posttoday

เร่งบูรณะสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำแควน้อยสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

17 สิงหาคม 2563

พิษณุโลก-การรถไฟฯเตรียมบูรณะใหญ่สะพานรถไฟข้ามแม่น้ำแควน้อย สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ถูกทิ้งระเบิดทำลาย เพื่อสร้างคุณค่าสะพานเก่าแก่สมัยประวัติศาสตร์

เมื่อวันที่  17 ส.ค. ที่บริเวณสถานีรถไฟแควน้อย อ.เมือง จ.พิษณุโลก การรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.)ได้ทำการบูรณะสะพานดำรถไฟข้ามแม่น้ำแควน้อย เป็นสะพานรถไฟสายสำคัญที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยปัจจุบันสะพานแห่งนี้ยังคงมีร่องรอยการทิ้งระเบิดหลงเหลืออยู่จากสงครามโลกครั้งที่ 2 มีสภาพชำรุดทรุดโทรมเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะไม้หมอนรถไฟซึ่งเป็นไม้เก่าได้เกิดการพุพังตามอายุ การรถไฟแห่งประเทศไทยจึงได้มีนโยบายปรับปรุงตัวโครงสร้างสะพานรถไฟใหม่ โดยโครงเหล็กปรับเปลี่ยนเป็นโครงเหล็กชุบกัลวาไนซ์ ตัวไม้หมอนเปลี่ยนใหม่ทั้งหมด เพื่อเสริมความแข็งแกร่งของตัวสะพาน เพื่อรองรับหัวรถจักรรุ่นใหม่ ที่การรถไฟแห่งประเทศไทยได้สั่งซื้อ เตรียมนำมาใช้งานจริง เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่สัญจร

สำหรับ ตัวสถานีรถไฟแควน้อย อยู่ห่างจากสถานีรถไฟพิษณุโลกไปทางทิศเหนือระยะทางประมาณ 15 กม. ส่วนสะพานดำข้ามทางรถไฟแควน้อยอยู่ห่างจากตัวสถานีรถไฟแควน้อยไปทางทิศเหนือประมาณ 500 เมตร ชาวบ้านที่ทราบข่าวการบูรณะซ่อมแซมสะพานดำข้ามทางรถไฟที่มีประวัติอันยาวนาน ก็มักจะแวะเวียนมาถ่ายภาพการบูรณะเก็บไว้เป็นที่ระลึกอีกด้วย

เร่งบูรณะสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำแควน้อยสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

นายธีรพงษ์ พันธ์ทับทิม อายุ 36 ปี ลูกจ้างเฉพาะงาน สถานีรถไฟแควน้อย กล่าวว่า ปู่ย่าตายาย คนเฒ่าคนแก่ในหมู่บ้านได้เล่าให้ฟังรุ่นต่อรุ่นมาว่า ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่านไปประเทศพม่า ฝ่ายสัมพันธมิตรต้องการตัดเส้นทางลำเลียงของญี่ปุ่น จึงทิ้งระเบิดเพื่อทำลายเส้นทางการลำเลียงทั้งสะพานข้ามแม่น้ำ สะพานรถไฟ และสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำแควน้อยแห่งนี้ก็เป็น 1 ในสถานที่ที่ถูกทิ้งระเบิดเช่นเดียวกันกับสะพานข้ามแม่น้ำน่าน ที่สถานีรถไฟชุมทางบ้านดารา อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์ แต่โชคดีที่ระเบิดไม่ทำงาน

ทั้งนี้ เมื่อเวลาล่วงเลยไปนานมาก และไม่มีการบันทึกไว้ มีเสียงคนเฒ่าคนแก่จากรุ่นสู่รุ่นที่เล่าขานกันมาว่า ในเวลาต่อมาชาวบ้านได้ไปพบระเบิดขนาดใหญ่จำนวน 3 ลูก (ลูกใหญ่ 1 ลูก ลูกเล็ก 2 ลูก) จมน้ำในลักษณะเสื่อมสภาพในแม่น้ำแควน้อย ใกล้เคียงกับสะพานดำรถไฟ จึงนำมาคว้านไส้ดินระเบิดด้านในออก และทาสีใหม่แล้วนำไปตั้งไว้ที่ สถานีรถไฟแควน้อย เพื่อไว้สำหรับรำลึกถึงเหตุการณ์สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 จนในเวลาต่อมาระเบิดได้หายไป 1 ลูก เหลือเพียงลูกใหญ่ 1 ลูก และลูกเล็ก 1 ลูกเท่านั้น

เร่งบูรณะสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำแควน้อยสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

นายธีรพงษ์ กล่าวว่า การบูรณะ"สะพานดำ"ครั้งนี้ เพื่อเสริมความแข็งแกร่งของตัวสะพาน รองรับหัวรถจักรรุ่นใหม่ ที่การรถไฟแห่งประเทศไทยเตรียมนำมาใช้งานจริง เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่สัญจร ถือเป็นนโยบายของการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่ต้องการพัฒนาปรับปรุงพื้นที่เส้นทางสายรางและสถานีรถไฟทั่วประเทศ ให้เกิดการใช้สอยเป็นประโยชน์สูงสุดต่อส่วนรวมอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนให้มีความปลอดภัยในการเดินทาง ในอนาคตทางการรถไฟแห่งประเทศไทยมีแผนที่จะขยายพื้นที่ซ่อมแซมบูรณะปรับปรุงสิ่งปลูกสร้างสถาปัตยกรรมเก่าแก่ต่างๆ ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ตามเส้นทางสายรางในพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศด้วย

เร่งบูรณะสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำแควน้อยสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2