posttoday

พลิกวิกฤตสู่โอกาส : นครสวรรค์กับการแก้ภัยแล้ง

24 กุมภาพันธ์ 2559

สุธี มากบุญ รมช.มหาดไทย

โดย...สุธี มากบุญ รมช.มหาดไทย

สภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนอันเป็นผลกระทบจากภาวะโลกร้อน มีความเกี่ยวพันกับปัญหาภัยพิบัติจากธรรมชาติที่เกิดขึ้นทั่วทุกภูมิภาคของโลกและมีแนวโน้มจะรุนแรงมากยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับประเทศไทยซึ่งในปีนี้หลายฝ่ายมุ่งเป้าไปที่สถานการณ์ภัยแล้งว่าจะเป็นปัญหาสำคัญที่นำไปสู่ภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจและสังคม อันจะกระทบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในระดับปัจเจกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

โดยมีการคาดการณ์ว่าสถานการณ์ภัยแล้งในปีนี้อาจรุนแรงที่สุดในรอบ 20 ปี ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็ได้เตรียมพร้อมรับสถานการณ์โดยอาศัยกลไกต่างๆ ทั้งทหารและพลเรือน ผ่านมาตรการของรัฐเพื่อบรรเทาและแก้ไขปัญหา

สำหรับสถานการณ์ปัจจุบัน (17 ก.พ. 2559) มีการประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินภัยแล้ง จำนวน 11 จังหวัด 43 อำเภอ 212 ตำบล 1,862 หมู่บ้าน อย่างไรก็ตามจากการประเมินสถานการณ์เบื้องต้นพบว่าในจำนวน 878 อำเภอ และ 50 เขตของกรุงเทพมหานคร มีอยู่ 548 อำเภอ หรือประมาณ 59% มีความเสี่ยงที่จะเผชิญภัยแล้ง

ทั้งนี้ รัฐบาลใช้วิธีการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาแบบแยกเป็นกลุ่มจังหวัด โดยจัดระดับการขาดแคลนน้ำเป็น 4 ระดับ คือ ระดับปกติ เฝ้าระวัง ใกล้วิกฤต และวิกฤต ซึ่งปัจจุบันพื้นที่ขาดแคลนน้ำสูงสุดยังอยู่ในขั้นใกล้วิกฤต คือกลุ่มจังหวัดที่ 14 ในพื้นที่ จ.ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ และสุรินทร์ โดยรัฐบาลได้เข้าไปช่วยเหลือตามจุดที่เกิดความเสียหายในพื้นที่

ท่ามกลางสถานการณ์ที่มีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ยังมีพื้นที่จังหวัดหลายแห่งที่มีการบริหารจัดการเพื่อบรรเทาวิกฤตภัยแล้งได้อย่างน่าสนใจ ในที่นี้จะขอหยิบยกเอาผลการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมของ จ.นครสวรรค์ มาเล่าสู่กันฟัง ซึ่ง จ.นครสวรรค์ นับเป็นพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ แต่สามารถส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาปลูกพืชใช้น้ำน้อยทดแทนการปลูกข้าวนาปรังได้สำเร็จ และจากการรณรงค์ดังกล่าวสามารถสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรได้ไม่น้อย อีกทั้งยังลดพื้นที่การทำนาปรังในภาพรวมได้กว่า 80%

จ.นครสวรรค์ เป็น 1 ใน 22 จังหวัดลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง และเป็นจังหวัดกลุ่มเป้าหมายทางนโยบายให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ปี 2558/2559 จำนวน 8 มาตรการ ซึ่งต้องพิจารณาดำเนินการให้สอดคล้องกับการปรับพฤติกรรมการปลูกพืชชนิดต่างๆ ในแต่ละพื้นที่ของเกษตรกร และให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

จากนโยบายดังกล่าว จ.นครสวรรค์ จึงได้ระดมสรรพกำลังของทุกภาคส่วนทั้งราชการและเอกชน โดยการดำเนินงานทุกขั้นตอนผ่านกลไกต่างๆ นับตั้งแต่การประชาสัมพันธ์เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจให้กับเกษตรกรได้รับทราบถึงสถานการณ์น้ำในปัจจุบันผ่านสื่อวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ท้องถิ่น เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรระดับตำบล อาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) ตลอดจนการให้คำแนะนำในการสร้างรายได้จากพืชใช้น้ำน้อยทดแทนการปลูกข้าวนาปรัง และสนับสนุนเมล็ดพันธุ์พืช เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเหลือง ถั่วเขียว

ส่วนกรณีที่เกษตรกรได้มีการเพาะปลูกข้าวนาปรังไปแล้วก็มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อให้ความรู้ในวิธีการปลูกพืชแบบใช้น้ำน้อย เช่น การทำนาแบบเปียกสลับแห้ง ผ่านองค์กรเกษตรกรกลุ่มต่างๆ ที่ครอบคลุมทุกอำเภอ อาทิ ศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบล ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน กลุ่มวิสาหกิจชุมชน เป็นต้น

สิ่งที่ดูจะเป็นจุดเด่นของ จ.นครสวรรค์ ในการรับมือวิกฤตภัยแล้งอยู่ที่การบริหารจัดการแบบบูรณาการในการวางแผนจัดสรรน้ำ ซึ่งมีการกำหนดมาตรการควบคุมการบริหารจัดการน้ำ เช่น การเปิดประตูระบายน้ำเพื่อรับน้ำจากลุ่มน้ำเจ้าพระยาเฉพาะการอุปโภคบริโภคเป็นครั้งคราว การห้ามสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าเพื่อการเกษตรสูบน้ำเข้าพื้นที่โดยเด็ดขาด ลดการเพาะเลี้ยงปลาในกระชังให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำในแม่น้ำปิง แม่น้ำน่าน และแม่น้ำเจ้าพระยา การเฝ้าระวังและควบคุมไม่ให้มีการปล่อยน้ำเสียลงแม่น้ำ คู คลอง และแหล่งเก็บน้ำ ตลอดจนขอให้ทุกภาคส่วนประชาสัมพันธ์และรณรงค์ให้มีการใช้น้ำอย่างประหยัด

มาตรการเหล่านี้ต้องอาศัยความร่วมมือในการลงพื้นที่เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจ ให้คำแนะนำและขอความร่วมมือกับเกษตรกรและประชาชน

ตัวชี้วัดความสำเร็จของกระบวนการที่กล่าวมาน่าจะอยู่ที่ผลลัพธ์ของการดำเนินงาน ซึ่งพบว่าภายใต้การ บูรณาการมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการสร้างรายได้จากการปลูกพืชใช้น้ำน้อยทดแทนนาปรัง จำนวน 17,930 ราย ในจำนวนนี้หันไปปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 44,282 ไร่ ถั่วเขียวผิวมัน 52,866 ไร่ ข้าวโพดหวาน 4,518 ไร่ และพืชผักอื่นๆ 4,859 ไร่ ซึ่งจากการคำนวณรายได้เฉลี่ยต่อไร่แล้ว เกษตรกรมีกำไรจากการปลูกพืชดังกล่าวต่อไร่ 4,300 บาท 3,500 บาท 5,000 บาท และ 1.05 หมื่นบาท ตามลำดับ อันเป็นรายได้เพื่อจุนเจือครอบครัวพอให้ผ่านวิกฤตและลดความเสี่ยงจากการทำนาปรังในช่วงฤดูแล้งได้

ที่สำคัญคือการดำเนินมาตรการดังกล่าวสามารถลดพื้นที่นาปรังได้ถึงร้อยละ 84 จากพื้นที่นาปรังประมาณ 5.5 แสนไร่ เหลือเพียงประมาณ 8.7 หมื่นไร่ และแน่นอนว่าสามารถลดปริมาณการใช้น้ำเพื่อการเกษตรในภาวะวิกฤตได้เป็นอย่างมาก

ขณะเดียวกัน ผลผลิตที่ได้จากการปลูกพืชใช้น้ำน้อยก็มีการจัดหาตลาดสินค้ารองรับผ่านการบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนของพาณิชย์จังหวัด เกษตรจังหวัด ตลอดจนองค์กรการเกษตรที่เป็นตลาดแลกเปลี่ยนสินค้าและศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรที่กระจายตัวอยู่ใน จ.นครสวรรค์ อีกนับสิบแห่ง เช่น ศูนย์ข้าวชุมชนบ้านห้วยโรง ต.บึงปลาทู อ.บรรพตพิสัย ที่ปัจจุบันกลายมาเป็นแหล่งศึกษาดูงานของเกษตรกรจากต่างพื้นที่ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ควรคำนึงถึงในระยะกลางและระยะยาวก็คือภาวะผลผลิตล้นตลาด เนื่องจากภาครัฐรณรงค์ให้มีการปลูกพืชใช้น้ำน้อยในช่วงเวลาเดียวกันกับพื้นที่จังหวัดอื่นๆ ความเสี่ยงที่จะตามมาก็คือราคาผลผลิตที่ผันผวนและการครอบงำตลาดจากพ่อค้าคนกลาง การแก้ไขปัญหาจึงควรจะมุ่งเน้นไปที่การส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มเกษตรกรเพื่อวางแผนการผลิตและสร้างอำนาจต่อรองด้านการตลาด

ขณะเดียวกัน ภาครัฐยังสามารถใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ อาทิ ข้อมูลภูมิสารสนเทศ ที่ถูกพัฒนาขึ้นโดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) มาศึกษาวิเคราะห์ และสร้างความรับรู้ ตลอดจนให้คำแนะนำแก่เกษตรกรว่าพื้นที่ใดมีความเหมาะสมกับการปลูกพืชชนิดใด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้ดียิ่งขึ้น

ที่ได้กล่าวมานับเป็นหนึ่งในผลงานที่ประสบความสำเร็จในการเผชิญหน้ากับปัญหาภัยแล้งโดยพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสของเกษตรกรใน จ.นครสวรรค์ ภายใต้ “ยุทธศาสตร์ประชารัฐ” ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่เชื่อมโยงและเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนให้เกิดการพัฒนาอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน