท่าเทียมกันนี้ มาจากพระเมตตาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวง รัชกาลที่ 9
แม้จะเกษียณอายุราชการมาแล้วถึง 10 ปี แต่ ณรงค์ฤทธิ์ ศักดารณรงค์ อดีตอาจารย์โรงเรียนวังไกลกังวล ก็ยังได้รับความไว้วางใจให้ดูแลสถานีโทรทัศน์เพื่อการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม จนกล่าวได้ว่า อาจารย์ณรงค์ฤทธิ์นั้นเป็นผู้ดูแลสถานีโทรทัศน์เพื่อการศึกษาแห่งนี้มาตั้งแต่เริ่มต้นเมื่อ พ.ศ. 2538 จนถึงปัจจุบัน
“ผมและภรรยาเคยเป็นอาจารย์สอนอยู่ในโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามที่ จ.ปัตตานี ตั้งแต่ปี 2518 มีโอกาสได้พัฒนาปอเนาะจนเป็นโรงเรียนที่มีการพัฒนาสูง ต่อมาได้มีคำสั่งให้ไปปฏิบัติหน้าที่ประจำศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ที่ จ.ยะลา ก็ได้มีโอกาสพัฒนาโรงเรียนที่มีนโยบายพิเศษ ต่อมาในปี 2533 ท่านขวัญแก้ว (ขวัญแก้ว วัชโรทัย รองเลขาธิการสำนักพระราชวัง ฝ่ายกิจการพิเศษ และประธานกรรมการบริหารโรงเรียนวังไกลกังวล) ได้ขอความร่วมมือไปทางกระทรวงศึกษาฯ หาอาจารย์เข้ามาช่วยทำการสอนนักเรียนโรงเรียนวังไกลกังวล เนื่องจากขาดแคลนอาจารย์ผู้สอนเป็นอย่างมาก ซึ่งทางกระทรวงได้ส่งผมและภรรยาเข้ามาสอนยังโรงเรียนวังไกลกังวล” อาจารย์ณรงค์ฤทธิ์ เล่าถึงที่มา ซึ่งได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับโรงเรียนวังไกลกังวล
กระทั่งปี 2538 ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงมีแนวพระราชดำริลงมาว่า “การศึกษาของชาติ ถ้ามองโดยรวมแล้วยังมีความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอยู่ นักเรียนในชนบทที่ห่างไกลในถิ่นทุรกันดารยังด้อยโอกาส ถ้าหากโรงเรียนวังไกลกังวลจัดการเรียนการสอนในรูปแบบโทรทัศน์เพื่อการศึกษา โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยมาเป็นเครื่องมือในการถ่ายทอดการเรียนการสอนจากห้องเรียนไปยังโรงเรียนเครือข่ายต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าช่วยได้เฉพาะโรงเรียนวังไกลกังวล แต่จะเป็นการแบ่งปันที่เป็นการขยายโอกาสให้โรงเรียนที่เขาขาดแคลนในชนบทได้ประโยชน์ไปด้วย โดยใช้ห้องเรียนโรงเรียนวังไกลกังวลเป็นต้นทางที่ไม่ใช่ต้นแบบ”
อาจารย์ณรงค์ฤทธิ์ บอกว่า ในหลวง รัชกาลที่ 9 ไม่ได้ทรงคัดเลือกครูมาจากที่อื่น พระองค์ท่านไม่ได้ทรงทอดทิ้งครูโรงเรียนวังไกลกังวล และครูที่โรงเรียนแห่งนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นครูที่เก่ง
“พวกเรามีหน้าที่ทำงานสนองพระบรมราโชบายอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระองค์ท่าน ที่ว่า ‘เราจะช่วยเหลือเกื้อกูลโรงเรียนปลายทาง’ เพราะว่าโรงเรียนวังไกลกังวลในตอนนั้นได้มีการพัฒนาให้ทันสมัยก้าวหน้าขึ้นมาแล้ว สิ่งที่เคยขาดแคลนก็ได้รับการแก้ไขไปจนหมดแล้ว ดังนั้นโรงเรียนวังไกลกังวลจึงทำหน้าที่เป็นโรงเรียนต้นทางในการให้ความช่วยเหลือโรงเรียนปลายทางที่ขาดแคลนครูผู้สอน ถ่ายเทความรู้ไปสู่เด็กในชนบทในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงเรียนปลายทางที่ขาดแคลนครูผู้สอน ทำให้เด็กๆ ได้รับความรู้ความสามารถอย่างเท่าเทียมและเสมอภาคกันทั่วทั้งประเทศไทยได้ในวันเวลาเดียวกันหมด”
การถ่ายทอดสดการเรียนผ่านดาวเทียมของโรงเรียนวังไกลกังวล
การออกอากาศเป็นปฐมฤกษ์เริ่มในวันที่ 5 ธ.ค. 2538 หลังจากนั้นไม่นาน โรงเรียนวังไกลกังวลก็ต้องยกระดับคุณภาพขึ้นมา ครูต้องไปเรียนรู้ คำว่าโรงเรียนต้นทางจึงพัฒนาไปจนกลายเป็นโรงเรียนต้นแบบ คือกลายเป็นต้นแบบของการเรียนการสอนในระบบทางไกลผ่านดาวเทียม
นอกจากประเทศไทยแล้ว ในหลวง รัชกาลที่ 9 ก็ได้พระราชทานอุปกรณ์รับสัญญาณให้กับโรงเรียนรัฐชั้นนำของประเทศลาวอย่างโรงเรียนมัธยมสมบูรณ์ทิพย์ในเวียงจันทน์ โดยนำไปติดให้ในห้องพิเศษหรือห้องเด็กอัจฉริยะ นอกจากนี้ ยังมีสถานศึกษาอีกหลายแห่งในเวียงจันทน์ ที่แขวงบ่อแก้ว นครจำปาสัก
กว่า 20 ปี ที่ถวายงานรับใช้ในโรงเรียนวังไกลกังวล หลายโอกาสที่ได้ฟังรับสั่งจากในหลวง รัชกาลที่ 9 ในด้านการศึกษา ทำให้อาจารย์ณรงค์ฤทธิ์ตั้งใจจะสนองพระราชปณิธานด้านการศึกษาด้วยชีวิต
“ครั้งหนึ่งขณะที่ผมพร้อมคณะครูและนักเรียนวังไกลกังวลมายืนเข้าแถวที่สนามในวังไกลกังวลเพื่อส่งเสด็จ พระองค์ท่านเสด็จฯ มาจนถึงท้ายแถวที่ผมยืนอยู่ แล้วมีรับสั่งว่า ‘ให้ดูแลนักเรียนให้ดี และให้ร่วมกับหน่วยงานอื่น โดยเฉพาะวิทยาลัยการอาชีพวังไกลกังวล เนื่องจากโรงเรียนวังไกลกังวลนักเรียนบางคนเขาเรียนไม่เก่งไม่เป็นไร ดังนั้นจะให้เขามุ่งเข้ามหาวิทยาลัยทั้งหมดก็เป็นไปไม่ได้
ดังนั้นถ้าเขาไม่สามารถไปเรียนต่อในมหาวิทยาลัยได้ก็ให้เขาได้มีโอกาสไปเรียนต่อที่วิทยาลัยการอาชีพ ให้เขาเรียนทางวิชาชีพ เมื่อจบออกมาแล้วเขาจะได้ช่วยเหลือเลี้ยงดูตนเองได้ มีความรู้ในทางปฏิบัติ’ พระองค์ทรงมีสายพระเนตรที่ยาวไกลและมีความลึกซึ้ง จึงเกิดวิทยาลัยการอาชีพวังไกลกังวลขึ้นในโรงเรียนวังไกลกังวล” อาจารย์ณรงค์ฤทธิ์ เล่าถึงพระราชกระแสรับสั่ง
และอีกรับสั่งที่จดจำไม่รู้ลืมคือ “ถ้าครูทุกคนมีจิตวิญญาณของความเป็นครู ครูก็จะอบรมบ่มนิสัยของนักเรียนได้ด้วยความรักความเมตตาของความเป็นครู”
“พระองค์ท่านทรงเน้นย้ำว่า ‘ฝากไว้ด้วย ถ้ามีปัญหาอย่างใด ก็อย่าได้ไล่เด็กเขาออกจากโรงเรียน เพราะเขาไม่มีที่ไป จึงบากหน้ามาพึ่งโรงเรียนวังไกลกังวล โดยคิดว่าเป็นโรงเรียนของพระเจ้าอยู่หัว ก็ให้ช่วยเหลือเขา ถ้าไปไล่เขาออกจากโรงเรียน ก็เหมือนกับไปซ้ำเติมชีวิตเหมือนเขาตกนรก’ ซึ่งพระองค์ท่านทรงใช้คำง่ายๆ แต่กินใจ ทำให้ผมรู้สึกปลื้มใจเป็นอย่างมาก จึงกราบบังคมทูลต่อพระองค์ท่านไปว่า ‘ ข้าพระพทุธเจ้า นายณรงค์ฤทธิ์ ศักดารณรงค์ ขอเอาชีวิตเป็นราชพลีทางการศึกษา มิหวั่นไหวต่อปัญหาและอุปสรรคใดๆ’”
วันนี้ การเรียนการสอนทางไกลผ่านดาวเทียมจากโรงเรียนวังไกลกังวลผ่านมาถึง 21 ปี ด้วยพระมหากรุณาธิคุณ ลดช่องว่างและความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ให้เยาวชนของชาติมีสิทธิได้เรียนรู้โดยเท่าเทียมกันอย่างสมบูรณ์
ปัญจรัตน์ พจนพิมล ศิษย์เก่าโรงเรียนวังไกลกังวล กับรางวัลเรียนดีที่ได้รับพระราชทาน
"ทำหน้าที่ให้ดีที่สุด" พระบรมราโชวาทประทับใจศิษย์เก่า
นอกจากพระราชทานความช่วยเหลือแก่โรงเรียนวังไกลกังวลในทุกด้านแล้ว พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ยังพระราชทานรางวัลเรียนดีแก่นักเรียนเป็นประจำทุกปีอีกด้วย
ในความทรงจำของศิษย์เก่าโรงเรียนวังไกลกังวล ซึ่งได้รับพระราชทานรางวัลเรียนดีจากในหลวง รัชกาลที่ 9 ถึง 8 ครั้ง เป็นรางวัลเรียนดีประจำปี 6 ครั้ง และรางวัลพิเศษอีก 2 ครั้ง เภสัชกรหญิง ปัญจรัตน์ พจนพิมล แห่งโรงพยาบาลประจวบคีรีขันธ์ บอกด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ว่า
“สิ่งที่ดีที่สุดคือการเดินตามรอยของพระองค์ท่าน คือการทำหน้าที่ของเรา ของแต่ละคน ให้ดีที่สุด และไม่ควรหยุดอยู่กับที่ หากแต่ต้องพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ”
ปัญจรัตน์ บอกว่า สอบเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนวังไกลกังวล ในชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ในปี พ.ศ. 2518 ซึ่งโรงเรียนวังไกลกังวลเป็นลักษณะโรงเรียนเอกชน แต่อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ คนหัวหินส่วนใหญ่อยากให้ลูกหลานเข้าเรียนที่โรงเรียนแห่งนี้ เพราะเป็นโรงเรียนของในหลวง
“เด็กที่เรียนดีจะได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ และรับพระราชทานรางวัลเรียนดีจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยจะต้องสอบได้ระดับที่ 1-3 ของชั้นเรียน ดิฉันได้รับพระราชทานรางวัลเรียนดีปีแรกในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6”
ปัญจรัตน์ บอกว่า ครั้งแรกที่ได้เข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานรางวัลเรียนดีนั้น จำได้ดีว่าตื่นเต้นมาก ตั้งแต่หมอบคลานเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งรางวัลที่ได้รับเป็นหนังสือและสมุดเรียนตลอดปีการศึกษา ทำให้สมัยเรียนไม่ต้องซื้อหนังสือหรือสมุดเรียนเลย
“พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่ได้ฟังครั้งแรกและจดจำได้ดีเสมอมา โดยพระองค์มีพระบรมราโชวาทว่า ‘ให้ตั้งใจเรียน แต่จะเรียนเก่งเพียงอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีความประพฤติดี มีความซื่อสัตย์สุจริต มีความนอบน้อมถ่อมตน ช่วยเหลืองานโรงเรียน ขอให้มีความขยัน แล้วทุกคนจะได้รางวัล ซึ่งไม่ใช่รางวัลที่ได้จากในหลวง แต่เป็นรางวัลที่ได้กับชีวิตของตนเอง เพราะความขยันหมั่นเพียรช่วยให้ชีวิตเจริญก้าวหน้า และยังช่วยให้ประเทศเจริญก้าวหน้าไปด้วย’”
ปัญจรัตน์ บอกต่อไปว่า ในอดีตได้เรียนที่โรงเรียนวังไกลกังวล 6 ปี คือตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5-มัธยมศึกษาปีที่ 3 ซึ่งได้รับรางวัลพระราชทานเรียนดีทุกปี และรับรางวัลพิเศษอีก 2 ครั้ง เป็นรางวัลถุงเงินและถุงทอง คือรางวัลนักเรียนดี ซึ่งในถุงเงินถุงทองมีทุนพระราชทานเรียนดี รวม 3,900 บาท ถุงเงิน 900 บาท และถุงทองอีก 3,000 บาท ถือเป็นที่สุดแห่งชีวิตที่ได้เข้าเฝ้าฯ และได้รับพระราชทานทุนการศึกษา ซึ่งทุกวันนี้เงินพระราชทานดังกล่าวยังอยู่ครบทุกใบและเก็บไว้เป็นมงคลสูงสุดในชีวิต
ปัญจรัตน์ บอกว่า แม้จะผ่านมานานถึง 40 ปีเต็ม แต่ยังคงสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ เพราะได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ กราบแทบพระบาทถึง 8 ครั้ง และได้มีโอกาสฟังพระบรมราโชวาททุกปี พระองค์ท่านทรงเน้นให้รู้จักหน้าที่และจรรยาบรรณต่างๆ ต้องเป็นคนเก่งและเป็นคนดี ได้น้อมนำพระบรมราโชวาทมาปฏิบัติตั้งแต่สมัยเรียน จุดประกายให้ตั้งใจเรียนอย่างมาก และตั้งใจที่จะรับราชการเพื่อตอบแทนคุณแผ่นดิน และได้ทำงานถวายในหลวงเป็นข้าราชการในรัชกาลที่ 9 เพราะพระองค์ท่านทรงเป็นตัวอย่างในการทำงานเพื่อประชาชน และขอยึดตามคำสอนของพระองค์ท่านที่รับสั่งให้รู้จักหน้าที่ มีความซื่อสัตย์สุจริต และเป็นคนดี ทำให้รู้สึกภาคภูมิใจที่ได้ใช้วิชาชีพที่เรียนมาช่วยเหลือคนอื่นได้ ซึ่งได้ทำงานอย่างสุดความสามารถ และพยายามพัฒนาความรู้ของตัวเองอยู่เสมอ เพราะวิวัฒนาการทางการแพทย์ไม่ได้หยุดนิ่ง การศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอจึงเป็นสิ่งสำคัญ
โรงเรียนวังไกลกังวล
โรงเรียนวังไกลกังวล
โรงเรียนวังไกลกังวล ตั้งอยู่ติดกับวังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ก่อตั้งเมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2481 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 มีพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งขึ้น เพื่อให้การศึกษาแก่บุตรหลานของเจ้าหน้าที่ผู้รักษาวังไกลกังวล ซึ่งมีอยู่จำนวนมาก แต่ไม่มีสถานที่เล่าเรียน โดยพระราชทานเงินงบพระราชกุศลจ้างครูและจัดหาเครื่องใช้
เริ่มเปิดสอนชั้นอนุบาลจำนวน25 คน เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2481 มีครูผู้สอนจำนวน 1 คน โดยทางราชการอนุญาตให้จัดตั้งเป็นโรงเรียนราษฎร์ เปิดสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 มีนักเรียนหญิง 48 คนในขณะนั้น อาคารเรียนเมื่อแรกตั้งเป็นอาคารไม้ชั้นเดียว มีเนื้อที่บริเวณเพียงเล็กน้อยแต่กิจการของโรงเรียนมีความเจริญก้าวหน้าเป็นลำดับ โดยจะเห็นได้จากปีพุทธศักราช 2488 เปิดสอนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระราชประสงค์จะขยายกิจการของโรงเรียนให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น เพื่อให้ลูกหลานประชาชนที่อยู่ในเขต อ.หัวหิน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวประมงและชาวบ้านในเขตใกล้เคียง มีโอกาสศึกษาเล่าเรียนต่อเนื่องตั้งแต่ระดับเตรียมประถมประถมศึกษา จนถึงมัธยมศึกษาสามารถไปศึกษาต่อชั้นอุดมศึกษาและนำความรู้ไปประกอบอาชีพได้